เช็ก "น้ำตาล" ในขวด ก่อนยกซด

เช็ก "น้ำตาล" ในขวด ก่อนยกซด

เช็ก "น้ำตาล" ในขวด ก่อนยกซด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภูมิ ชื่นบุญ : เรื่อง

สภาพอากาศของประเทศไทยตามปกติจัดได้ว่า "ร้อนมาก" เกือบตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเจอเข้ากับสถานการณ์ฝนฟ้าดื้อไม่ยอมตกตอนนี้ ก็ยิ่งกระตุ้นระดับความร้อนดีดตัวสูงอีกเป็นเท่าทวี

เมื่ออากาศเริ่มร้อนและแดดส่องแสงแรงขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตบนภาคพื้นดิน โดยเฉพาะ "มนุษย์" ก็จะเกิดสภาวะ "กระหายน้ำ" มาก ตามระดับความร้อนหรือแดดที่กำลังเผชิญอยู่ รวมไปถึงความหนักเบาของการทำกิจกรรมเสียเหงื่อช่วงนั้นอีกด้วย

หากไม่ได้น้ำเข้ามาดับกระหายตามความต้องการอย่างทันท่วงที อาจทำให้ร่างกายเกิดสภาวะขาดน้ำและมีโอกาสพบกับอาการ "ฮีตสโตรก" ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ทั้งคู่ ในทางตรงข้ามถ้าเลือกดื่มน้ำไม่ถูกประเภทตามความต้องการที่เหมาะสม ก็มีสิทธิ์สร้าง "โรคชนิดไม่ติดต่อ"ให้ร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้เช่นกัน

แม้คนแทบทั้งโลกจะทราบดีอยู่แล้วว่า "ดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด" แต่ด้วยความไร้รสชาติและไม่โดนใจนั่นเอง ได้ทำให้พวกเขาหันไปหา "ซอฟต์ดริงก์" ตามร้านสะดวกซื้อหรือตู้ขายอัตโนมัติ ที่มีรสชาติอร่อยกว่าน้ำเปล่าหลายเท่าตัว มาดื่มดับกระหายผ่อนคลายความร้อนแทน

ทว่าเบื้องหลังความอร่อยของบรรดาซอฟต์ดริงก์ทั้งหลายทั้งปวงกลับซุกซ่อนปริมาณ "น้ำตาล" เอาไว้ในระดับที่มากชนิดเกือบเกินความต้องการต่อวัน จนมีความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อจากความหวานเกิดขึ้น เพราะองค์การอนามัยโลกได้กำหนดระดับความเหมาะสมเอาไว้ที่ 200 กิโลแคลอรีต่อวัน (10 เปอร์เซ็นต์จากความต้องการพลังงานทั้งหมด 2,000 กิโลแคลอรี)

"ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วันทนีย์ เกรียงสินยศ" หัวหน้าฝ่ายมนุษยโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถ้ามองจากปริมาณน้ำตาลและพลังงานข้างขวดเครื่องดื่มแล้ว อาจจะรู้สึกไม่ได้มากมายอะไรสักเท่าไรนัก แต่ต้องไม่ลืมว่าใน 1 วันเราไม่ได้รับน้ำตาลจากเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว เพราะในอาหารคาวหวานที่ทานเข้าไปแต่ละมื้อก็มีน้ำตาลผสมปนเปอยู่

"ในทางวิชาการเราแบ่งน้ำตาลเอาไว้2 ส่วน คือ น้ำตาลที่มองไม่เห็นหรือเราไม่รู้ว่ามีน้ำตาลผสมอยู่ กับน้ำตาลที่อนุญาตให้เติมระหว่างวันได้ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม (96 กิโลแคลอรี) สำหรับคนทั่วไป เพราะ 1 ช้อนชาจะเท่ากับน้ำตาล 4 กรัม (น้ำตาล 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี) แต่ถ้าเป็นคนที่ต้องออกกำลังเยอะอาจต้องการ 2,400 กิโลแคลอรี ก็เพิ่มได้เป็น 8 ช้อนชา (128 กิโลแคลอรี) ขณะที่ผู้หญิงหรือเด็กก็จำเป็นต้องได้น้ำตาลในปริมาณที่น้อยลง อาจไม่ต้องถึง 2,000 กิโลแคลอรีก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการเผาผลาญของร่างกายที่แตกต่างกันด้วย"

ตัวอย่างซอฟต์ดริงก์ยอดนิยมเช่น "น้ำอัดลม" ขนาด 350 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 35 กรัม (140 กิโลแคลอรี), "ชาเขียว (ต้นตำรับ)" ขนาด 500 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 30 กรัม (120 กิโลแคลอรี), "เครื่องดื่มให้พลังงาน" ขนาด 325 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 32.5 กรัม (130 กิโลแคลอรี่) และ "น้ำผลไม้" ขนาด 240 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาล 22.5 กรัม (90 กิโลแคลอรี)

