ย้อนอดีตสอนภาษาไทย : แจกลูก-สะกดคำ

ย้อนอดีตสอนภาษาไทย : แจกลูก-สะกดคำ

ย้อนอดีตสอนภาษาไทย : แจกลูก-สะกดคำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย ดร.ดำรงค์ ชลสุข อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ ม.กรุงเทพธนบุรี

การสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มิใช่เพียงแต่เป็นหน้าที่ของครูเท่านั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองยังเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญในการอ่านออกของเด็ก เพราะใกล้ชิดเด็กมากที่สุดขณะอยู่ที่บ้าน

ทั้ง 2 ฝ่ายจึงต้องช่วยกันฝึกฝนให้เด็กได้อ่านหนังสือเป็นประจำทุกวัน บทความนี้ขอกล่าวถึงสภาพทั่วไปการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย สาเหตุที่เด็กอ่านไม่ออก และวิธีการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกด้วยการแจกลูก-สะกดคำ

1.สภาพทั่วไปการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย

พ.ศ.2551 จากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่าเด็กไทยอายุ 15 ปี ร้อยละ 37 มีความสามารถในการอ่านต่ำมาก ซึ่งส่งผลให้การเรียนวิชาอื่นๆ อ่อนด้อยตามไปด้วย และจากคะแนนการสอบ O-NET ปรากฏว่านักเรียนส่วนใหญ่ได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 (คะแนนเต็ม 100 ได้ไม่ถึง 50 คะแนน) ในทุกรายวิชา ส่วนการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของนักเรียนทุกระดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2551 อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50

นอกจากนั้น จากการประเมินคุณภาพการศึกษาของ สมศ. รอบที่สอง (พ.ศ.2549-2553) มีข้อสังเกตว่านักเรียนในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษามีปัญหาการอ่านออกเขียนได้ โดยพบว่ามีนักเรียนในหลายโรงเรียนเขียนคำภาษาไทยผิด การเรียงรูปประโยคไม่ถูกต้อง ทำให้ข้อความที่เขียนไม่สามารถสื่อความหมายได้ สำหรับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทั่วประเทศจำนวน 782,284 คน (จากโรงเรียน 31,269 แห่ง) พบว่าด้านการอ่านของนักเรียนต้องปรับปรุงร้อยละ 3.52 อ่านไม่ได้ร้อยละ 4.18

พ.ศ.2552 จากคะแนน O-NET วิชาภาษาไทยชั้นมัธยมประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำแนกตามประเภทโรงเรียนพบว่า 1) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนทั่วไปและโรงเรียนขยายโอกาสได้คะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทย 39 คะแนน และ 37-30 ตามลำดับ จากคะแนนเต็ม 100 และ 2) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทั่วไปและโรงเรียนขยายโอกาสได้คะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทย 36.02 และ 33.15 ตามลำดับ จากคะแนนเต็ม 100 นั่นแสดงว่าคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนทุกประเภทต่ำกว่า 50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำการวิจัยการอ่านออกของนักเรียนประถมศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา 181 เขต ในปี พ.ศ.2556 ผลปรากฏว่า 1) นักเรียนอ่านไม่ออกระดับรุนแรง 1.1) ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 7,920 คน คิดเป็นร้อยละ 1.8 และ 1.2)ประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 25,373 คน คิดเป็นร้อยละ 5.7 นอกจากนั้นยังมี 2) นักเรียนอ่านไม่ออกระดับต้องปรับปรุง 2.1) ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 27,943 คน คิดเป็นร้อยละ 6.3 และ 2.2) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 43,028 คนคิดเป็นร้อยละ 9.7 รวมทั้ง 2 กลุ่มแล้วมีนักเรียนที่อ่านไม่ออกระดับรุนแรงและระดับต้องปรับปรุงดังนี้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 35,863 คน และชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 68,401 คน

