ท่องอวกาศแบบ "สตาร์ วอร์ส" เป็นจริงได้หรือไม่?!

ท่องอวกาศแบบ "สตาร์ วอร์ส" เป็นจริงได้หรือไม่?!

ท่องอวกาศแบบ "สตาร์ วอร์ส" เป็นจริงได้หรือไม่?!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่ภาพยนตร์ "สตาร์ วอร์ส : เดอะ ฟอร์ซ อะเวกเคนส์" กวาดรายได้ถล่มทลาย ทำสถิติใหม่อยู่ในเวลานี้ หลายคนที่ได้ชมคงกังขาอยู่ไม่น้อยว่าการเดินทางข้ามห้วงอวกาศที่อยู่ห่างกันออกไปหลายร้อยหลายพันปีแสงนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงมีความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์หรือไม่

คำอธิบายในภาพยนตร์ชุดสตาร์วอร์สต่อการที่ยานอวกาศไม่ว่าจะเป็น "มิลเลนเนียม ฟอลคอน" ของฮัน โซโล หรือยานอื่นๆ สามารถเดินทางข้ามกาแล็กซีไปมาได้ โดยอาศัยระบบขับเคลื่อน "ไฮเปอร์ไดรฟ์" ซึ่งจะช่วยให้ยานกระโจนเข้าสู่ "มิติเงา" ที่เรียกว่า "ไฮเปอร์สเปซ" ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น "ทางลัด" ระหว่างจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในห้วงอวกาศ

ภาพ-Disney/Lucasfilm

เอริค เดวิส นักฟิสิกส์ ประจำสถาบันเพื่อการศึกษาก้าวหน้า (ไอเอเอส) ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ระบุว่า คำอธิบายที่ดูเหมือนคลุมเครือไม่มีรายละเอียดดังกล่าวนั้น จริงๆ แล้วอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์จริงๆ เดวิสเป็นนักฟิสิกส์อเมริกันที่ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ของการเดินทาง "เร็วกว่าแสง" (เอฟทีแอล) และทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานาน ระบุว่า
แม้โดยหลักการแล้วการเดินทางเร็วกว่าแสงนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เรืองนาม ก็เคยนำเสนอแนวความคิดว่า "กาล" (ไทม์) กับ "อวกาศ" (สเปซ) นั้นมีความโค้งโดยธรรมชาติ และความโค้งนี่เองที่สามารถนำมาใช้เพื่อย่นระยะทางระหว่างจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในอวกาศได้
เดวิสบอกว่า มีอยู่ 2 วิธีที่สามารถนำมาใช้ในการเดินทางแบบเดียวกับที่ยานอวกาศในภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส ใช้ในการท่องอวกาศ

วิธีแรกคือ การใช้ "วาร์ปไดรฟ์" ซึ่งโดยหลักการคือการทำให้อวกาศด้านหน้าของยานอวกาศหดเล็กลง และขยายมันออกด้านหลังของยานอวกาศ วิธีการที่สอง นั้นก็คือ การสร้าง "รูหนอน" หรือส่วนของอวกาศที่โค้งลงในตัวของมันเองจนกลายเป็นช่องทางลัดระหว่างสถานที่ 2 สถานที่ในอวกาศ

อย่างไรก็ตาม เดวิสชี้ว่าการสร้างปรากฏการณ์บิดเบือนอวกาศให้ได้ไม่ว่าจะในแบบใดหรือแบบหนึ่งนั้น จำเป็นต้องอาศัยสสารพิเศษชนิดหนึ่ง ซึ่งมีพลังงานอีกอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า "เนกะทีฟ เอนเนอร์ยี" หรือ "ดาร์ก เอนเนอร์ยี" เพื่อสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "คาซิเมียร์ เอฟเฟ็กต์" แบบเดียวกับที่เคยมีการสร้างขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการ

สสารที่ว่านั้นคือ "ดาร์ก แมทเทอร์" หรือ "สสารมืด" ที่เชื่อกันว่าการคงอยู่ของมันทำให้จักรวาลขยายตัวไม่หยุดหย่อนนั่นเอง

"คาซิเมียร์ เอฟเฟ็กต์" หรือ "ปรากฏการณ์คาซิเมียร์" ซึ่งถูกตั้งชื่อตามเฮนริก คาซิเมียร์ นักฟิสิกส์ชาวดัตช์ที่ทำนายเรื่องนี้เอาไว้ คือปรากฏการณ์ที่เกิด "แรงผลัก" หรือ "แรงดึง" ขึ้นระหว่างแผ่นตัวนำ 2 แผ่นที่ถูกวางไว้ห่างจากกันในสภาวะสุญญากาศ ทั้งๆ ที่ไม่มีประจุไฟฟ้าหรืออนุภาคใดๆ อยู่เลย

เมื่อต้นปีนี้ ห้องปฏิบัติการ "อีเกิลเวิร์กส์" ในศูนย์อวกาศจอห์นสันขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) อ้างว่า สามารถสร้าง "วาร์ปไดรฟ์" ในห้องปฏิบัติการขึ้นได้ โดยอาศัยประโยชน์จากปรากฏการณ์คาซิเมียร์ สร้างการบิดเบือนของสุญญากาศได้บางส่วน แต่เดวิสกล่าวว่า การกล่าวอ้างดังกล่าว "แปลกๆ" และ "ยังมีปัญหา" อยู่มาก

ในทรรศนะของเดวิส การท่องอวกาศแบบไฮเปอร์ไดรฟ์ตามแบบฉบับของสตาร์ วอร์ส นั้นในความเป็นจริงยังเป็นเพียงแค่ทฤษฎีที่ยังจำเป็นต้องผ่านการศึกษาเชิงทฤษฎีอยู่อีกมาก เพราะตอนนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่จะทำให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

เขาเชื่อว่ามนุษย์อาจจำเป็นต้องใช้เวลาอีก 50-300 ปี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้าง "รูหนอน" และ "วาร์ปไดรฟ์" ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook