ม.มหิดลวิจัยนม ชี้โภชนาการสูงเหมาะกับนักกีฬา
รศ.ดร.กัลยา กิจบุญชู หัวหน้าฝ่ายสรีรโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ในวารสารวิชาการชั้นนำ Journal of the International Society of Sport Nutrition ซึ่งได้ผลสรุปที่อาจกล่าวได้ว่า ′นม′ เป็นสปอร์ตดริ้งค์ยุคใหม่ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีโภชนาการสูงสำหรับนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกาย โดยส่วนประกอบในนม 1 กล่อง มีไขมันนมที่เป็นตัวให้พลังงาน มีน้ำตาลแล็กโทสในนมตามธรรมชาติซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมมาใช้เป็นพลังงานได้เร็ว มีโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซม เสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อซึ่งถูกใช้งานอย่างหนักในระหว่างเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย และยังช่วยให้ร่างกายมีความอึดและทนได้ในระยะเวลาการเล่นหรือออกกำลังกายที่นานขึ้น
แนวคิดตั้งต้นที่ทำให้อาจารย์กัลยา และคณะ ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการให้นักกีฬาดื่มนมหลังการเล่นกีฬา ส่วนหนึ่งมาจากผลวิจัยโครงการ SEANUTS ซึ่งสนับสนุนทุนวิจัยโดยบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ที่สำรวจภาวะโภชนาการของเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างปี พ.ศ.2554-2555 ซึ่งชี้ชัดว่าเด็กไทยกำลังตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ และแนวทางที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้คือ การ กระตุ้นให้เด็กได้ดื่มนมทุกวันๆ ละ 1-2 แก้ว พร้อมการออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำ
"เราทราบว่านมมีคุณค่าทางโภชนาการ และการรับรู้ของสังคมไทยจะคิดว่านมเป็นเครื่องดื่มสำหรับเด็กเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วคนทุกเพศทุกวัยดื่มนมได้ และนมยังเหมาะสำหรับนักกีฬา เราจึงตั้งสมมุติฐานว่าถ้าลองใช้นมมาแทนเครื่องดื่มเกลือแร่ที่นักกีฬานิยมดื่มขณะเล่นกีฬาหรือหลังการออกกำลังกาย ผลที่ออกมาจะบ่งชี้นัยยะสำคัญอะไรได้บ้าง จึงได้เริ่มต้นทำงานวิจัยชิ้นนี้" รศ.ดร.กัลยากล่าว
งานวิจัยดังกล่าวใช้การทดสอบเครื่องดื่ม 3 ประเภทระหว่าง น้ำเปล่า เครื่องดื่มเกลือแร่ และนม กับนักกีฬาที่มีสุขภาพสมบูรณ์โดยให้ออกกำลังจนหมดแรง จากนั้นนักกีฬาได้รับเครื่องดื่ม 1 ใน 3 ชนิดที่ใช้ในการทดสอบ ดื่มในช่วงการหยุดพักเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนเริ่มออกกำลังกายอีกครั้ง เพื่อดูความทนทานของร่างกายในการออกกำลังกาย พบว่าเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มอีกสองประเภท การดื่มนมหลังการออกกำลังกายทำให้นักกีฬามีอัตราการฟื้นตัวได้เร็วกว่าและนักกีฬามีความอึดทนในการใช้แรงออกกำลังกายต่อไปได้นานกว่าถึงร้อยละ 60
จะเห็นได้ว่านมเป็นทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าโภชนาการสูงเหมาะกับนักกีฬา ถ้าหากวงการกีฬาของไทยกำลังสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาเป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพความสามารถของผู้เล่นแล้ว โภชนาการกับการกีฬาย่อมมีความสำคัญไม่แตกต่างกัน และนมควรเป็นเครื่องดื่มสปอร์ตดริ้งค์ยุคใหม่ที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาได้มากขึ้นนับจากนี้