ชี้ 3 เรื่องวัยรุ่นโดนแม่บ่น เชื่อคำเตือนแม่ทำให้ชีวิตสำเร็จได้

ชี้ 3 เรื่องวัยรุ่นโดนแม่บ่น เชื่อคำเตือนแม่ทำให้ชีวิตสำเร็จได้

ชี้ 3 เรื่องวัยรุ่นโดนแม่บ่น เชื่อคำเตือนแม่ทำให้ชีวิตสำเร็จได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โพลล์ระบุ การใช้เงินฟุ่มเฟือย การไม่รักษาความเรียบร้อยในห้องนอน และการไม่อยู่ติดบ้าน คือ 3 เรื่องที่กลุ่มวัยรุ่นถูกแม่ตักเตือนมากที่สุด ร้อยละ 72.14 เชื่อว่าการตักเตือนของคุณแม่ทำให้ประสบความสำเร็จในสังคมได้

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 ถึง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,163 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคมซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเป็นวันแม่แห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณของแม่ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกจนเติบใหญ่ รวมทั้งเพื่อสร้างความตระหนักถึงความรักและความห่วงใหญ่ที่แม่มีให้กับลูกอย่างประมาณค่ามิได้

ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ลูกๆส่วนใหญ่เคยได้รับจากคุณแม่คือการถูกว่ากล่าวตักเตือนเมื่อกระทำความผิดหรือกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการว่ากล่าวตักเตือนให้ปฏิบัติตนไปในทางที่ถูกที่ควรเพื่อให้สามารถเติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม โดยย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าการว่ากล่าวตักเตือนเหล่านั้นล้วนเกิดจากความรักความห่วงใยที่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคนดี แต่อย่างไรก็ตามลูกๆบางส่วนโดยเฉพาะที่อยู่ในวัยรุ่นอาจยังไม่เข้าใจถึงความรักความห่วงใยของแม่และเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายรำคาญขึ้นได้ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในสังคมโดยเฉพาะตัวผู้ปกครองเองต้องให้ความสนใจและทำความเข้าใจเพื่อหาทางแก้ไขให้เกิดความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย

ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2559 สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 50.82 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 49.18 เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 15 ถึง 25 ปี สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับเรื่องที่กลุ่มตัวอย่างถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ การใช้เงินฟุ่มเฟือยไม่รู้จักเก็บออมคิดเป็นร้อยละ 87.7 การไม่รักษาความสะอาดเรียบร้อยในห้องนอน/เตียงนอนคิดเป็นร้อยละ 86.07 การไม่อยู่ติดบ้าน/การติดเพื่อนคิดเป็นร้อยละ 83.75 การกลับบ้านไม่ตรงเวลา/กลับบ้านดึกคิดเป็นร้อยละ 81.6 และการนอนดึกตื่นสายคิดเป็นร้อยละ 79.36 อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.68 ยอมรับว่าตนเองมีพฤติกรรมในเรื่องที่ถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนจริงทุกเรื่อง รองลงมายอมรับว่ามีพฤติกรรมจริงเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 25.11 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.48 ระบุว่ามีพฤติกรรมจริงประมาณครึ่งหนึ่ง และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.19 ยอมรับว่าตนเองเคยถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง ภายในรอบ 1 สัปดาห์เป็นประจำ

ในด้านความรู้สึกต่อการถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.63 ยอมรับว่าตนเองเคยรู้สึกโกรธ/ไม่พอใจเวลาถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.20 ระบุว่าตนเองไม่เคยรู้สึกโกรธเลย อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.17 ที่ยอมรับว่าเคยรู้สึกเป็นประจำ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.56 ระบุว่าตนเองเคยรู้สึกเบื่อหน่าย/รำคาญเวลาถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.14 ระบุว่าตนเองไม่เคยรู้สึกเลย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.3 ยอมรับว่าตนเองเคยรู้สึกเบื่อหน่าย/รำคาญเป็นประจำ

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.83 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกเสียใจเมื่อไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมในเรื่องที่ถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.96 เชื่อว่าหากตนตั้งใจปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่ถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนอย่างจริงจังตนเองจะสามารถทำสำเร็จได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.63 มีความคิดเห็นว่าการว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องต่างๆของคุณแม่จะมีส่วนทำให้ตนเองกลายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมในอนาคตได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.14 มีความคิดเห็นว่าการว่ากล่าวตักเตือนของคุณแม่ในเรื่องต่างๆจะมีส่วนทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน/การเรียนได้ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.28 มีความคิดเห็นว่าการถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องต่างๆจะไม่มีส่วนทำให้ตนเองไม่อยากอยู่ใกล้ชิดกับคุณแม่

สำหรับพฤติกรรมการปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่คุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 43.42 ยอมรับว่าตนเองสามารถปรับปรุงแก้ไขในเรื่องที่ถูกคุณแม่ว่ากล่าวตักเตือนให้ดีขึ้นได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.03 และร้อยละ 18.74 ระบุว่าตนเองสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้มากกว่าครึ่งหนึ่งและสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในทุกเรื่องเลยตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.14 ยอมรับว่าตนเองสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และร้อยละ 2.67 ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในทุกเรื่องเลย ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook