รร.กวดวิชาชะลอตัวเหตุอัตราเกิดต่ำ-ศก.ซบ ข้อสอบยาก เด็กท้อ !!
สถาบันกวดวิชา เผยยอดเด็กกวดวิชาลด เพราะอัตราการเกิดของไทยต่ำ และเศรษฐกิจซบเซา โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดยอดลดเห็นได้ชัด สถาบันต้องปรับเปิดหลักสูตรใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย
นายสุธี อัสววิมล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ กล่าวว่า ตลาดสถาบันกวดวิชานั้นพบว่ายังคงมีการแข่งขันที่สูง เนื่องจากจำนวนผู้เรียนมีจำกัดและลดลงทุกปี เพราะคนไทยนิยมมีลูกกันน้อยลง ในตลาดจึงมีการปรับตัวเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกที่หลากหลาย โดยมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี 2558 ไว้ที่ประมาณ 8,189 ล้านบาท โตจากร้อยละ 6.8 จากในปี 2557 โดยในปีที่แล้วส่วนของออนดีมานด์โตขึ้น 10-20% แต่คาดว่าในปีนี้จะโตขึ้นเพียง 10% ถึงแม้จะมีการเปิดหลักสูตรเพิ่ม แต่กว่าจะได้หลักสูตรหนึ่งจะเห็นผลก็ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี บวกกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะมีเปอร์เซ็นต์เด็กเกิดใหม่น้อยลง ทำให้ตลาดโรงเรียนกวดวิชาเล็กลงไปอีก
"เราพบว่า ตลาดต่างจังหวัดมีการเติบโตลดลง ด้วยเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างที่ทราบกัน เมื่อผู้ปกครองไม่มีเงินส่งเสีย เด็กหลายคนก็ไม่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาด้วยซ้ำ และอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ความยากของการสอบ จากการที่ได้มีโอกาสคุย มีเด็กหลายคนเลือกที่จะไม่สอบเข้าหลายๆ คณะเพราะความยาก อย่างคณะแพทย์มหิดล เป็นเด็กใน กทม.ไปแล้วกว่าครึ่ง การท้อตั้งแต่ยังไม่เริ่มของเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทางออนดีมานด์กำลังศึกษาอยู่"
นายสุธีกล่าวต่อว่า สำหรับออนดีมานด์ได้ปรับตัวด้วยการพัฒนาสื่อ จากแต่ก่อนโรงเรียนกวดวิชาจะให้เด็กเรียนกับ DVD แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับตัวเด็กได้เมื่อเรียนเสร็จ ก็สามารถวัดผลได้เลย ส่วนราคาค่าเรียนที่เริ่มต้น 60-70 บาทต่อชั่วโมง ก็เป็นส่วนที่จะดึงดูดให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากช่วงที่ผ่านมาการลดราคา เปิดการเรียนออกเป็นคอร์สๆ ตามที่ผู้เรียนต้องการ ได้รับกระแสตอบรับจากตลาดต่างจังหวัดเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเปิดหลักสูตรสำหรับระดับประถมและนานาชาติ เพื่อตอบรับของระบบการศึกษายุคใหม่ที่เน้นความเป็นนานาชาติมากขึ้น.
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.unigang.com/