"พันธุกรรม"ทำให้ คนลดน้ำหนักได้ไม่เท่ากัน
ยานน์ ซี. คลีเมนทิดิส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและชีวะสถิติ ของมหาวิทยาลัยแห่งอริโซนา ในเมืองทูซอน รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา พร้อมคณะ เผยแพร่ผลศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มี "เครื่องหมายพันธุกรรม" (เจเนติค มาร์คเกอร์) จำเพาะบางอย่าง จะไม่ได้ประโยชน์จากโปรแกรมออกกำลังกายเพราะยังคงมีน้ำหนักขึ้นและสัดส่วนไขมันในร่างกายไม่ได้ลดลง เมื่อเทียบกับผู้หญิงอีกกลุ่มที่ออกกำลังกายแบบเดียวกันในห้วงเวลาพอๆ กัน แต่น้ำหนักและไขมันลด เพราะไม่มีเจเนติก มาร์กเกอร์ดังกล่าว
ในการทดลองดังกล่าว ทีมวิจัยตรวจสอบดีเอ็นเอจากตัวอย่างที่ได้จากผู้หญิง 84 คน อายุระหว่าง 30-65 ปี โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบไปที่การค้นหายีน ซึ่งงานวิจัยก่อนหน้าที่ชี้ว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับการเกิดโรคอ้วน จากนั้นขอให้ผู้หญิงในกลุ่มทดลองทั้งหมดออกกำลังกายแบบมีความเข้มข้นสูง ต่อด้วยการออกกำลังกายที่สร้างผลกระทบต่อน้ำหนักเพียงเล็กน้อย เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ในอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี
หลังจากนั้นแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม จำแนกตามลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความโน้มเอียงต่อการเป็นโรคอ้วน กับกลุ่มที่ไม่มีลักษณะทางพันธุกรรมดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ผลจากการออกกำลังต่อไป
การวิเคราะห์ได้ผลว่า การออกกำลังมีผลกระทบสูงมากต่อทั้งการทำให้น้ำหนักและไขมันลดลงในกลุ่มที่มีความโน้มเอียงจะเป็นโรคอ้วนน้อย แต่ไม่ได้ผลในอีกกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนสูง
โดยกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 กิโลกรัม สัดส่วนไขมันไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงน้อยมีน้ำหนักลดลงโดยเฉลี่ย 1.3 กิโลกรัม และสัดส่วนไขมันลดลง 2.7 เปอร์เซ็นต์จากไขมันทั้งหมด
คลีเมนทิดิสชี้ว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมโน้มเอียงที่จะเป็นโรคอ้วนนั้นจำเป็นต้องออกกำลังกายหนักกว่าคนทั่วไป เพื่อลดน้ำหนักให้ได้ตามต้องการและต้องดูแลด้านอาหารอีกด้วย