โดยสรุปแล้วในปีการศึกษา 2558 สพฐ.ได้แถลงว่าเปิดเทอมแรกของปีการศึกษานี้พบว่านักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แบ่งตามระดับชั้นเรียนมีดังนี้ ป.1 ร้อยละ 11, ป.2 ร้อยละ 8 และ ป.3 ร้อยละ 5 หรือหากคิดเป็นตัวเลขที่จำได้ง่ายๆ ก็คือ เด็กชั้น ป.6 และ ป.3 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีมากกว่าสองแสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชายแดน


2.สาเหตุเด็กอ่านไม่ออก

2.1 การย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครอง ทำให้เด็กต้องย้ายติดตามเปลี่ยนโรงเรียนบ่อยๆ

2.2 สติปัญญาของเด็ก เด็กบางคนเป็นโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) คือโรคบกพร่องทางสติปัญญา ขาดทักษะการเรียนรู้ มีพัฒนาการด้านการพูดช้า เรียนรู้ศัพท์ใหม่บางคำได้ช้า มีปัญหาด้านการจำและการเขียนตัวอักษร ถ้าเด็กมีระดับความผิดปกติในระดับรุนแรง อาจมีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติประมาณ 2 ชั้นเรียน โรคดังกล่าวเกิดในเด็กชายมากกว่าในเด็กหญิงประมาณ 3-4 เท่า

2.3 เด็กที่ติดตามมากับพ่อแม่ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว หรือเด็กชาติพันธุ์ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เช่นเดียวกับเด็กชาวไทยภูเขาไม่ได้พูดหรือใช้ภาษาไทยขณะอยู่ที่บ้าน

2.4 วิธีการสอนของครูไม่สามารถทำให้เด็กอ่านออกได้ เช่น ขาดความชำนาญและประสบการณ์ในการสอนภาษาไทย หรือบางโรงเรียนขาดครูสอนภาษาไทยโดยเฉพาะ นอกจากนั้นครูมีจำนวนน้อย หรือบางโรงเรียนขาดครูสอน

2.5 เด็กไทยไม่ได้รับการปลูกฝังที่ดีให้มีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก จากการสำรวจพบว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 2 เล่ม คนสิงคโปร์วันละ 45 เล่ม และคนเวียดนามวันละ 60 เล่ม

2.6 เด็กไทยสนใจสิ่งอื่นๆ มากกว่าการอ่าน เช่น โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต วิดีโอเกม เล่นไลน์ เป็นต้น

2.7 เนื้อหาวิชาในหลักสูตรไม่เหมาะสมกับการเรียนรู้และวัยของนักเรียน

2.8 นโยบายไม่ให้เด็กเรียนซ้ำชั้น ทำให้เด็กเรียนอ่อนเลื่อนไปเรียนชั้นสูง ทั้งๆ ที่อ่านไม่ออก เขียนก็ไม่ได้

2.9 ผู้ปกครองบางคนทำงานจนลืมลูก ไม่มีเวลาสอนการบ้านและไม่ฝึกการอ่านการเขียนที่บ้านแก่ลูก มอบภาระแก่ครู หรือครูสอนพิเศษ หรือการกวดวิชา

2.10 หลักการสอนภาษาไทยสมัยใหม่ ไม่นิยมสอนแจกลูก-สะกด เช่น "เรียน" = เอ-รอ-อี-ยอ-นอ = เรียน แสดงว่าครูไม่สอนแจกลูก-สะกดคำ และผันเสียง


3.วิธีการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก

3.1 วิธีการแก้ปัญหาโดยทั่วไป

3.1.1 จัดตั้งคลินิกหมอภาษาขึ้นในโรงเรียน โดยครูสาระวิชาภาษาไทยเป็นเจ้าภาพ คัดกรองนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มาเยียวยา บันทึกผลการสอนแต่ละครั้งไว้

