ธนาคารดังรับพนง.ตามมหา′ลัย นักวิชาการชี้ สะท้อนระบบการศึกษาไทยล้มเหลว
ประกาศของธนาคารดังแห่งหนึ่งที่ลงรับสมัครงานทางเว็บไซต์สมัครงานใน "ตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด" ซึ่งชี้แจงคุณสมบัติเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย 14 แห่งทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในวงกว้าง ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ยังเล็งยกเลิกการทำธุรกรรมการเงินทุกชนิดกับทางธนาคารต้นเรื่องอีกด้วย
จากกระแสนี้ ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ว่า แม้ในความเป็นจริงในสังคมไทยจะมีหลักปฏิบัติในการรับพนักงานเช่นนี้อยู่แล้วก็ตาม แต่การกระทำในลักษณะนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่ดี แต่ก็อาจมองอีกมุมได้ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาเกินไปก็ได้
ผศ.สุดแดน กล่าวต่อว่า ในกรณีการรับพนักงานของธนาคารที่ตกเป็นข่าวในครั้งนี้ไม่ได้สะท้อนเพียงการเลือกปฏิบัติต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏเท่านั้น แต่ยังสะท้อนไปถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ กล่าวคือการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มักได้นักศึกษาที่เข้าเรียนเป็นตัวเลือกรองลงมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว มากไปกว่านั้นอาจเป็นปัญหาจากการประกันคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนด้วยซ้ำ
ผศ.สุดแดนยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏมีจุดแข็งในเชิงนโยบายของตัวเองอยู่แล้วเช่น การรับนักศึกษาที่เป็นคนพิการ หรือเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งในส่วนนี้มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงมักไม่ทำกัน เลยอยากให้มองว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏก็มีจุดเด่นและจุดแข็งในตัวเอง
"นอกจากนั้น หากพิจารณาดูให้ดี ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ที่รับพนักงานเข้าทำงานมีกรอบการรับพนักงานที่กว้างกว่าเดิม คือไม่ได้มองแค่ชื่อเสียงของสถาบัน แต่มองไปถึงการเข้ากับผู้อื่นได้ การสู้งาน หรือบุคลิกที่เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย โดยในส่วนนี้มีการพิจารณาในองค์ประกอบที่ต่างกันไป ซึ่งในระยะหลังมา มีหลายหน่วยงานที่คิดเช่นว่า บุคคลที่จบมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็มีปัญหาไม่น้อยในการทำงาน ทั้งความเชื่อมั่นในตัวเอง หยุดงานบ่อย หรือไม่อดทนกับหลายๆเรื่อง ในขณะเดียวกันบุคคลจากมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง บางหน่วยงานก็พบว่า มีความพร้อมที่จะเรียนรู้งานมากกว่า" ผศ.สุดแดน กล่าว