จอห์น แนช อัจฉริยะนักสู้
คอลัมน์ People in Focus :จอห์น แนช อัจฉริยะนักสู้
เล่ากันว่าผู้ที่เคยอยู่ในแวดวงการศึกษาในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษที่ 80-90 อาจเคยเห็นหรือได้ยินเรื่องของชายคนหนึ่งที่มักจะเดินอยู่ในมหาวิทยาลัย มุ่งหน้าไปยังมุมเล็กๆ มุมหนึ่งของห้องสมุด ขีดเขียนสมการบางอย่างที่ไม่มีใครเข้าใจอย่างบ้าคลั่ง
คนที่ไม่รู้จักชายคนนี้ต่างพยายามหลีกห่าง แต่ใครที่รู้จักจะเข้าใจในสิ่งที่ชายผู้นี้เป็น ชายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ทว่าวันเวลาที่ยอดเยี่ยมของเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วยโรคประสาทหลอน โรคที่ทำให้ชายที่เก่งในเรื่องตรรกะที่สุดที่ชื่อว่า จอห์น แนช ต้องต่อสู้กับสิ่งที่ไร้เหตุผลที่สุดอยู่กว่า 20 ปี
แนชลืมตาดูโลกในปี 1928 ชีวิตวัยเรียนของแนชเผชิญกับปัญหาพัฒนาการไม่สมวัยและประสบปัญหาในการเข้าสังคม ทว่าแม่ของแนชพบว่าลูกชายค้นพบแนวทางของตนเองแล้วหลังคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงประถม 4 ของแนชได้ถึงเกรด B
เมื่อจบมัธยมแนชได้รับเลือกให้เข้าเรียนต่อในสถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเคร์เนกีแมลลอน) ในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ในสาขาวิศวกรรมเคมี แต่แนชค้นพบว่าตนมีความสามารถและสนใจในคณิตศาสตร์มากกว่าจึงหันมาเอาดีในสาขานี้และจบปริญญาตรีและโทที่สถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกีแห่งนี้เอง ก่อนที่จะได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
ด้วยจดหมายแนะนำจาก ศาสตราจารย์ริชาร์ด ดัฟฟิน ที่ปรึกษาและศาสตราจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกีขณะนั้นเพียงข้อความสั้นๆ ว่า "ชายคนนี้คืออัจฉริยะ"
แนชรู้จักความสามารถของตนเองดีและทุกๆ วันเขาหมกมุ่นกับสมการจำนวนมากบนกระดานดำจนได้คำจำกัดความจากคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น "เย่อหยิ่ง" "แปลกแยก" "น่ากลัว" "โดดเดี่ยว" รวมไปถึง "แปลกประหลาด"
แนชสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้วยวัยเพียง 22 ปี พร้อมดุษฎีนิพนธ์ที่มีความยาวเพียง 27 หน้า ที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการอย่างเป็นทางการ และต่อมางานชิ้นนี้กลายเป็นผลงานทางวิชาการที่สั้นที่สุดที่ทำให้ผู้วิจัยได้รับรางวัลโนเบล
แนชได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จาก "ทฤษฎีเกม" ในดุษฎีนิพนธ์ซึ่งมีเนื้อหากับสิ่งที่เรียกว่า "ดุลยภาพของแนช" นำไปใช้วิเคราะห์การตัดสินใจในสถานการณ์ที่ต้องมีการแข่งขันกัน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับศาสตร์ต่างๆ มากมาหลายแขนง ทว่ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ถูกส่งถึงมือแนชก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว 44 ปี
หลังจบปริญญาเอก ชีวิตของจอห์น แนช ต้องสูญเสียไปถึง 25 ปี กับโรคจิตเภทหวาดระแวง นักคณิตศาสตร์ที่ได้ชื่อว่ามีเหตุมีผลมากที่สุดต้องเสียเวลาไปกับการถอดรหัสเสียงที่เขาได้ยินในหัว จนทำให้ชีวิตที่กำลังไปได้สวยในครอบครัวที่อบอุ่นต้องล่มสลาย ทว่าด้วยการดูแลเอาใจใส่ของภรรยา อลิเซีย
แนช ทำให้เขาหลุดพ้นจากโรคดังกล่าวได้ และเรื่องราวของแนชก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง อะบิวตี้ฟูลมายด์ ในปี 2001 ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ถึง 4 สาขาด้วยกัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาจอห์น แนช จะได้รับรางวัล "อาเบล" รางวัลอันทรงเกียรติของประเทศนอร์เวย์ที่ได้ชื่อว่าเป็น "รางวัลโนเบลสาขาคณิตศาสตร์" ประจำปี 2015 ไปครอง ก่อนหน้าที่แนช ในวัย 86 และภรรยาวัย 82 จะเสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดย ชาคร ศิริสุวรรณสิทธิ์
maart_26@hotmail.com
จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 15 ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2558