3.1.2 ครู ผู้ปกครองร่วมกับศึกษานิเทศก์ช่วยกันพัฒนาวิธีการสอน อุปกรณ์และสื่อการสอน ทั้งนี้ ผู้ปกครองจะต้องได้รับการอบรมวิธีการสอนภาษาไทยจากศึกษานิเทศก์และครู จนสามารถเป็นผู้ช่วยครูสอนภาษาไทยแก่นักเรียนได้

3.1.3 จัดให้มีห้องสมุดโรงเรียนตามความเหมาะสมและสภาพของโรงเรียน รณรงค์ให้นักเรียนอ่านหนังสือในห้องสมุดโรงเรียนวันละ 30 นาที

3.1.4 ทางราชการบรรจุครูไปสอนในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู หากเป็นไปได้บรรจุครูที่เรียนวิชาเอกภาษาไทยไปสอนโรงเรียนขนาดเล็ก

3.2 วิธีการแก้ปัญหาโดยวิธีแจกลูก-สะกด-ผันเสียง ซึ่งวิธีการนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำแบบเรียนเร็วใหม่สำหรับนักเรียน ป.1 - ป.3 โดยวิธีสอนภาษาไทยในรูปแบบการแจกลูก-สะกดคำให้โรงเรียนต่างๆ ไปใช้เป็นแนวทางการสอนแล้ว วิธีการสอนที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้ เขียนจากประสบการณ์ของตนเอง รวมกับการค้นคว้าจากแหล่งอื่นๆ อาจจะไม่เหมือนกับของ สพฐ.ก็เป็นได้ ซึ่งวิธีการสอนแบบการแจกลูก-สะกด มีดังต่อไปนี้

3.2.1 การแจกลูก หมายถึง การเทียบเสียงเริ่มต้นจากการสอนให้เด็กจำและออกเสียงคำ แล้วนำรูปคำซึ่งเปรียบเสมือนแม่มากระจายหรือแจกลูก โดยการเปลี่ยนสระหรือเปลี่ยนพยัญชนะต้น หรือเปลี่ยนพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) ซึ่งมีวิธีการดังนี้

1) ยึดพยัญชนะต้นเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนรูปสระ เช่น

กะ กา กิ กี กึ กื กุ กู โกะ โก

2) ยึดสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น

กา ขา คา งา ตา นา พา มา วา

3) ยึดสระและตัวสะกดเป็นหลัก เช่น

กาง ขาง คาง งาง ตาง นาง พาง มาง วาง

4) ยึดพยัญชนะต้นและสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนตัวสะกด เช่น

คาก คาง คาด คาน คาบ คาย คาว

3.2.2 การสะกดคำ หมายถึง การอ่านโดยนำพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกดมาประสมเป็นคำอ่าน ซึ่งต้องให้เด็กผันพยัญชนะรวมกับสระ แล้วนำมาผสมกับตัวสะกดให้ได้ เช่น

1) สะกดตัวควบพร้อมกัน มุ่งเพื่อออกเสียงคำควบกล้ำ เช่น

กลอง สะกดว่า กลอ-ออ-งอ (กลอง)

พลาง สะกดว่า พลา-อา-งอ (พลาง)

ปราง สะกดว่า ปรา-อา-งอ (ปราง)

กวาง สะกดว่า กวอ-อา-งอ (กวาง)

2) อ่านอักษรนำแล้วจึงสะกด มุ่งเพื่อออกเสียงคำให้ถูกต้อง เช่น

อยาก สะกดว่า หยอ-อา = หยา หยา-กอ = อยาก

หนาก สะกดว่า หนอ-อา = หนา หนา-กอ = หนาก

หมาก สะกดว่า หมอ-อา = หมา หมา-กอ = หมาก

3) คำที่เป็นสระลดรูปหรือสระเปลี่ยนรูป สะกดได้ดังนี้

คน สะกดว่า คอ-โอะ = โคะ+นอ คน (โ-อะ ลดรูป)

เค็ม สะกดว่า คอ-เอะ = เคะ+มอ เค็ม


ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook