เรียนจบคณะนิติศาสตร์ ทำงานอะไรได้บ้าง?
ทางเลือกในสายงานอาชีพสำหรับผู้ที่จบคณะนิติศาสตร์มีหลากหลาย บางคนคิดว่าเรียนคณะนี้จบไปต้องไปเป็นทนายหรือผู้พิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ววิชาความรู้ที่ได้จากการเรียนคณะนี้ สามารถนำไปต่อยอดในสายงานอื่น ๆ และเป็นที่ต้องการขององค์กรอื่น ๆ อีกมากค่ะ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะติดภาพว่า คนที่เรียนคณะนิติศาสตร์มา จะเป็นคนที่มีหลักการและเหตุผล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่าง ๆ ได้ดี เรามาดูกันซิว่า เรียนจบคณะนิติศาสตร์มา จะทำงานด้านใดได้บ้าง
ทนายความ
อาชีพทนายความเป็นอาชีพสายตรงของผู้ที่เรียนจบคณะนิติศาสตร์มา ทนายความจะมีหน้าที่ดำเนินการแทนลูกความในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ศึกษาค้นคว้าเรื่องกฎหมายและคดีความต่าง ๆ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย ว่าความและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ ในศาลทั้งแพ่ง พาณิชย์ และอาญา ผดุงความยุติธรรมให้สังคม บุคคล และองค์กรต่าง ๆ
ที่ปรึกษาทางกฎหมาย
ผู้ที่เรียนจบคณะนิติศาสตร์มาสามารถเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับองค์กรของรัฐ เอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อคิดเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้กับองค์กรนั้น ๆ เป็นทนายความว่าความให้แก่บริษัท ร่างสัญญาระหว่างบริษัทคู่ค้า
ผู้พิพากษา
เป็นอาชีพอันดับหนึ่งที่นิติบัณฑิตทุกคนใฝ่ฝัน เพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และมีค่าตอบแทนที่สูง ผู้พิพากษาจะรับหน้าที่ในการพิจารณาคดีทั้งปวงในราชอาณาจักร ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ในศาลยุติธรรม ก่อนที่จะเป็นผู้พิพากษาได้ เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องไปสอบเนติบัณฑิต หลังจากนั้นจะต้องรอให้อายุครบยี่สิบห้าพร้อมกับมีคุณสมบัติอื่น ๆ ตรงตามที่คณะกรรมการตุลาการกำหนด จึงจะไปสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและค่อย ๆ ไต่ไปตามขั้นตอนได้ ซึ่งผู้จะเป็นผู้พิพากษานั้นต้องมีความอดทน มีความจำดี ขยัน หนักแน่นมั่นคง ยุติธรรม
พนักงานอัยการ
เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองจากผู้พิพากษา พนักงานอัยการจะทำหน้าที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความและกฏหมายบัญญัติ รักษาผลประโยชน์ของรัฐ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและอำนวยความยุติธรรมในสังคม มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล
นิติกร
เป็นก้าวแรกของอาชีพที่ผู้ที่จบนิติศาสตร์ใหม่ ๆ จะเลือกทำ เพราะเป็นอาชีพที่อาจจะยังไม่ต้องมีใบอนุญาตว่าความ หรือตั๋วทนาย และถือเป็นการสั่งสมประสบการณ์ก่อนก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นไป นิติกรคือผู้ที่ดูแลงานด้านที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งการศึกษา วิเคราะห์ วางแผน เขียนโครงการ วางระเบียบ เสนอความเห็น งานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายขององค์กรและระหว่างหน่วยงาน ความเป็นธรรมและระเบียบของพนักงาน เป็นต้น โดยนิติกรจะทำงานทุกด้านที่เกี่ยวกับกฎหมายขององค์กร ไม่ใช่แค่ให้คำปรึกษาเหมือนที่ปรึกษาทางกฎหมาย และไม่สามารถว่าความแทนใครเหมือนทนายได้
งานราชการ
งานราชการสายตรงคือเป็นผู้พิพากษา ถ้าเป็นสายยุติธรรมจะสามารถรับราชการตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ได้ เช่น เป็นเจ้าพนักงานคุมประพฤติ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าราชการสำนักงานกฤษฎีกา ตำรวจ นิติกรกระทรวง เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าพนักงานสรรพากร นายทหารฝ่ายพระธรรมนูญ เป็นต้น
งานธนาคาร
หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าเรียนจบคณะนิติศาสตร์มาสามารถทำงานธนาคารได้ โดยสามารถทำงานเร่งรัดหนี้ งานสินเชื่อซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องของสภาวะลูกหนี้ พิจารณาการให้สินเชื่อ แจกแจงข้อกฎหมายตามที่ระบุหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่กำหนดและส่งต่อให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้จัดการต่อ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย และกฎระเบียบด้านการเงินต่าง ๆ เป็นอย่างดี
อาจารย์พิเศษ
อาชีพนี้เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะเป็นอาชีพที่ได้เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจ มีเกียรติ และรายได้ดี
จะเห็นได้ว่าผู้ที่เรียนจบคณะนิติศาสตร์มามีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากมาย ขอเพียงมีความขยัน อดทน ความจำดี ใส่ใจรายละเอียด หนักแน่นมั่นคง และยุติธรรม คุณก็สามารถประกอบอาชีพตามที่คุณใฝ่ฝัน และประสบความสำเร็จในอาชีพนั้น ๆ ได้อย่างไม่ยากเย็น
ขอบคุณข้อมูล th.jobsdb.com