กยศ.กับการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

กยศ.กับการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

กยศ.กับการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย เมธี ครองแก้ว

ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ จากสำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่าขณะนี้ทางสำนักงาน กยศ.กำลังมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหานักเรียนและนักศึกษาที่ได้กู้ยืมเงินไปจากกองทุน กยศ. แต่เมื่อครบกำหนดต้องชำระหนี้คืน กลับไม่ยอมเริ่มชำระหนี้คืน จนทำให้ทางสำนักงานต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อไม่ให้อายุความของความ เป็นหนี้ขาดภายใน 5 ปี จากข้อมูลล่าสุด สำนักงาน กยศ. ได้แจ้งให้เราทราบว่าจากจำนวนผู้กู้ยืมที่ถึงกำหนดต้องชำระคืนทั้งหมด มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ชำระคืนหรือเริ่มชำระคืน อีกร้อยละ 60 ยังไม่มาชำระคืนแต่อย่างใด

ถ้านับเป็นจำนวนคนก็หลายหมื่นคน มาตรการล่าสุดของสำนักงานกองทุน กยศ. ก็คือมาตรการ "กยศ./กรอ. ช่วยชาติ" โดยจะขอความร่วมมือกับองค์กรนายจ้างที่จ้างผู้กู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. ให้ช่วยหักเงินเดือนลูกจ้างของตนซึ่งติดหนี้ กยศ.อยู่นี้แล้วส่งให้สำนักงานกองทุน กยศ. สำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระ เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้วจะได้เงินคืนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระ หากยินยอมชำระหนี้เป็นปกติ จะได้ลดเบี้ยปรับ 100% หรือหากไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติได้ กองทุนจะปรับโครงสร้างให้ครั้งหนึ่ง และมีเวลาผ่อนชำระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา

ในฐานะที่ผู้เขียนได้ติดตามการบริหารงานของกองทุน กยศ.นี้มาเป็นเวลานาน คงต้องขออนุญาตที่จะพูดตรงๆ ว่ามาตรการดังกล่าวข้างต้นนี้จะล้มเหลวอีก เหมือนมาตรการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว (เช่น มาตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทร่วมกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมเป็นต้น) ผู้เขียนมีความรู้สึก 2 อย่าง เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ต่อการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุน กยศ.นี้ ความรู้สึกประการแรก คือ รู้สึกสงสารจ้าหน้าที่เหล่านี้ที่ต้องคอยตามทวงหนี้ผู้กู้ยืมที่ไม่ยอมจ่าย ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา

และดูเหมือนว่าปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด แต่ความรู้สึกประการที่สอง คือรู้สึกสมเพช (หรือจะเรียกว่าสังเวชก็ได้) ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุนนี้ ไม่ว่าจะในระดับปฏิบัติการเช่นสำนักงานกองทุน กยศ.หรือระดับนโยบาย เช่นกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการ ที่จมปลักอยู่กับข้อบกพร่องของกองทุนนี้อยู่ได้เป็นสิบๆปี ทั้งๆ ที่ได้รับทราบปัญหาข้อบกพร่องทางโครงสร้างมาตั้งแต่เมื่อตอนเริ่มต้นแล้วว่า การบังคับให้นักศึกษาผู้กู้ยืมต้องเริ่มชำระหนี้คืนภายใน 2 ปี นับตั้งแต่จบการศึกษา เป็นเรื่องที่ยากมาในสังคมไทยในขณะนั้น (หรือแม้แต่ในขณะนี้)

เพราะผู้จบการศึกษาเหล่านี้ อาจจะยังหางานไม่ได้ หรือถึงหาได้ก็มิได้มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนสูงพอที่จะเอาไปจ่ายคืนให้กับ กองทุน กยศ.ได้โดยทันที (เมื่อเทียบกับความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนแรกในการดำรงชีวิต เช่นผ่อนบ้านหรือผ่อนรถ) ยิ่งต่อมาเมื่อรัฐบาลขยายการให้ทุนกู้ยืมลงไปถึงระดับชั้นมัธยมปลายด้วยแล้ว ปัญหายิ่งหนักขึ้นไปอีก ใครจะไปคาดคิดว่าเด็กที่จบมัธยมปลายจะต้องหาเงินมาใช้คืนกองทุนฯ ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่เรียนจบ? และที่จริงแล้วไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้เงินกู้ยืมกับเด็กนักเรียนมัธยม จะมีก็แต่ที่ประเทศไทยนี่แหละ

ระบบการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบ กยศ.นี้เป็นระบบการกู้ยืมเหมือนกับการกู้ยืมในเชิงธุรกิจการค้าโดยทั่วไป ที่ต้องมีหลักทรัพย์บางอย่างมาค้ำประกัน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า mortgage-type loan กล่าวคือ มีกำหนดเวลาชำระคืนและเงื่อนไขการชำระคืนชัดเจน เพียงแต่มีเงื่อนไขผ่อนปรนเรื่องดอกเบี้ยเท่านั้นเอง เมื่อผู้กู้ชำระคืนไม่ทันตามกำหนดก็จะถูกฟ้องร้อง ถูกปรับ ถูกยึดทรัพย์ เหมือนกับการกู้ยืมเงินในระบบธุรกิจการค้าโดยทั่วไป แต่การกู้ยืมเงินในระบบอุดมศึกษาไม่เหมือนกับการกู้เงินมาซื้อบ้านหรือซื้อ รถ ซึ่งหากใช้หนี้ไม่ได้ก็ถูกยึดบ้านหรือยึดรถไป แต่คนที่เรียนจบแล้วมีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว จะมีอะไรให้ยึดหากมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้คืน?