ส่วนเครื่องดื่มประเภท "นม" ก็มีน้ำตาลผสมอยู่ไม่น้อย โดยนมพาสเจอไรซ์รสจืดขนาด 250 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 10 กรัม (40 กิโลแคลอรี), นมปรุงแต่งรสต่าง ๆ ขนาด 250 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 20 กรัม (80 กิโลแคลอรี) และนมเปรี้ยวขนาด 120 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 15 กรัม (60 กิโลแคลอรี)

นอกจากเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์กับนมแล้ว ระยะหลังยังมีกลุ่มเครื่องดื่มประเภท "บิวตี้ดริงก์" เสริมสุขภาพผิวพรรณความงาน กลายมาเป็นเทรนด์ฮิตในสังคมหนุ่มหล่อสาวสวย ซึ่งแน่นอนว่าก็มีน้ำตาลใส่ลงไปเพิ่มรสชาติให้อร่อยขึ้น เฉลี่ยปริมาณน้ำตาล 14 กรัมต่อ 365 มิลลิลิตร (56 กิโลแคลอรี)

เรื่องดื่มแล้วสวยหล่อนั้น อาจารย์วันทนีย์กล่าวว่า การจะมีผิวสวยเปล่งปลั่งได้นั้นมันมีอยู่หลายปัจจัย ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย และพักผ่อนเพียงพอ ทุกอย่างต้องสมดุล ส่วนสารอาหารต่าง ๆ ที่ใส่ลงไปในเครื่องดื่มบิวตี้ดริงก์เป็นเรื่องรองลงมา

อาจารย์วันทนีย์เพิ่มเติมว่า หากเปรียบเทียบการดื่มน้ำเปล่ากับเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์แล้ว จะเห็นว่าเครื่องดื่มประเภทหลังให้ความสดชื่นรวดเร็วกว่า เพราะได้รับน้ำตาลหรือพลังงานเข้าไปตรง ๆ เลย เพียงแต่คนส่วนใหญ่มักจะกินในปริมาณที่มากราว 350 มิลลิลิตร ได้พลังงานถึง 140 กิโลแคลอรีในคราวเดียว ซึ่งแบบนี้เป็นปริมาณที่เยอะไปสำหรับลักษณะชีวิตของคนเมืองยุคปัจจุบัน

"ความจริงก็ไม่ถึงกับต้องเลิกดื่มไปเลยนะเพียงแต่ขอให้ดื่มในปริมาณพอเหมาะ ไม่จำเป็นต้องดื่มทีเดียว 500 มิลลิลิตร เอาแค่วันละ 1 แก้ว ประมาณ 100-250 มิลลิลิตรก็พอ อีกอย่างถ้าเราไม่ได้เป็นนักวิ่งมาราธอน หรือนักกีฬาที่ฝึกหนักจริง ๆ แค่ตีแบดหรือเล่นบอล 1 ชั่วโมง ก็ไม่จำเป็นต้องดื่มพวกเครื่องดื่มเกลือแร่ก็ได้ ทานแค่น้ำเปล่าสะอาดก็พอแล้ว จากนั้นก็ทานอาหารให้ครบตามมื้อตามความเหมาะสม แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว"

นักโภชนาการจากมหิดลเสริมว่า หากต้องการให้สุขภาพของตัวเองแข็งแรงไม่มีโรคภัย จำเป็นต้องตระหนักเรื่องอาหารการกินเป็นสำคัญ ไม่ใช่สักแต่ว่าทานลูกเดียว เพราะปัญหาไม่ได้เกิดภายในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่มันจะสะสมเป็นเวลานานจากความไม่ถูกต้องและไม่สมดุล จนปะทุออกมาในอีก 3-6 เดือนให้หลัง เช่น รู้สึกว่ากระโปรงหรือกางเกงที่ใส่เริ่มคับ หรือเกิดโรคเบาหวาน, น้ำตาลในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

"แต่ก็ไม่ควรจะเครียดกับอาหารการกินมากจนเกินไปนัก ไม่จำเป็นต้องถึงกับมานั่งคำนวณแคลอรีก่อนก็ได้ เพราะน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าความเครียดมันส่งผลร้ายต่อร่างกายหลายอย่าง ดังนั้นขอให้เอ็นจอยกับการทานและใช้ชีวิต แค่รู้จักตระหนักไว้บ้างก็พอ" อาจารย์วันทนีย์ให้ข้อคิดปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook