หนังสือนิทานเด็กผู้หญิงยุคใหม่...บ๊ายบายเจ้าหญิงสีชมพู

หนังสือนิทานเด็กผู้หญิงยุคใหม่...บ๊ายบายเจ้าหญิงสีชมพู

หนังสือนิทานเด็กผู้หญิงยุคใหม่...บ๊ายบายเจ้าหญิงสีชมพู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย ดอกฝน จาก นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 2 ส.ค.2558

เวลาพูดถึงหนังสือนิทานโดยเฉพาะในโลกตะวันตก เรื่องราวของเจ้าหญิงผู้อ่อนหวาน บอบบาง แสนงดงาม และเจ้าชายผู้หล่อเหลาที่แสนจะห้าวหาญและเข้มเข็ง มักปรากฏขึ้นในห้วงคิดอยู่เสมอ เป็นสเตอริโอไทป์ของความเป็นผู้หญิง-ผู้ชายที่ถูกปลูกฝังอยู่ในกระแสสำนึกมานานแสนนาน

ผ่านสื่อสำคัญในวัยเด็กอย่าง "นิทาน" ที่มีอิทธิพลไม่น้อยต่อการสร้างตัวตนในอนาคตของสาวน้อย-หนุ่มน้อย เพราะเด็กๆ มักจะเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองและคนอื่น และเรียนรู้โลกจากสิ่งที่พวกเขาได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังตั้งแต่เด็ก ดังนั้นการเสพเรื่องราวในนิทานภาพแบบใดซ้ำๆ บ่อยๆ ก็สามารถส่งผลต่อวิธีคิดและพฤติกรรมของเด็กได้ ซึ่งลักษณะของเจ้าหญิง-เจ้าชายดังกล่าวยังคงอยู่ในนิทานภาพสวยๆ ทุกยุคสมัย ไม่ว่าโลกจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนก็ตามที

แต่ไม่ใช่ในวันนี้อีกแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงกำลังเดินทางมาถึงประตูห้องนอนของเด็กๆ เทรนด์นิยมหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กในอเมริกาและยุโรปขณะนี้ คือการสร้างตัวละครเด็กผู้หญิงให้เป็นตัวละครเอก ที่เข้มแข็งและฉลาดเฉลียวมากพอที่จะดูแลตัวเองและปกป้องคนอื่นได้

"Princess Daisy and the Dragon and the Nincompoop Knights" โดยนักเขียนและนักวาดภาพประกอบชื่อดัง "Steven Lenton" เป็นนิทานภาพที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ปกครองและเด็กๆ แถมยังได้ 5 ดาวจากการรีวิวในเว็บไซต์ต่างๆ ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหญิงเดซี่ ที่อาณาจักรของเธอกำลังตกอยู่ในอันตรายจากมังกรยักษ์ เธอเข้มแข็ง กล้าหาญ และต่อสู้ด้วยสติปัญญาโดยก้าวผ่านความรุนแรงจากดาบแหลมคมที่พร้อมทิ่มแทง ศัตรูตามขนบเดิมๆ ของนิทานไป เพราะเธอสู้กับมังกรด้วยความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือ อย่างไม่เกรงกลัว และมีสติ

เจ้าหญิงเดซี่เป็นหนึ่งในความพยายามของนักเขียนนิทานภาพ รุ่นใหม่ๆ ที่หวังจะร่วมปลูกฝังวิธีคิดของเด็กผู้หญิงให้เคารพตัวเอง และเห็นคุณค่าของสติปัญญาตัวเองมากกว่าการหวังพึ่งพิงผู้อื่นอย่างเจ้าชาย

และ เด็กผู้หญิงทุกคนสามารถที่จะเป็นเหมือนเจ้าหญิงเดซี่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอเจ้าชายขี่ม้าขาวมาสร้างสถานะทางสังคมให้เหมือนเจ้าหญิงสวยหวานสี ชมพูใสกิ๊งแบบเก่าๆ

Steven Lenton เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการเขียนนิทานเรื่องนี้ขึ้นมาว่า เป็นเพราะเขาเบื่อหน่ายวิธีการสร้างภาพของผู้หญิงในนิทานที่เขาเคยฟัง ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเขามั่นใจมากว่าในยุคสมัยนี้ ผู้หญิงบอบบางที่รอการพึ่งพิงผู้ชายแบบเจ้าหญิงเหล่านั้นหาได้ยากมาก ผู้หญิงที่เขาเคยเจอในชีวิต ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีความสามารถ มีความเป็นตัวของตัวเอง และความกล้าหาญแทบทั้งนั้น

"จริงอยู่ที่ เด็กๆ ไม่ได้โตมาด้วยนิทานอย่างเดียว สิ่งที่หล่อหลอมพวกเขามีอยู่มากมาย แต่ผมก็ยังเชื่อในอิทธิพลของนิทานที่ซึมซับตั้งแต่เด็กๆอยู่ดี แล้วนิทานยอดฮิตที่เราฟังเราอ่านกันมาตั้งแต่เด็กๆ ส่วนใหญ่เขียนขึ้นด้วยมุมมองของผู้ชาย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะวางตัวละครผู้หญิงไว้บอบบางและอ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อเรามองย้อนกลับไปในยุคนั้น แต่ถ้าตัดความคิดกลับมายังยุคปัจจุบัน ลองคิดภาพแม่ๆ เล่าเรื่องของซินเดอเรลล่า เจ้าหญิงนิทรา หรือสโนไวท์ให้ลูกๆ ของเธอฟังดูซิครับ คงอิหลักอิเหลื่อใจอยู่ไม่น้อย"

นอกจาก Princess Daisy and the Dragon and the Nincompoop Knights แล้วนั้น นิทานเรื่อง "The Worst Princess" โดย "Anna Kemp and Sara Ogilvie", "The Princess and the Pony" โดย "Kate Beaton" และ "The Fairytale Hairdresser and the Little Mermaid" โดย "Abie Longstaff and Lauren Beard" ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

The Worst Princess ว่าด้วยเรื่องของเจ้าหญิงซู ที่ตั้งใจจะค้นหาเจ้าชายในฝันด้วยตัวเอง อย่างไม่ยอมเป็นตัวเลือกให้เจ้าชายที่ไหน แต่เมื่อพบแต่เจ้าชายที่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมๆเป็นหลัก เจ้าหญิงซูก็มีจุดมุ่งหมายใหม่ คือการเป็นเจ้าหญิงที่ได้รับการยอมรับจากทุกคนด้วยตัวเธอเอง โดยมีผู้ช่วยเป็นมังกรสีส้มที่น่ารักมาก

The Princess and the Pony เรื่องนี้เป็นผลงานของนักเขียนนิทานภาพอันดับ 1 ของNew York Times bestseller เมื่อเจ้าหญิงตั้งใจไว้ว่าวันเกิดปีนี้ของเธอ เธอจะต้องได้ม้าศึกที่ตัวใหญ่และแข็งแรง แต่เมื่อวันเกิดมาถึง สิ่งที่หวังกลับไม่เกิดขึ้น เจ้าหญิงจึงต้องตามหาม้าด้วยตัวเอง การผจญภัยจึงเกิดขึ้น

"ตอกย้ำว่าหมดเวลาของเจ้าหญิงสีชมพูแล้ว"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook