เผย"10 อาชีพวิทยาศาสตร์" ประเทศไทยขาดแคลนหนัก ถึงขั้นนำเข้าจากต่างประเทศ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จัดคาราวานสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเรียนวิทย์ฯ เผย 10 อาชีพขาดแคลนหนัก ถึงขั้นนำเข้าจากต่างประเทศ เหตุคนไทยไม่รู้ มีอาชีพแบบนี้ด้วย
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาประเทศ แต่มีงานหลายสาขามากที่ประเทศยังขาดแคลนบุคลากรที่จะเข้ามาทำงาน ยังต้องใช้บุคลากรจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้คนไทยขาดโอกาสทั้งการเรียนรู้ในสาขางานนั้นๆ และการพัฒนางานในอนาคต นอกจากนี้มีวิชาด้านวิทยาศาสตร์หลายสาขาที่เปิดให้มีการเรียนการสอน แต่นักศึกษาไม่ตัดสินใจที่จะเข้าไปเรียน เพราะเรียนแล้วไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร หรือกระทั่งจบออกมาแล้วก็ไม่รู้จะไปทำอะไร เช่น เรียนสาขาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ก็ไปเป็นครู ทั้งๆ ที่มีงานอื่นที่ขาดแคลนและเด็กเหล่านี้ไม่รู้อีกมากมาย
"อพวช. จึงร่วมมือกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กำลังจะมีนิทรรศการภายใต้โครงการ ′Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต′ นำเสนอ 10 อาชีพที่เกี่ยวข้องกับทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ที่สังคมอาจจะไม่รู้จัก แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 1.นักคิดค้นยา หรือนักเคมีปรุงยา ที่บ้านเราขาดแคลนอย่างหนัก ทั้งๆ ที่เราผลิตยาปีละนับแสนล้านเม็ด 2.นักธรณีวิทยาปิโตเลียม โดยเวลานี้บุคลากรส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ 3.นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร 4.นักวิทยาศาสตร์ด้านเครื่องสำอาง 5.นักนิติวิทยาศาสตร์ 6.นักปรับปรุงพันธุ์พืช 7.นักออกแบบผลิตภัณฑ์ 9.นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และ 10.นักออกแบบและสร้างภาพเคลื่อนไหว" อาชีพเหล่านี้หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีในประเทศไทย" นายสาคร กล่าว
รักษาการผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่า นอกจาก 10 อาชีพที่กล่าวมากแล้ว งานด้านวิทยาศาสตร์ที่เด็กไทยจะต้องทราบว่ามีอาชีพแบบนี้อยู่ ละยังขาดแคลนคนทำจำนวนมาก เช่น งานที่ต้องทำเกี่ยวกับการขนส่งระบบราง วิศกรรมทางด้านราง และระบบความเร็วของรถ เพราะในอนาคต ประเทศไทยกำลังจะพัฒนาระบบราง ต้องการบุคลากรด้านนี้จำนวนมาก หรืออาชีพเกษตรกร ที่เรียกว่าเกษตรสั่งตัด คือนักวางแผนการปลูกพืชแบบเตรียมการรองรับทุกระบบ ทั้งเรื่องพื้นที่ ดิน ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว ตลาด และการจำหน่าย
"ตัวนิทรรศการที่เราจัดนั้น จะจัดพร้อมกับการนำเอาตัวบุคคลที่อยู่ในอาชีพนั้นจริงๆ ไปบอกกล่าว เล่าเรื่องให้เด็กที่มาชมนิทรรศการได้รับรู้ว่างานที่พวกเขาทำนั้นทำอะไรบ้าง สำคัญอย่างไร สนุกสนานและมีอะไรท้าทายความสามารถบ้าง โดยคาราวานวิทยาศาสตร์นั้น อพวช.จะจัดให้มีขึ้นทั่วประเทศตลอดทั้งปี 2559 จุดประสงค์สำคัญคือ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เพื่อมาเรียนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาที่ประเทศชาติกำลังขาดแคลนอย่างหนักเวลานี้" นายสาครกล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์