คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Buck

คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Buck

คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Buck
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คำนี้ท่านได้แต่ใดมา
ผู้เขียน สุกิจ กิตติบุญญานนท์ (I Get English Magazine)

Buck

หากใครเคยเดินทางไปยังประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักและใช้เงินเป็นสกุลเงินดอลลาร์แล้ว เวลาซื้อของราคา 10 ดอลลาร์ อาจจะพอคุ้นกับคำว่า "Ten Dollars" หรือไม่ก็ "Ten Bucks" โดยที่คนขายอาจจะใช้คำว่า
"Buck" แทนคำว่า "Dollar" ครับ เพราะ Buckนั้นเป็นคำสแลงของคำว่าดอลลาร์นั่นเอง

แต่ก่อนหน้าที่คำคำนี้จะมาเป็นคำสแลงของคำว่าดอลลาร์นั้นคำว่า "Buck" ก็เคยเป็นคำที่ใช้กันอย่างจริงๆจังๆ และรับบทบาทเป็นตัวแทนของหน่วยเงินบนแผ่นดินอเมริกาครับย้อนไปในช่วงศตวรรษที่ 18 บนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ในทวีปอเมริกา ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่เป็นปึกแผ่นอย่างในปัจจุบัน ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สหรัฐอเมริกายังไม่มีประธานาธิบดียังไม่มีระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจที่ชัดเจน และแน่นอนครับว่ายังไม่มีโรงกษาปณ์ผลิตธนบัตรและเหรียญให้ผู้คนได้ใช้สอย ทำให้ผู้คนบนแผ่นดินต้องทำหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาสื่อกลางอะไรซักอย่างหนึ่งที่สามารถหาได้ง่ายและเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไป

เพื่อใช้เป็นตัวแทนของเงินตราสิ่งที่ว่านั้นก็คือ "หนังกวาง" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Buck" นั่นเองครับ (Buck นอกจากจะเป็นคำสแลงของดอลลาร์แล้ว ยังมีความหมายว่าสัตว์ตัวผู้หรือหนังของสัตว์ และอื่นๆ อีกมากมาย) เชื่อกันว่าในยุคดังกล่าว วิสกี้บรรจุในถังไม้ 1 ลัง จะมีค่าเท่ากับ 5 Bucks หรือเท่ากับหนังกวางจำนวน 5 ชิ้นที่มีขนาดและคุณภาพตามที่คนทั่วไปในยุคนั้นยอมรับกัน ดังนั้นหากอยากจะซื้อจะขายอะไรในยุคนั้น ผู้คนก็ต้องพกหนังกวางติดตัวเอาไว้ด้วยเหมือนกับที่ทุกวันนี้เราถือธนบัตรและเหรียญติดตัวไปไหนมาไหนครับแต่ Buck ที่ว่าก็ไม่ได้จำกัดแค่หนังที่มาจากกวางเท่านั้น หนังของสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้เช่นกันแต่อาจจะมีคุณภาพไม่เท่ากับหนังกวาง

ดังนั้นหากจะใช้หนังสัตว์ชนิดอื่น อาจจะต้องใช้จำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยคุณภาพที่ด้อยลงและเพื่อให้มีมูลค่าเทียบเท่ากับหนังกวาง เพราะแม้แต่หนังกวางเองในแต่ละฤดูก็ยังมีคุณภาพที่แตกต่างกัน โดยเชื่อว่าหนังกวางที่หาได้ในช่วงฤดูหนาวจะมีความหนามากกว่าและมีคุณภาพสูงกว่าหนังกวางที่หาได้ในฤดูร้อนจนกระทั่งถึงยุคที่ชาวยุโรปได้เดินทางอพยพมายังแผ่นดินอเมริกา พร้อมกับนำระบบการจัดการทั้งในเรื่องของการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจเข้ามาฟูมฟักบนแผ่นดินอเมริกา และแน่นอนครับว่าหลังจากนั้นมา ก็มีการตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นโดยกำหนดเงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนให้กับชาวอเมริกันนั่นเอง

ทำให้คำว่า "Buck"ถูกลดบรรดาศักดิ์ลงจากคำที่เคยใช้อย่างเป็นทางการ มาเป็นเพียงคำสแลง แต่ถึงจะเป็นคำสแลงไปแล้ว คำคำนี้ก็ยังติดปากผู้คนในประเทศที่ใช้เงินดอลลาร์ในชีวิตประจำวัน ทั้งในสหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย แคนาดา และอีกหลายประเทศครับในอดีตเมืองไทยเรา ก็เคยใช้เปลือกหอยเป็นตัวแทนของเงินเช่นกัน แม้เราจะไม่ได้เอาคำว่า"เปลือกหอย" มาเป็นคำสแลงแทนคำว่า "บาท"แต่เราก็ยังมีคำสุภาษิตที่ว่า "เบี้ยน้อยหอยน้อย" ซึ่งแปลว่า "มีเงินไม่มาก" มาใช้กันอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราเองก็ไม่อยากจะใช้คำสุภาษิตนี้กับตัวเราเลยจริงไหมครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook