6 สาเหตุที่บัณฑิตจบใหม่หางานทำได้ยาก
ปัจจุบันมีบัณฑิตจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนหลายแสนคนต่อปี ในขณะที่ตำแหน่งงานนั้นไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะรองรับได้ทุกคน ทำให้อัตราการแข่งขันในตลาดแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการที่คนหางานมีจำนวนมากกว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ทำให้องค์กรต่างๆ มีโอกาสที่จะเลือกคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งและองค์กรมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันในตลาดแรงงานไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้บัณฑิตจบใหม่หางานทำได้ยาก JobThai.com จึงอยากนำเสนอถึงสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้บัณฑิตจบใหม่นั้นหางานไม่ได้เสียที
ไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน
บัณฑิตจบใหม่หลายคนใช้เวลาช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยไปกับการเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว หรือบางคนก็เรียนแค่ให้ผ่านไปในแต่ละปี และใช้เวลาว่างไปกับการเที่ยวเล่น เพราะมั่นใจว่าใบปริญญาจะช่วยให้พวกเขามีงานทำแน่นอน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หลายตำแหน่งงานในหลายบริษัทมักจะต้องการคนที่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ซึ่งหากคุณไม่มีประสบการณ์การทำงานเลย ก็อาจเป็นเรื่องยากที่คุณจะได้งาน
การทำงานพาร์ทไทม์หรือฝึกงานในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก มันอาจไม่ใช่งานที่ตรงกับงานที่คุณอยากทำเมื่อจบการศึกษา แต่อย่างน้อยคุณก็จะมีประสบการณ์ในการทำงานบ้าง อย่างไรก็ตามหากคุณไม่มีโอกาสได้ทำงานในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยคุณได้ก็คือการยอมทำงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องเคยมีประสบการณ์ทำงานไปก่อน นอกจากจะทำให้คุณมีประสบการณ์การทำงานแล้ว คุณยังจะได้รับความรู้ใหม่ๆ อีกด้วย
ไม่มีทักษะหรือความสามารถที่โดดเด่น
หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้งานก็คือ ไม่มีทักษะหรือความสามารถที่เพียงพอและเหมาะสมกับตำแหน่งที่สมัครไปรวมถึงไม่มีอะไรที่โดดเด่นแตกต่างจากคนอื่นๆ มากพอที่จะทำให้บริษัทเกิดความสนใจ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าใบปริญญาไม่ใช่สิ่งที่สามารถรับประกันว่าคุณจะได้งานทำ ลองหาเวลาพิจารณาทบทวนดูว่าอะไรคือทักษะ และคุณสมบัติที่โดดเด่นของคุณ คำตอบที่ได้นอกจากจะนำไปเขียนลงในเรซูเม่ได้แล้ว ยังอาจนำมาใช้ตอบเมื่อคุณถูกเรียกไปสัมภาษณ์งานได้อีกด้วย นอกจากทักษะความสามารถที่จำเป็นในแต่ละสายอาชีพแล้ว ทักษะสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าอาชีพหรือคนทำงานในตำแหน่งควรจะมีก็คือทักษะการเข้าสังคม และการสื่อสารรวมไปถึงทัศนคติของผู้ที่มาสัมภาษณ์ด้วย
รู้จักคนน้อย
อย่าละเลยการเข้าสังคม และรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวให้ดีอยู่เสมอ เพราะหลายคนได้งานทำผ่านการแนะนำจากคนรู้จัก เพื่อน คนในครอบครัว หรือคนที่เคยฝึกงานด้วยขณะที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการฝากเข้าทำงานโดยใช้เส้นสาย แต่หมายถึงการที่คนรอบตัวแนะนำตำแหน่งงานต่างๆ ในบริษัทของพวกเขาที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ หรือเป็นบุคคลอ้างอิงให้กับคุณ หากคุณสมัครงานในบริษัทที่มีคนที่คุณรู้จักทำงานอยู่ และเขาเป็นบุคคลที่คนในบริษัทให้ความเชื่อถือ การขอให้เขาเป็นบุคคลอ้างอิงให้ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสการได้งานของคุณได้ แต่กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณมีคุณสมบัติที่เหมาะสมจริงๆ เพราะหากคุณทำงานได้ไม่ดี ก็จะส่งผลเสียถึงคนที่แนะนำคุณด้วย
เรซูเม่และจดหมายสมัครงานไม่น่าสนใจ
เรซูเม่และจดหมายสมัครงานเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้บริษัทได้รู้จักกับผู้สมัคร และเป็นตัวตัดสินว่าเขาจะเรียกคุณไปสัมภาษณ์งานหรือไม่ คุณจึงควรศึกษาวิธีการเขียนจดหมายสมัครงานที่มีประสิทธิภาพ และสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการเขียนเรซูเม่ให้ดี แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม เมื่อเขียนเอกสารทั้งสองอย่างเสร็จแล้ว ก็อาจลองนำไปให้เพื่อน หรือคนที่มีประสบการณ์ช่วยตรวจดูให้อีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเรซูเม่และจดหมายสมัครงานของคุณนั้นสมบูรณ์ที่สุดแล้ว
ขาดทักษะในการสัมภาษณ์งาน
การสัมภาษณ์เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกใครสักคนเข้ามาทำงาน และขั้นตอนนี้เองที่ทำให้ใครหลายคนพลาดโอกาสที่จะได้งาน เพราะไม่มีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะไปสัมภาษณ์งาน เช่น ไม่ศึกษาข้อมูลองค์กร ไม่ศึกษาเส้นทางการเดินทาง และไม่ฝึกตอบคำถามสัมภาษณ์งาน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อถูกเรียกให้ไปสัมภาษณ์งาน คุณควรจะหาข้อมูลว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ และอะไรคือสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำในการสัมภาษณ์งานด้วย
ไม่ติดตามผลการสมัครงาน หรือ ยอมแพ้ง่ายๆ
ถ้าคุณส่งเรซูเม่ไปสมัครงานหรือไปสัมภาษณ์แล้วไม่ได้รับการติดต่อกลับ หรือแจ้งผลการสัมภาษณ์ ก็อย่าลังเลที่จะส่งอีเมลหรือโทรศัพท์ไปสอบถาม เพราะบางครั้งอาจเกิดความผิดพลาดอะไรบางอย่างขึ้น เช่น บริษัทไม่ได้รับอีเมลที่ส่งไปสมัครงาน หรือลืมติดต่อกลับมาแจ้งผล นอกจากนั้นในกรณีที่คุณสมัครงานและไปสัมภาษณ์หลายที่แล้ว แต่ยังไม่ได้งานเสียทีก็อย่าเพิ่งท้อ ยอมแพ้ และเอาแต่โทษสิ่งรอบข้าง แต่ให้ลองมองหาจุดบกพร่องของตัวเองและพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นแทน
โดย JobThai.com
รูปจาก istockphoto.com