ส่องการอ่านในจีน...ก้าวสำคัญของการสร้างมังกร
โดย ดอกฝน
ช่วงนี้เวลาพูดถึงประเทศจีน คนจีน หลายข่าวที่ออกมาสู่สาธารณะมักทำให้นึกถึงในแง่ลบอยู่บ่อยๆ
แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ยังมีแง่มุมดีๆ อีกมากมายในสังคมจีนที่ไม่ได้เป็นข่าว โดยเฉพาะเรื่องดีๆ อย่างการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในประเทศจีนที่มีหลายแง่มุมน่าสนใจ และไม่ได้ทำแบบไฟไหม้ฟาง รณรงค์ไปวันๆ ผ่านอีเวนต์ผลาญงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชนอย่างที่เคยเห็นกันในประเทศสารขันฑ์บางประเทศ
ผลการสำรวจการอ่านของประชาชนทั่วประเทศครั้งที่ 11 พบว่าชาวจีนอ่านหนังสือราวปีละ 7 เล่ม หรือ 50 นาทีต่อวัน ที่อ่านนี่คืออ่านหนังสือที่ทั้งเป็นเล่มและเป็นอีบุ๊กจริงๆ ไม่ใช่อ่านไลน์ ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก
เมื่อแยกลักษณะการอ่านจะเห็นได้ชัดว่าปริมาณการอ่านหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์คือ 4.77 เล่มต่อปี และอัตราการอ่านหนังสือผ่านสื่อดิจิตอลคือ 2.48 เล่มต่อปี
ชาวจีนกว่า 75 เมืองอ่านหนังสือมากถึง 8.8 พันล้านเล่ม โดยหนอนหนังสือ 1 ใน 3 นิยมอ่านในรูปแบบของอีบุ๊ก ที่เหลือจะเข้าร้านหนังสือเพื่อซื้อมาอ่าน โดยมูลค่าตลาดหนังสือในจีนในปีที่แล้วมีมูลค่ากว่า 48,000 ล้านหยวน หรือราว 336,000 ล้านบาทต่อปี
ความพยายามปลูกฝังการอ่านให้เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ในจีนค่อนข้างมีอนาคตที่สดใส ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการอ่านเป็นวัฒนธรรมของจีนอยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่ครั้งหนึ่งจีนเคยเป็นประเทศที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก จากข้อจำกัดต่างๆ ของรัฐบาลที่ส่งผลต่อนักเขียน
จีนมีสถิติการอ่านสูงมาตั้งแต่สมัยโบราณ การอ่านของจีนคือวัฒนธรรมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตทั้งหมด ไม่ใช่แค่การจ้องตัวอักษรเพื่อที่จะอ่านเฉยๆ เท่านั้น และไม่เกี่ยวกับการค้นพบเทคโนโลยีการพิมพ์ในโลกตะวันตกด้วย เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นราวๆ พันปี จีนก็มีหนังสือแล้ว ด้วยการสลักตัวหนังสือลงบนแผ่นไม้แล้วทาทับด้วยหมึก ก่อนนำไปอัดบล็อกบนกระดาษ จนได้เนื้อหาออกมาเป็นหน้าๆ แล้วเอามารวมกันเป็นเล่ม
สาเหตุของวัฒนธรรมที่ผูกพันเป็นชีวิตนั้น เกิดเพราะระบอบการปกครองของจีนที่ยกย่องคนมีความรู้อย่างยิ่ง ทุกอย่างจะอยู่บนรากฐานของตัวหนังสือ การจะได้รับการยอมรับจากสังคมนั้นจะอาศัยความรู้จากหนังสือทั้งสิ้น ไม่ว่าจะรับราชการหรือเป็นพ่อค้าก็ตาม ประเพณีของการสอบเพื่อเป็นข้าราชการหรือจอหงวน เป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมการศึกษาในหมู่ประชาชน
มาถึงศตวรรษที่ 21 สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็นหายนะถ้าแก้ไขไม่ได้ คือการที่คนรุ่นใหม่ไม่รักที่จะเรียนรู้ผ่านการอ่าน เพราะอัตราการอ่านยังน้อยกว่าอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา
รัฐบาลจีนจึงสร้างแรงจูงใจทางการอ่านด้วยวิธีต่างๆ อาทิ คูปองอ่านหนังสือฟรี ส่วนลดราคาหนังสือ และการซื้อลิขสิทธ์งานวรรณกรรมระดับโลกมาแปลเอง เพื่อแจกจ่ายไปศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดต่างๆ โดยไม่พึ่งพา สนพ.เอกชน
นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังให้งบสนับสนุนการขายลิขสิทธิ์หนังสือจีนไปยังต่างประเทศ โดยเน้นงานด้านวรรณกรรมเป็นหลัก และให้ทุนทั้งค่าแปล ค่าลิขสิทธิ์ รวมถึงค่าพิมพ์กับสำนักพิมพ์ในต่างประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์งานเขียนของนักเขียนจีนด้วย โดยพิจารณากันเป็นเล่มๆ ตามความเหมาะสม เพราะเชื่อมั่นว่างานวรรณกรรมจะทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าใจจีนได้
รัฐบาลมีการออกกฎหมายส่งเสริมกิจกรรมการอ่านของเด็กๆ เพื่อให้ส่วนกลางและท้องถิ่นร่วมกันจัดทำแผนส่งเสริมการอ่านอย่างครอบคลุม และสามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน เมื่อเป็นวาระแห่งชาติภายใต้การปกครองแบบรัฐบาลจีน ทุกหน่วยงานจึงต้องทำโครงการเกี่ยวกับการอ่านอย่างจริงจัง
ในขณะเดียวกันอีบุ๊กก็เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากเว็บไซต์ทั้ง "360buy.com, Dangdang," และ "Amazon" ซึ่งนำตลาดอีบุ๊กที่เป็นหนทางไปสู่การเปิดประตูสู่การผลิตสื่อออนไลน์
อย่างไรก็ตามหนังสือที่จีนถือว่าราคาถูกมากเพราะต้นทุนการพิมพ์ราคาต่ำ หนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพธรรมดา ราคาเล่มหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 50-150 บาทด้วยซ้ำ
ส่วนของร้านหนังสือในจีนตอนนี้ที่กำลงมาแรงคือร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง และร้านหนังสือมือสอง นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เคยส่งจดหมายถึงร้านหนังสือซันเหลียน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยหนุ่มสาว เพื่อชื่นชมการเปิดห้องอ่านหนังสือกลางคืนว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์มาก และหวังว่าร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงนี้ จะเป็นหลักหมายทางจิตวิญญาณของเมือง เพราะการอ่านจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้น
ล่าสุดมีร้านหนังสือมือสองชื่อ "Honesty bookshop" เปิดที่เมืองหนานจิง ประเทศจีน โดยมีหนังสือมือสองกว่า 1,500 เล่มให้เลือกซื้อ แล้วจ่ายเงินตามราคาหนังสือในกล่องใส่เงินที่วางไว้ วันแรกที่เปิดก็ขายได้กว่า 300 เล่ม และจำนวนเงินที่ลูกค้าใส่ในกล่องก็พอดีกับที่ขายไป
"เป็นการร่วมสร้างวัฒนธรรมในทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง "มังกร" รุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น"