เช็กเสียง "โรงเรียนกวดวิชา" ขึ้น-ไม่ขึ้นค่าเล่าเรียนปี′59

เช็กเสียง "โรงเรียนกวดวิชา" ขึ้น-ไม่ขึ้นค่าเล่าเรียนปี′59

เช็กเสียง "โรงเรียนกวดวิชา" ขึ้น-ไม่ขึ้นค่าเล่าเรียนปี′59
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ก.ค. 2558 ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชาต้องปรับตัวพร้อมมีกระแสว่าอาจต้องปรับขึ้นค่าเรียน เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากกระบวนการด้านภาษี อย่างไรก็ดี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขอความร่วมมือไม่ให้โรงเรียนกวดวิชาปรับขึ้นค่าเล่าเรียนภายในปี 2558 นั้น

"อนุสรณ์ ศิวะกุล" นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา มองว่าปีหน้าศธ.น่าจะขอความร่วมมือโรงเรียนกวดวิชาไม่ให้ปรับขึ้นราคาต่อ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางรายไปขอปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการเรียน แต่ทาง ศธ.ชะลอเรื่องไว้ทั้งหมด กระนั้น หลังจากกฎหมายบังคับใช้เมื่อกลางปีนี้ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชามีต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายจากภาษีทั้งการจ้างผู้จัดทำบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 5% อีกทั้งสภาพตลาดโรงเรียนกวดวิชาปีนี้ลดลงอย่างน้อย 30% อันมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา และผู้เรียนลดลงเนื่องจากอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง โดย 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้เรียนลดลงเฉลี่ยปีละ 10%

"ปีหน้าต้องดูนโยบายของภาครัฐว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดหรือไม่ ถ้าหากเศรษฐกิจดีขึ้น และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด คิดว่าโรงเรียนกวดวิชาคงทำเรื่องขอขึ้นค่าเรียน พร้อมแสดงให้เห็นว่าเรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อันมาจากการเก็บภาษี โดยการขึ้นค่าธรรมเนียมตามหลักการแล้ว เปิดโอกาสให้ทำได้อย่างเสรี เหมือนเมื่อก่อนที่หากมีผลกระทบต่อต้นทุนการเรียน ผู้ประกอบการสามารถทำเรื่องขอขึ้นค่าเรียนได้ ซึ่งหากโอกาสเปิดให้สามารถทำได้ตามระเบียบ เชื่อว่าผู้ประกอบการคงทำเรื่องขอปรับ อย่างทุกวันนี้บางโรงเรียนก็ปรับต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้เก็บเต็มเพดาน 100 บาทตามที่ ศธ.กำหนด ตรงนี้หากอยากปรับขึ้นก็ทำได้เลย แต่หากบางโรงเรียนที่เก็บเต็มเพดานแล้ว เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากภาระภาษีก็คงต้องไปทำเรื่องขอขึ้นค่าเรียน โดยตอนนี้มีสัญญาณบ้างแล้ว แต่เราก็ให้เขาดูนโยบายจาก ศธ.เป็นหลัก"

ทั้งนั้น ตนมองว่าหากมีการปรับขึ้นค่าเรียนโรงเรียนกวดวิชาคงปรับเพิ่มขึ้น 5% จากค่าเรียนเดิม เพราะถือว่าไม่กระทบผู้เรียนและไม่สามารถปรับขึ้นได้เยอะมากเนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะไม่สดใส โดยตอนนี้โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งมีการลดแลกแจกแถม เพราะมองว่าทำอย่างไรให้อยู่รอดและมีผลกำไร

"สำหรับตลาดกวดวิชาปีหน้า ผมมองว่ายากที่จะกลับมาอยู่จุดเดิม เพราะต้องรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน หลังจากนั้นผู้ปกครองต้องไปจัดการเรื่องหนี้สินที่มี ถึงจะมาดูเรื่องการศึกษาของลูก โดยยากมากที่จะให้กลับมาเติบโตเหมือนก่อนหน้าที่มีปัญหาเศรษฐกิจ คาดว่าปีหน้าตลาดยังคงทรง ๆ ดังนั้น โรงเรียนกวดวิชาจะแข่งขันกันสูงมากขึ้น ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาผสมผสาน คนที่อยู่รอดได้จึงต้องมีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม"

"นพ.ธรรมศักดิ์ เอื้ออภิธร" ผู้จัดการทั่วไปโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์และโรงเรียนในเครือ กล่าวว่า เอ็นคอนเซ็ปท์ยังไม่มีแผนปรับขึ้นค่าเรียนในปีหน้า และจะยังคงราคาเดิมอยู่ตลอดทั้งปี เพราะยังรับภาระด้านภาษีได้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ต้องประเมินดูสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อมีเรื่องภาษีเข้ามาทำให้ต้นทุนการบริหารงานเพิ่มขึ้น โดยโรงเรียนได้ปรับแผนการดำเนินงานด้วยการขยายตลาด เพื่อมาชดเชยส่วนต่างที่โรงเรียนจ่ายภาษีไป โดยได้รุกไปในตลาดภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงมีตลาดภาษาอังกฤษวิชาชีพเพิ่มเติมด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้ชื่อ Qualish ตอนนี้มี 2 สาขาที่สยามสแควร์ และปีหน้าวางไว้ว่าจะขยายเพิ่มให้ได้ 4-5 สาขาในกรุงเทพฯ และอาจเปิดร่วมกับเอ็นคอนเส็ปท์ในสาขาต่างจังหวัด

