"บูมเมอแรง คิดส์" นิยามหนุ่มสาวอเมริกันรุ่นใหม่มุ่งหน้ากลับไปอยู่บ้านหลังจบมหาวิทยาลัย
รายงานของ Pew Research Center เมื่อเกือบสามปีที่แล้ว ระบุว่า ราวๆ หนึ่งในสามของของหนุ่มสาวอเมริกันวัยระหว่าง 18-24 ปี ยังอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 เป็นต้นมา
อีกราวๆ หนึ่งในสามอาจจะแต่งงานหรืออยู่กับคนที่ถูกใจ ที่เหลือยังอยู่หอพัก เช่าบ้านอยู่รวมกับเพื่อน หรืออยู่คนเดียว
สังคมอเมริกันเรียกลูกๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่ เรียนหนังสือจบแล้ว หรืออาจจะมีงานทำบ้างแล้วก็ได้ แต่ยังอยู่กับพ่อแม่เหล่านี้ ว่า “boomerang kids” เหมือนกับบูมเมอแรงที่ขว้างออกไปแล้วจะร่อนกลับหาตัวผู้ขว้างได้
โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าคนรุ่นนี้กำลังเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับคนเหล่านี้ไม่พอที่จะอยู่กินและไม่สามารถเก็บเงินไว้ซื้อบ้านเองได้เหมือนคนรุ่นก่อนๆ
การที่ลูกซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่ หรือยังไม่ย้ายออกไปหาที่อยู่ของตนเอง ให้ผลทั้งเชิงบวกและลบ
Pavel Marceaux ผู้เชี่ยวชาญด้านครัวเรือนของบริษัทวิจัยการตลาด Euromonitor International บอกว่า การย้ายกลับบ้านหรือยังไม่ย้ายออกไปเมื่อเริ่มทำงาน เป็นการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจที่ดี ให้โอกาสที่จะเก็บออมเงินสำหรับวางดาวน์บ้านหรือที่อยู่ของตนเองได้
และผลพลอยได้สำหรับพ่อแม่คืออาจจะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทันสมัยจากลูกได้
แต่ที่อาจจะเป็นปัญหาได้ คือปัญหาลอจิสติก เช่นจะแบ่งปันที่จอดรถกันอย่างไร คนที่ต้องทำงานแต่เช้าจึงจะสามารถออกรถได้โดยไม่ต้องมีการย้ายรถ เป็นต้น
พ่อแม่บางรายยินดีให้ความช่วยเหลือลูกเริ่มต้นชีวิต เช่น แม้ลูกอาจจะเรียนจบแล้วแต่อยากจะเรียนต่ออีก หรือบางคนอย่าง Damon Casarez ซี่งแม้จะอายุ 29 ปีแล้ว และมีงานเป็นช่างภาพอิสระ โดยมีลูกค้ารายใหญ่ๆ อย่างนิตยสาร Variety และ The Hollywood Reporter ก็ยังต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ เพราะอยากจะเรียนในมหาวิทยาลัยที่พ่อของเขาใฝ่ฝันอยากจะเรียนแต่ไม่มีโอกาส คือ Art Center College of Design
ปัญหาก็คือ Damon ต้องกู้เงินเพื่อเรียนหนังสือ และเมื่อจบออกมา เขาจะมีหนี้ที่จะต้องใช้สูงถึง 120,000 ดอลลาร์ แต่อย่างน้อย ดูเหมือนว่าเขาจะสามารถเอาดีได้ในงานช่างภาพ เพราะได้รับยกย่องจากนิตยสารวงการช่างภาพปีที่แล้วว่า เป็นหนึ่งในดาวรุ่งที่กำลังเกิด
แต่จิตแพทย์หญิง Melissa Deuter ที่เมือง San Antonio รัฐเท็กซัส ซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องสุขภาพจิตของคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ให้ความเห็นว่า พ่อแม่สมัยนี้ไม่ได้เตรียมตัวลูกอย่างเพียงพอ สำหรับภาระความรับผิดชอบในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เพราะฉะนั้น สังคมจึงมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงแต่เข้ากับวัฒนธรรมของสถานที่ทำงานไม่ได้เท่านั้น แต่ไม่ชอบเอาเลย
ที่มา : voathai