ด้วยเหตุนี้การออกแบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ถูกต้อง และเหมาะสม จึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการที่จะชำระคืนของผู้กู้ยืมด้วย (จะชำระคืนก็ต่อเมื่อความสามารถขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว) และมูลหนี้นี้ก็จะติดตัวผู้กู้ยืมไปจนกว่าจะใช้หนี้หมด แต่จะไม่เป็นภาระต่อผู้ติดหนี้เพราะหนี้ที่ค้างนี้จะไม่มีดอกเบี้ย เพียงแต่จะถูกปรับด้วยดัชนีราคาที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีเท่านั้น และถ้าช่วงไหนของชีวิตการทำงานเกิดอุปสรรคข้ดข้อง (เช่นตกงาน หรือเจ็บป่วย) ก็อาจจะหยุดการชำระคืนไว้ได้อีก จนกว่าจะได้ความสามารถในการชำระคืนกลับมาใหม่

ระบบที่ว่านี้คือระบบ กองทุนกู้ยืมอุดมศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กองทุน กรอ.) หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Income-Contingent Loan (ICL) ซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้ใช้เวลาเตรียมการอยู่กว่า 3 ปี จึงทำได้สำเร็จ โดยให้ยกเลิกระบบกองทุน กยศ. และให้เริ่มใช้ระบบใหม่ในปีการศึกษา 2549 ซึ่งจะเริ่มในเดือน มิ.ย.2549 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อประกาศใช้ได้ไม่ถึงหนึ่งภาคการศึกษา รัฐบาลของคุณทักษิณ ก็ถูกปฏิวัติเสียก่อนเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 และด้วยความบังเอิญ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เกิดเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในการออกแบบกองทุน กยศ.นี้ ให้พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พศ.2541 (สมัยรัฐบาล ชวน 1) เพราะฉะนั้น แทนที่กองทุน กยศ.จะถูกยกเลิกก็ถูกรื้อฟื้นคืนชีพกลับเอามาใช้ใหม่ แต่คราวนี้เลยยิ่งเละเทะใหญ่ เพราะกลายเป็นว่ามีทั้ง กยศ.และ กรอ.อยู่ด้วยกัน แต่ กรอ.ที่ตกค้างอยู่นี้ก็ไม่เหมือนกับ กรอ.ที่ถูกออกแบบไว้แต่เดิม แต่ถูกบิดเบือนไปหมด ปัญหาเลยยิ่งสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก

ปัญหาของการบริหารกองทุน กยศ.ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่อาจจะให้ดำรงอยู่ได้อีกต่อไปอีกแล้ว ตามข้อมูลที่แสดงโดยรติยา มหาสิทธ์ (มติชนรายวัน 24 ตุลาคม 2558) จนถึงปัจจุบัน สำนักงานกองทุน กยศ. ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปแล้วกว่า 3,200 ล้านบาท เพื่อติดตามทวงหนี้ผู้กู้ แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือคดีที่มีการฟ้องร้องกันในศาลแล้วก็มีเป็นหมื่น และที่จะต้องติดตามฟ้องร้องกันต่อไป ก็มีอีกหลายหมื่น ระบบการดำเนินการของศาลตอนนี้ก็แออัดคับคั่งวุ่นวายไปหมด เป็นต้นทุนมหาศาลต่อสังคมที่ยังไม่ได้เอามาคำนวณ ยิ่งทางผู้บริหารกองทุน กยศ.มีความคิดที่จะดึงเอาเครดิตบูโรมาเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่จะเล่นงาน นักศึกษาที่ติดหนี้แล้วไม่ใช้นี้ เรื่องก็จะไปกันใหญ่

จริงอยู่ การบริหารจัดการกองทุน กยศ.ต้องเป็นไปตามอำนาจและขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.กองทุน กยศ.ซึ่งถ้าจะทำอะไรใหม่ก็จะต้องไปแก้กฎหมายเก่าหรือออกกฎหมายใหม่ ซึ่งอาจยุ่งยากและเสียเวลา แต่ขณะนี้รํฐบาลมีมาตรา 44 อยู่แล้ว น่าจะปรับเปลี่ยนระบบได้โดยทันที โดยประกาศยกเลิกการชำระหนี้คืนตามระบบกองทุน กยศ.โดยทันที แล้วย้ายหนี้ทั้งหมดที่ยังค้างอยู่ไปอยู่ในระบบกองทุน กรอ.ที่จุดเริ่มต้นของรายได้ที่จะเริ่มการชำระคืนมีกำหนดไว้แน่นอน และเป็นการชำระคืนในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยทั่วไปที่กรมสรรพากรมี อำนาจและหน้าที่ดูแลอยู่ ส่วนระบบการจ่ายทุนให้นักศึกษาในระบบกองทุน กยศ.ในปัจจุบันอาจจะให้เป็นอยู่เหมือนเดิมแต่ไม่เกินหนึ่งหรือสองปี จากนั้นก็จะปรับให้เป็นระบบ กรอ ระบบเดียวทั้งหมด

ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือสองปีนี้ ก็คือเวลาที่รัฐบาลจะเตรียมการนำระบบ กรอ.ระบบเดิมกลับมาใช้อีก อย่างน้อยก็ยังไม่สายเกินไปถึงแม้กองทุน กยศ.จะทำความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ประเทศมาเป็นเวลาถึงสิบปีแล้วก็ตาม

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook