ปฏิรูปการศึกษาสิงคโปร์

ปฏิรูปการศึกษาสิงคโปร์

ปฏิรูปการศึกษาสิงคโปร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ Education Ideas โดย ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปิโก (ไทยแลนด์)

ราวต้นเดือนพฤษภาคม ผมมีโอกาสอ่านข่าวการศึกษาของ BBC เกี่ยวกับการจัดอันดับความเก่งของโรงเรียนทั่วโลก โดยคลังสมองขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (OECD Think Tank)

"อันเดรียส ชไลเซอร์" ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของ OECD กล่าวว่า การจัดอันดับครั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาระดับโลกที่ทำให้ประเทศไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน สามารถเปรียบเทียบตนเองกับประเทศชั้นนำทางการศึกษา เพื่อจะได้เข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตน

ผลการจัดอันดับจากข้อมูลคะแนนทดสอบในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนอายุ 15 ปีจาก 76 ประเทศทั่วโลก พบว่ากลุ่มประเทศในเอเชียครอง 5 อันดับแรก โดยมีสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 1 และเป็นที่น่าสนใจว่าเวียดนามครองอันดับที่ 12 ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 47

ทั้งนี้หากไปสังเกตในห้องเรียนของประเทศเอเชียที่ประสบความสำเร็จ พบว่าครูจะคาดหวังว่าลูกศิษย์ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ ครูจึงทุ่มเทและให้ความสำคัญกับลูกศิษย์ ประเทศเหล่านี้ดึงดูดคนที่มีศักยภาพสูงมาเป็นครู สร้างห้องเรียนที่ท้าทาย เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงครูที่เก่งได้

การศึกษาจัดเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจำเป็นต้องลงทุนสูง และลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ คำถามสำคัญคือรัฐมีหลักในการบริหารคุรุศึกษาของชาติอย่างไร (Governance in Teacher Education) ?

เท่าที่ผมติดตามการปฏิรูปการศึกษาของเรา ผมเห็นแต่ความเคลื่อนไหวที่เป็นเรื่องยิบย่อยไม่เชื่อมโยงกัน และยังมองไม่เห็นภาพรวมกลยุทธ์การศึกษาของชาติ วันนี้ผมจึงขอยกตัวอย่าง การบริหารคุรุศึกษาของสิงคโปร์ที่เป็นไปอย่างมีกลยุทธ์ และสร้างผลกระทบต่อการปฏิรูปภาพใหญ่ จากประสบการณ์เท่าที่ผมเคยอ่านมา

จากวิสัยทัศน์ผู้นำ เชื่อมโยงสู่ "คุรุศึกษา"หัวจักรขับเคลื่อนการศึกษาของชาติ

ย้อนไปเมื่อปี 1997 "Siong Guan LIM" ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บริหารกระทรวงภายใต้นโยบาย "Thinking School, Learning Nation" เขาต้องการให้กระทรวงเป็นหน่วยงานที่สร้างสรรค์นโยบายที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงตั้งคำถามกับนโยบายเดิมและหาทางพัฒนานโยบายใหม่อย่างต่อเนื่องเริ่มแรก เขาเชื่อมโยงการทำงานของ 3 หน่วยงานสำคัญ คือ หน่วยผลิตครูของชาติ(คุรุศึกษาของสิงคโปร์ National Institute of Education : NIE)

กระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนเข้าด้วยกัน จากนั้นมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจ คือ ให้คุรุศึกษา หรือ NIE เป็นหัวจักรขับเคลื่อนการศึกษาชาติ โดยระบุผลลัพธ์ที่กระทรวงต้องการ เช่น ทำให้ครูสอนได้มีประสิทธิภาพที่สุด ทำให้เกิดภาวะผู้นำของโรงเรียน ได้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน พัฒนาผลการเรียนรู้ของนักเรียนให้ได้ สร้างสรรค์นโยบายการศึกษาที่มาจากงานวิจัย (หากสังเกตจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของโรงเรียน)

มองจากสายตาผู้บริหารอย่างผม สิงคโปร์โดยกระทรวงศึกษาธิการ บริหารโดยให้ NIE เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการศึกษา ดังนี้

1) เชื่อมโยงภารกิจของ NIE กับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน

2) ผลักดันให้ NIE พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้าง "งานวิจัย" ที่จะตอบคำถามที่สำคัญในเรื่องการเรียน

การสอน และหาวิธีการที่จะให้การจัดการศึกษาของสิงคโปร์ดียิ่งขึ้น

3) สร้างองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยที่เป็นประโยชน์มหาศาลแก่การเรียนการสอนในห้องเรียนสิงคโปร์ เป็นประโยชน์ต่อครูโรงเรียน ที่สำคัญนักเรียน และเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อประเมินและวางนโยบายของกระทรวง

จากเอกสารที่ผมอ่านมาพบว่ารัฐมิได้มอบเพียงภารกิจ กระทรวง บริหารคุรุศึกษาและสนับสนุนงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อผลักดันให้ "NIE เป็นสมองในการพัฒนาการศึกษาของชาติ" ปี 2003-2012 งบประมาณที่กระทรวงให้สำหรับการวิจัยและพัฒนาในเรื่องดังกล่าว ประมาณ 144 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3,600 ล้านบาท) คิดโดยเฉลี่ยก็ปีละ 400 ล้านบาทจึงทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานวิจัยเพื่อทำภารกิจสำคัญนี้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยเรื่องศาสตร์การสอนและการจัดการเรียนการสอน (Centre in Research Pedagogy and Practice : CRPP) ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ (Learning Science Lab : LSL) และสำนักงานวิจัยการศึกษา (Office of Education Research : OER) เพื่อทำภารกิจสำคัญสรุปก็คือ มอบงาน แล้วสนับสนุนเงิน เพื่อพัฒนาคน สร้างความรู้เป็นหัวจักรขบวนเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา

ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง เช่น คณาจารย์และนิสิตครูของ NIE ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสถาบันคุรุศึกษาที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก การจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างครูใหม่ของสิงคโปร์มีประสิทธิภาพสูงมีการพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่อง พัฒนาภาวะผู้นำของครูใหญ่ เป็นต้น

ความสำเร็จของสิงคโปร์ในวันนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนสูงและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างอนาคตของประเทศมาตั้งแต่ปี 1997 โดยพยายามอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 18 ปี รัฐบริหารคุรุศึกษาอย่างมีกลยุทธ์ เชื่อมโยงหน่วยงานสำคัญ คือ กระทรวง โรงเรียน และคุรุศึกษาเข้าด้วยกัน บนฐานคิดที่มาจากสมอง (งานวิจัย)ของคุรุศึกษา (NIE) เพื่อเป้าหมายเดียวคือ "การศึกษาคุณภาพสูงแก่เด็กสิงคโปร์ทุกคน"

สำหรับสิงคโปร์แล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการรับเป็นเจ้าภาพ ผลักดันภารกิจสำคัญผ่านคุรุศึกษา แล้วประเทศไทย ใครควรเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้เพื่อบริหารคุรุศึกษาให้เป็นไปอย่างมีกลยุทธ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook