เปิด-ปิดภาคเรียนสอดคล้องกับ AEC กลุ่มนักศึกษามองอย่างไร

เปิด-ปิดภาคเรียนสอดคล้องกับ AEC กลุ่มนักศึกษามองอย่างไร

เปิด-ปิดภาคเรียนสอดคล้องกับ AEC กลุ่มนักศึกษามองอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มติของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือทปอ. เรื่องการปรับช่วงเปิด-ปิดภาคเรียนในมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับสากลและประชาคมอาเซียน มีผลตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 หลังมตินี้มีผลบังคับใช้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อดีและข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จากหลายฝ่าย

การเปิด-ปิดภาคเรียนรูปแบบใหม่ใช้งานครบ 1 ปี ความคิดเห็นจากนิสิต-นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศใช้การเปิด-ปิดภาคเรียนในรูปแบบใหม่ยังมีความคิดเห็นต่อรูปแบบใหม่ในเชิงลบ

นาย ฌาณัฐ อนันทปัญญฤทธิ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดภาคเรียนรูปแบบใหม่ เพราะขัดกับสภาพภูมิอากาศ แต่การเปิด-ปิดภาคเรียนรูปแบบนี้มีผลดีหากปรับตัวและวางแผนให้สอดคล้องกัน

"การเปิดเทอมแบบใหม่ มันไม่ได้สอดคล้องกับบรรยากาศหรือสภาพอากาศที่เป็นอยู่ของประเทศไทยขนาดนั้น หรือจริงๆแล้ว มันไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้่น แต่ว่ามันหมายถึงทั้งอาเซียนเลยด้วยซ้ำ เพราะว่ารูปแบบการเปิดแบบนี้จริงๆมันเอามาจากรูปแบบของตะวันตก แต่ทีนี้พอเอามาปรับใช้กับบ้านเรา เราดันมาเรียนในช่วงหน้าร้อน แต่ปิดเทอมในช่วงหน้าหนาว หรือว่าปิดเทอมยาวในช่วงหน้าฝน ซึ่งมันทำให้รูปแบบของการเรียนหรือว่าความสอดคล้องในการเรียนมันจึงดูแปลกๆไป"

นายกัมปนาท ไชยรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระบุว่า การเปิด-ปิดภาคเรียนรูปแบบใหม่ส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะการฝึกสอนของนิสิตในโรงเรียน เพราะช่วงเวลาเปิดปิดของมหาวิทยาลัยไม่สอดคล้องกับโรงเรียน

"การเปิดปิดภาคเรียนแบบอาเซียนค่อนข้างมีผลกระทบอย่างมากกับการที่นิสิตจะออกไปฝึกสอนในโรงเรียน เพราะว่าเราเปิดเทอมแบบอาเซียน แต่ว่าโรงเรียนยังเปิดเทอมเหมือนเดิม ทำให้มีการเตรียมตัวเพียงแค่ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะไปเข้าโรงเรียนจริง และมันก็จะเกิดปัญหาตรงแบบว่า นิสิตยังไม่พร้อมที่จะออกไปฝึกประสบการณ์ หรือว่าเอกสาร หรือว่าการดำเนินการส่งตัวเข้าโรงเรียนก็ยังไม่พร้อม ก็จะเป็นปัญหาอย่างมาก"

นายปริวัฒน์ รัตนาศิริภิรมย์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และนายกสโมรสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มองว่า การเปิดปิดภาคเรียนแบบใหม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมที่มีมาแต่เดิม แต่มองว่ายังเป็นโอกาสที่ดี หากมีปรับตัวให้สอดคล้อง จะทำให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆที่สร้างสรรค์ในอนาคต

"พอเรามีการเปิดเทอม-ปิดเทอมแบบใหม่ ทำให้การทำกิจกรรมแผนเดิมค่อนข้างจะเป็นไปได้อย่างยากมาก เพราะเหมือนแบบเราต้องมานั่งหาวันเวลาลงกิจกรรมใหม่ๆ และก็ในเรื่องของสภาพอากาศ เวลาเปิดเทอมมามีกิจกรรมรับน้อง ก็จะจัดอยู่ในช่วงฝนตกหรือหน้าฝน ทำให้เราต้องจัดเตรียมต่างๆอยู่ในร่ม หรือว่าการทำกิจกรรมใหม่ๆ แต่ผมก็มองไว้ว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นโอกาสของทางมหาวิทยาลัยเหมือนกันครับ ว่าเราจะได้มีกิจกรรมใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น ให้ตอบสนองกับหลักสูตรหรืออะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเนี้ยครับ ก็ถือว่ามองว่าเป็นโอกาสอะครับ"

การเปิดปิดภาคเรียนแบบใหม่ในมุมมองของหลายฝ่ายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนน่าจะช่วยพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook