กระทรวงวิทย์ฯ จัดงาน Talent Mobility Fair ภาคเหนือ 2015 จับคู่ภาคเอกชนร่วมมือนักวิจัยภาครัฐ

กระทรวงวิทย์ฯ จัดงาน Talent Mobility Fair ภาคเหนือ 2015 จับคู่ภาคเอกชนร่วมมือนักวิจัยภาครัฐ

กระทรวงวิทย์ฯ จัดงาน Talent Mobility Fair ภาคเหนือ 2015 จับคู่ภาคเอกชนร่วมมือนักวิจัยภาครัฐ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในโอกาสที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐและสถานประกอบการเกี่ยวกับนโยบาย Talent Mobility ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับนโยบาย Talent Mobility และกลไกการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน ตลอดจนแสดงศักยภาพด้านผลงานการวิจัยและพัฒนาของบุคลากรด้าน วทน. ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่ร่วมโครงการ รวมถึงการจัดกิจกรรมจับคู่ความร่วมมือและสร้างเครือข่ายวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง จึงกำหนดจัดงาน "Talent Mobility Fair ภาคเหนือ 2015" ในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2558 เวลา 08.30-17.00 น. ณ ห้องแกรนด์ล้านนา บอลรูม โรงแรมแชงกรีล่า เชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "Talent Mobility ก้าวสำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชนและแผนปฏิรูปการพัฒนาด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ" พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมเสวนาในหัวข้อดังกล่าวเพิ่มความหลากหลายทางความคิด


อนึ่ง เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มรูปแบบ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีมติอนุมัติข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าด้วยการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน พ.ศ. 2557 โดยกรอบระยะเวลาที่สนับสนุนให้พนักงานในมหาวิทยาลัยไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนได้คราวละไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปีและต่อสัญญาได้ไม่เกิน 3 ครั้ง โดยมี ศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility ภาคเหนือ หรือ TM Northern Clearing House ที่จัดตั้งขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทำหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินโครงการ Talent Mobility ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อช่วยผลักดันและส่งเสริมการทำงานแก่ศูนย์อำนวยความสะดวกของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ Talent mobility ซึ่งมีอยู่ 2 แห่ง คือ 1). อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และ 2). ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (KIC)

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานของ TM Northern Clearing House เริ่มจากสถานประกอบการ แจ้งความต้องการบุคลากรทางด้าน วทน. มาที่ TM Northern Clearing House โดยมีโจทย์หรือปัญหาการทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจน จากนั้นทางศูนย์ฯ จะติดต่อไปยังบุคลากรและต้นสังกัดจากฐานข้อมูล Talent Mobility โดยคัดเลือกบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ เมื่อบุคลากรตอบรับและต้นสังกัดอนุมัติการไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการเรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์ฯ จะติดต่อกลับไปยังสถานประกอบการ เพื่อประสานงานทำสัญญาและตกลงรายละเอียดทั้งหมดของโครงการโดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯ จะมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ ทั้งประโยชน์ต่ออาจารย์หรือนักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการ ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและมีการทำงานวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น


ทั้งนี้การดำเนินโครงการ Talent Mobility ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 7 โครงการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่มุ่งสนับสนุนการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการทำวิจัยและยกระดับความสามารถในด้านการผลิตและบริการ ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
ติดต่อสอบถามและขอรับการบริการของศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility ภาคเหนือ หรือ TM Northern Clearing House ทั้ง 2 แห่ง คือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (e-mail: info@step.cmu.ac.th) และ ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (e-mail: tm.north@workgroup.in.th)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook