"ซื่อสัตย์กับความรู้สึก" ป่าน-ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์
ความคิดของป่านเรื่องงานเขียนและการเขียนที่ซื่อสัตย์กับความคิด ความรู้สึกของตัวเอง
แม้จะเคยเขียนมาหลากหลาย ทั้งวรรณกรรม ความเรียง บทความ บันทึกเดินทาง ทว่าป่านบอกกับเราตามตรงว่ายังไม่ได้คิดว่าตัวเองถนัดด้านไหนเป็นพิเศษ และเธอยังอยากลองทำงานทุกแนว บ่ายวันฝนพรำๆ GM จึงเดินทางมาพบและพูดคุยกับเธอ
"คิดว่าไม่เกินอายุ 30 คงได้รู้ แต่ที่จริงป่านชอบเรื่องสั้น นวนิยาย เพราะเราเสพเรื่องสั้นเยอะสุดนะในบรรดางานเขียน แต่หลังๆ ไม่มีเวลา ก็รู้สึกว่าเรื่องสั้นตอบโจทย์ ป่านชอบงานของคุณสุวรรณีสุคนธา เล่มที่เพิ่งอ่าน งูร้องไห้ ดอกไม้ยิ้ม เพราะส่วนมากคุณสุวรรณีจะเขียนนวนิยาย แต่พอได้อ่านเรื่องสั้น รู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เท่มาก เขียนเรื่องความรักที่บางคนอาจจะมองว่าเพ้อๆ แต่ป่านอ่านแล้วรู้สึกเท่ดี ไม่ได้มีแค่ความรักหนุ่มสาว ในนั้นมีแง่มุมของชีวิตที่ป่านรู้สึกว่าโตแล้วอยากเข้าใจอะไรได้แบบเขาจัง"
ป่านขยายความเท่ในเรื่องสั้นว่าหมายถึงเรื่องสั้นที่เปลือยความคิด ไม่หลบซ่อนจากผู้อ่าน ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องคิด ตีความให้เยอะเกินไป
"เว้นพื้นที่ให้คนอ่านตีความก็ดีนะ แต่ป่านชอบเรื่องสั้นของคุณสุวรรณีที่คิดยังไงก็พูด ชวนให้เราคิดต่อได้อีกว่า ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ สมมุติเขาคิดแบบนั้น เป็นผู้หญิงซับซ้อนดี"
การได้เปลือยความคิดในงานของคนอื่น ป่านมองว่าสิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เธอได้กลับมาคิดถึงตัวเอง
"เปลือยความคิดในที่นี้อาจหมายถึง เขายอมรับว่าเขาเศร้า เขายอมรับว่าเขาขี้แพ้ เขายอมรับว่าอ่อนแอ เราก็รู้สึกว่าจริงๆ ลึกๆ เราก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่เราไม่กล้าพูดออกมาให้เป็นรูปธรรม พอได้อ่าน ป่านรู้สึกว่าเหมือนเขาพูดแทนเรา ถ้าเจอเรื่องที่มันใช่"
ในส่วนงานเขียนของเธอเอง ป่านบอกว่าไม่ถึงกับเปลือยออกมามากนัก เพราะงานของเธอมักเป็นการหยิบคนรอบตัวมาตีความแล้วสร้างตัวละครขึ้นมา
"ถ้าเพื่อนที่รู้จักอ่าน จะรู้เลยว่าป่านหยิบอะไรมาจากใครบ้าง หยิบดึงคาแรคเตอร์ ยืมมาใช้แล้วเราเอามาขยายต่อ บางงานอย่าง Lost in Conversation เราคิดเป็นคอนเซ็ปต์ อาจไม่ได้เรียกเป็นเรื่องสั้น เพราะมันเป็นสองหน้าสองฝั่งความคิด คู่หนึ่งก็จะมีหนึ่งคู่ความสัมพันธ์"
จุดเริ่มต้นการอ่านของป่านมาจากพ่อที่เป็นหนอนหนังสือ ป่านเล่าหนังสือทุกเล่มของเธอ พ่อเอาไปอ่านแล้วส่งคอมเมนต์กลับมาให้เหมือนเป็นบรรณาธิการเลย
"บางเล่มแกคอมเมนต์ว่าอาจจะเป็นมุมมองของวัยรุ่นที่พ่อเข้าใจในบางมุมอาจไม่เข้าใจ หรือมีบางเรื่องที่หยิบเรื่องของผู้ใหญ่มา แกก็จะบอกว่าเราหาข้อมูลดีหรือยัง ทำไมคิดว่าผู้ใหญ่คิดแบบนี้ ในแง่ภาษาด้วย เล่มที่ 2 The Monster Piece จะเป็นคล้ายๆ นิทานเรื่องสั้นอีกโลกหนึ่งเลยที่ป่านจินตนาการขึ้นมาเอง พ่อก็บอกว่ามันยังมีจุดไม่สมจริง ชำแหละมาก"
เธอยิ้มเล่าถึงบรรณาธิการในนามของพ่ออย่างสนุกสนาน
GM ตั้งข้อสังเกตกับเธอว่าทุกวันนี้ชีวิตดูเหมือนลงตัว เป็นนักเขียน เดินทางท่องเที่ยว เป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่านและสร้างงานได้ต่อเนื่อง ป่านยอมรับว่าพอใจ แต่ก็ตั้งคำถามในการมาถึงอันรวดเร็ว
"มันมาเร็วกว่าที่คิด ป่านคิดมาตลอดว่าอยากเป็นนักเขียน มีค่ายนักเขียนก็ไป เปิดฝึกงานนิตยสารอะไรแบบนี้เราก็ไป คิดตอนเรียนตั้งใจว่าอย่างน้อยต้องมีหนังสือ 1 เล่มนะ ได้ทำงานนิตยสาร แล้วก็ได้ทำไปหมดแล้วตอนนี้ ถามว่าพอใจไหม ก็ยังหรอก เพราะแค่ได้ทำ แต่คุณภาพไม่ได้เท่าที่เราคิดไว้ ป่านอยากโตไปเรื่อยๆ คิดว่าจะเขียนไปเรื่อยๆ แต่อยากเว้นช่วงไม่ออกถี่แบบช่วงแรก เพราะช่วงแรกเราตื่นเต้นว่าออกได้นี่ ก็ออกสิ แต่พอเจอเดดไลน์แล้ว เราเสียดายที่ไม่ได้ให้เวลากับงานเยอะเท่าที่ควรจะเป็น เพราะเรามัวแต่ตื่นเต้นว่าเราอยากออกหนังสือ พอ 3 เล่มแล้วป่านรู้สึกพอ กลับไปเขียนสะสมดีกว่า พร้อมเมื่อไหร่ค่อยมาเสนอ"
ถึงแม้ว่าเดดไลน์กับนักเขียนเป็นของคู่กัน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น ในมุมมองของป่าน นักเขียนที่ดีควรมีความซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง
"ป่านชอบของจิระ-เบลล์ (จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์) งานเขียนเขาละมุนละไม ชอบวิธีการทำงานของเขามาก เขาแบบปิดเล่มงานของตัวเองเสร็จ จะรีบมาที่ออฟฟิศเพื่อมาอ่านต้นฉบับของตัวเองอีกครั้ง พอป่านทำงานกับนักเขียนสายนี้แล้ว มีน้อยคนที่อยากกลับมาอ่านทวนงาน ดูรายละเอียดของตัวเองเพื่อที่จะกรองว่าภาษาควรใช้ยังไง ดูในแง่ของคำเลย ว่าคำนี้เราใช้อีกคำเลยแล้วมันจะดีกว่าไหม แล้วป่าน Edit งานพี่เบลล์จะแช็ตถามเขาตลอดเลยว่า พี่เบลล์ ป่านเปลี่ยนเป็นคำนี้ได้ไหม บางคำก็ได้ แต่บางคำพี่ขอไปดูแปปนึง คือชอบ รู้สึกว่าอันนี้เป็นนักเขียนที่ดีแล้วใส่ใจรายละเอียดในเล่มของตัวเอง เอาในวัยเด็ก วัยเรา ของผู้ใหญ่ไม่กล้าแตะ เขาไม่รู้เหมือนกัน"
ก่อนแยกย้าย GM ทิ้งคำถามเกี่ยวกับความเติบโตให้กับนักเขียนที่บันทึกอายุและความคิดอยู่เสมอ อะไรกันคือสิ่งที่ทำให้นักเขียนสาวอย่างเธอได้เรียนรู้และเติบโต
"การทำงาน การใช้ชีวิต การลงมือทำสิ่งที่เราอยากโตกับมัน"
เมื่อไหร่ คิดว่าเมื่อไหร่ที่ตนเองจะเติบโต GM ถามเพิ่ม
"ไม่รู้เลย อาจต้องรอดูตอนอายุ 30 อีกที" ป่านยิ้มกล่าวด้วยวัยยี่สิบต้นๆ
T : กตัญญู สว่างศรี P : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
เรื่องจาก : gmlive