ความรู้เรื่อง"ชีวิต" บน"ดาวอังคาร"
"มาร์ส" ดาวเคราะห์สีแดงที่ได้ชื่อตามเทพเจ้าแห่งสงคราม ตกเป็นเป้าในการศึกษาของนักดาราศาสตร์มาหลายร้อยปี นักดาราศาสตร์ยุคแรกๆ ที่อาศัยเพียงกล้องโทรทรรศน์ในยุคเริ่มแรกคาดเดาหลายอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับดาวดวงนี้ ในปี 1784 นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษอย่าง เซอร์วิลเลียม เฮอร์สเชล ถึงกับบันทึกว่า ดาวอังคารบริเวณส่วนที่เป็นเงามืดนั้นคือมหาสมุทร ส่วนที่สว่างกว่าคือแผ่นดิน และเชื่อว่ามี "เอเลียน" ที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายมนุษย์เราอยู่บนดาวดวงนั้น
ปี 1877 นักดาราศาสตร์อิตาเลียนชื่อ โจวานนี สเคียปาเรลลี รายงานเอาไว้ว่าเห็น "ร่อง" ที่เขาเรียกว่า "คานาลี" บนพื้นผิวดาวอังคาร คำนี้ในภาษาอิตาลีแปลว่า "ร่องตามธรรมชาติ" แต่มีการเข้าใจผิดแปลคำนี้เป็นคำว่า "คะแนล" หรือ "คลอง" ในภาษาอังกฤษ กระทั่งนักดาราศาสตร์และนักธุรกิจอเมริกันรายหนึ่งคือ เพอร์ซิวาล โลเวลล์ ถึงกับเขียนหนังสือออกมา เล่มพูดถึง "เอเลียน" และความพยายาม "ขุดคลอง" เพื่อนำน้ำจากขั้วโลกมาสู่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของดวงดาว
เครดิตภาพ-NASA
การสำรวจดาวอังคารอย่างจริงจังเริ่มต้นในราวทศวรรษ 1960 และ 1970 เมื่อองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เริ่มโครงการมารีเนอร์ ส่งยานสำรวจไปบินวนและถ่ายภาพดาวอังคารส่งกลับมายังโลก ข้อมูลภาพถ่ายจากยานมารีเนอร์ 4 ทำให้ความเชื่อของเราต่อดาวอังคารพลิกกลับไปอีกด้าน มองว่ามันเหมือนดวงจันทร์มากกว่าเหมือนโลก คือไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่
โครงการมารีเนอร์ทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดาวอังคารว่าไม่ได้หนาแน่นและสามารถกักความร้อนไว้ใกล้กับพื้นผิวได้เหมือนบรรยากาศของโลกบรรยากาศจริงๆของดาวอังคารเบาบางกว่าของโลกถึง100เท่า ซึ่งช่วยอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่าทำไมดาวสีแดงนี้ถึงได้เย็นจัดและแห้งแล้ง
ความคิดเรื่องดาวอังคารเปลี่ยนไปอีกครั้งในปี1971เมื่อยานมารีเนอร์9ถูกส่งไปโคจรรอบดาวอังคารและถ่ายภาพทั้งดวงดาวเอาไว้ได้หลายอย่างในภาพมองดูเหมือนกับภูมิทัศน์บนโลกอย่างเช่นร่องที่มองดูเหมือนร่องน้ำ พื้นที่บางแห่งที่เหมือนท้องลำธารที่แห้งผากและภูเขาไฟ มนุษย์กลับมาคิดใหม่อีกครั้งว่า อาจมีน้ำที่นั่นซึ่งอาจหมายถึง "ชีวิต" ในบางรูปแบบด้วย
ความคิดเห็นดังกล่าวถูกหักล้างอีกครั้งเมื่อนาซาส่งยานไวกิ้ง ไปร่อนลงบนดาวอังคารในช่วงทศวรรษ 1970 เก็บตัวอย่างพื้นผิวดาวมาตรวจสอบ พบว่าไม่มีวี่แววของสิ่งมีชีวิต ดาวอังคารถูก "ฆ่าเชื้อ" ด้วยแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ผสมผสานกับคุณสมบัติทางเคมีที่พบในดินที่นั่น
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เรื่อยมา เป็นยุคของการสำรวจด้วยยานมาร์ส โกลบอล เซอร์เวเยอร์ และยานหุ่นยนต์ต่างๆ เพื่อมองหาร่องรอยของน้ำ (ในสภาพของเหลว) บนดาวดวงนี้ ข้อมูลใหม่ล่าสุดที่นาซาพบและเผยแพร่ออกมาเป็นระยะๆ ก็คือแผ่นน้ำแข็งหนาราว 1.6 กิโลเมตรบริเวณขั้วดวงดาว พบว่ามี "น้ำ" ในสภาพเป็นไอปนอยู่ในบรรยากาศมากพอที่จะรวมตัวเป็น "เมฆ" และล่าสุดก็คือพบร่องรอยของ "ร่องน้ำไหล" ในหลายพื้นที่ของดาวอังคาร แต่ยังไม่พบน้ำในรูป "ของเหลว" แต่อย่างใด
ริชาร์ด ซูเรค หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการดาวอังคารประจำห้องปฏิบัติการ เจ็ท โพรพัลชั่น ของนาซา บอกว่า บางทีดาวอังคารอาจมีน้ำเมื่อหลายล้านหรือหลายพันล้านปีมาแล้ว แต่หลังจากนั้นน้ำถ้าไม่กลายเป็นน้ำแข็งก็เดือดพล่านจนกลายเป็นไอสูญหายไปในอวกาศ
ซูเรคระบุว่า จากข้อมูลทำให้เชื่อว่าถ้าหากมีน้ำอยู่บนดาวดวงนี้ก็น่าจะเต็มไปด้วยเกลือเป็นน้ำเกลือที่เค็มจัดซึ่งเรียกว่า"เพอร์คลอเรต"ซึ่งทำให้จุดเยือกแข็งของมันไม่ใช่0องศาเซลเซียสแต่เป็น-70 องศาเซลเซียส และหากมีน้ำเกลือที่ว่านี้เป็นของเหลว ก็อาจเกิดขึ้นได้เพียงแค่ในฤดูกาลที่อบอุ่นบนดาวดวงนั้นเท่านั้น คาดกันว่ามันจะค่อยๆ หลอมละลายไปตามฤดูกาลและคงอยู่ในสภาพของเหลวที่ไหลช้าๆ (ไม่ไหลเร็วเหมือนน้ำไหลหรือลำธารบนโลก) แต่ก็สามารถคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งบนดาวอังคาร
นี่คือสิ่งที่นาซาค้นพบใหม่ล่าสุดบนดาวอังคารและยังคงทำให้ความเชื่อที่ว่าเมื่อมีน้ำ(ของเหลว)ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิต(บางชนิด)อยู่ได้ที่นั่นยังคงอยู่ต่อไป
แม้มันจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตที่"เอ็กซ์ตรีม" ถึงขีดสุด ยิ่งกว่าที่มนุษย์เคยเจอะเจอก็ตามที