คนเป็นหนึ่งในผลวิจัยนี้เปล่า? สมาธิสั้น"กว่าปลาทอง" เพราะสมาร์ทโฟน
คอลัมน์ ไซเบอร์ทีน
โดย พี่ศรีหนุ่ย
สมาธิสั้น"กว่าปลาทอง" เพราะสมาร์ทโฟน
คราวก่อน เขียนไปเรื่องความเป็นห่วงกังวลของผู้ใหญ่ เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ในหมู่เด็ก มาคราวนี้ มีผลสำรวจอีกชิ้น ว่าด้วยเรื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ "อุปกรณ์เทคโนโลยี" ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันว่าส่งผลกระทบอย่างไร กับ "สมาธิ" ของแต่ละบุคคล
เป็นผลงานวิจัยที่น่าสนใจของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก ที่บางสื่อเอาไปจั่วหัวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "คนเรามีสมาธิสั้นลงกว่าปลาทองเสียอีก"
เป็นเรื่องน่าเจ็บใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า ปลาทอง มีสมาธิที่สั้นมาก คือ มีความสนใจจดจ่อต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9 วินาทีเท่านั้น จนเวลาใครที่ขี้หลงขี้ลืม ก็มักจะถูกแซวว่า "ความจำปลาทอง" กันเลยทีเดียว
มาดูที่ผลการวิจัยล่าสุดของไมโครซอฟท์ดีกว่า ที่พบว่า คนเรามีสมาธิ สนใจจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ได้เพียง 8 วินาที ลดน้อยลงจากเมื่อกว่าสิบปีก่อนที่อยู่ที่ 12 วินาที ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและจากวิถีการใช้ชีวิตบนโลกดิจิตอลที่ยาวนานขึ้น
การวิจัยชิ้นนี้มาจากการเก็บข้อมูลในการสำรวจชาวแคนาดากว่า 2,000 คนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยจะให้กลุ่มคนเหล่านี้เล่นเกมและเชื่อมต่อออนไลน์เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้้นจากการใช้สมาร์ทโฟนและสื่อดิจิตอลอื่นๆทุกๆวันในชีวิตประจำวัน ซึ่งความเคลื่อนไหวของสมองจะถูกบันทึกเอาไว้ และพฤติกรรมในขณะที่ใช้อุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆเพื่อเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันก็จะถูกบันทึกเอาไว้
แล้วก็นำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาวัดระดับ "ความสนใจ" จนพบว่า ระดับความสนใจจดจ่อต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งของคนโดยเฉลี่ย ลดลงจากการทดลองเมื่อปี 2543 ซึ่งอยู่ที่ "12 วินาที" ตอนนี้ เหลือเพียง "8 วินาที" และการลดลงของสมาธินั้นก็พบอยู่ในทุกกลุ่มอายุและในทุกเพศ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้คนสมาธิสั้นลงก็มาจาก "สมาร์ทโฟน" และบรรดาเนื้อหาข้อมูลที่เราบริโภคจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีอย่างล้นหลามในแต่ละวัน
ผลการศึกษาระบุว่า จะเห็นได้ว่า ผู้คนในปัจจุบัน จะต้องหยิบโทรศัพท์มือถือของตัวเองขึ้นมาดูอยู่ตลอดเวลา แล้วก็เช็คดูบรรดาเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลาย อ่านๆๆๆๆ เนื้อหาที่มีอยู่มากมาย เหล่านี้เองที่ทำให้จิตใจเราวอกแวกได้ตลอดเวลา บางทีก็ดูโทรทัศน์อยู่ ก็หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาอ่านเฟซบุ๊ก แล้วก็หันไปทำงานบนโน้ตบุ๊ก แล้วก็หันกลับมาเปิดเกมบนแท็บเล็ตอีก
ก็เลยกลายเป็นที่มาของภาวะ "สมาธิสั้น" กว่าปลาทองของคนยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า ทุกอย่างจะเลวร้ายหมดสำหรับเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามามากมายในชีวิต เพราะผลการศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ยังพบว่า เทคโนโลยีที่อยู่ในชีวิตประจำวันตลอดเวลานั้น ทำให้ความสามารถในการทำงานหลากหลายและความสนใจในระยะสั้นของคนเราดีขึ้น
จะอย่างไรก็ตาม ผลสรุปก็คือ ชีวิตในยุคดิจิตอลโดยรวมนั้น ส่งผลด้านไม่ดีต่อชีวิตในระยะยาว ก็คงต้องสรุปตามธรรมเนียมปฏิบัติว่า เทคโนโลยีก็มีส่วนดีเยอะ แต่ก็ต้องระวังผลที่จะเกิดกับสุขภาพและสมองของเราด้วย
โดยเฉพาะเวลาเดินทางไปไหนมาไหน อย่ามัวแต่ก้มหน้าก้มตา เงยขึ้นมามองฟ้ามองหน้าคนอื่นบ้าง โลกนี้ยังมีสิ่งสวยงามอีกเยอะ เผื่อสมาธิจะดีกว่าปลาทองขึ้นมาบ้าง
(ที่มา:มติชนรายวัน 24 พ.ค.2558)