"ตลาดกวดวิชามีการแข่งขันสูงมาโดยตลอด แต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้ตลาดหดตัว อาทิ จำนวนนักเรียนที่เข้าระบบลดลง ความต้องการของเด็กหลากหลายขึ้น และมีตลาดการศึกษาใหม่ ๆ เช่น กลุ่มเด็กสอบเข้าอินเตอร์ เด็กไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะฉะนั้น ทิศทางของเราคือต้องการที่จะคงตลาดเดิมไว้ให้อยู่ได้ และสามารถเข้าไปทำธุรกิจในตลาดใหม่ ๆ ได้ เพื่อชดเชยตลาดที่มีความต้องการลดลง"

"สุธี อัสววิมล" ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ กล่าวว่า ผลประกอบการของโรงเรียนยังเติบโตต่อเนื่อง จึงไม่มีนโยบายในการขึ้นค่าเรียนในปีหน้า และมองว่าปีนี้ไม่ใช่ปีที่แย่สำหรับโรงเรียนกวดวิชา แต่เป็นปีที่แย่สำหรับเด็ก ๆ เพราะจากการที่ตนเดินทางไปสอนเด็กใน 27 จังหวัดของปีนี้ พบว่า เด็กกว่า 10% ไม่มีเงินที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย และนี่เป็นเหตุผลหลักที่ตนไม่คิดที่จะขึ้นราคา เพราะอยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนหลายวิชากับออนดีมานด์ ซึ่งนอกจากจะสามารถเพิ่มยอดขายสำหรับโรงเรียนแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ ได้ความรู้หลากหลายวิชามากขึ้น ส่งผลต่อโอกาสในการสอบเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้นด้วย

"เราเลือกที่จะขยายวิชา และหลักสูตรให้มากขึ้น ทั้งคณิตศาสตร์ เคมี ความถนัดทางการแพทย์ และความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้เด็ก ๆ มีทางเลือกมากขึ้น โดยตอนนี้ธุรกิจกวดวิชายังไม่มีปัจจัยบวก จึงเน้นทำการตลาดเชิงรุกในปีหน้า ด้วยกลยุทธ์ Student ซึ่งทุกกิจกรรมในบริษัทจะถูกนำมาประเมินทั้งหมดว่าเกี่ยวข้องกับเด็กเพียงพอหรือไม่ และโฟกัสตรงจุดที่สามารถพัฒนา หรืออำนวยความสะดวกให้กับเด็ก ๆ และผู้ปกครอง"

"มนตรี นิรมิตศิริพงศ์" ผู้อำนวยการสถาบันกวดวิชา วี บาย เดอะเบรน กล่าวว่าโรงเรียนมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะต้องเซตระบบบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี และเพิ่มพนักงานบัญชี 6-7 คน อีกทั้งต้องมีการเก็บรายละเอียดค่าใช้จ่าย เพราะทุกอย่างต้องปรับให้เป็นระบบมากขึ้น โดยตอนนี้ยังไม่ทราบว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นหลังจากการเก็บภาษีอยู่ที่เท่าไร เพราะยังไม่ครบรอบการเก็บภาษีซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ก.ค. 2558 และจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้กำไรน้อยลงจากปกติเปอร์เซ็นต์ของกำไรเป็นตัวเลข 2 หลักก็เหลือหลักเดียว

"3 ปีที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ปรับราคาค่าเรียนและปีหน้าก็มีแนวโน้มว่าเราอาจยังไม่ปรับขึ้น แต่อาจจะใช้วิธีการอื่นแทนอย่างการปรับลดจำนวนชั่วโมง เพราะตอนนี้เราเพิ่มชั่วโมงแต่ไม่ได้เพิ่มค่าเรียน โดยจะกระชับเวลาสอนให้มากขึ้น จากเดิมที่มีเวลาด้านบรรยากาศหรือความสนุกสนานสอดแทรกอยู่ ก็จะปรับลดเวลาส่วนนี้ลงมา 10-20% ทั้งนั้น ยังเน้นคุณภาพของการสอนอยู่เหมือนเดิม ส่วนสถานการณ์ของ วี บาย เดอะเบรนในปีนี้ยอดผู้เรียนลดลงจากปีที่แล้ว 15% และคาดว่าปีหน้าน่าจะลดลงต่อเนื่องอีก 10-15% แต่เราพยายามปรับแก้ด้วยการทำโปรโมชั่น เช่น จับคู่คอร์สเรียนแล้วลดราคาให้ หรือหากเป็นสมาชิกแฟนคลับก็ลดราคาค่าเรียนลงอีก"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook