เบื่อสิว! มารับมือกับ สิว อย่างเข้าใจ
ปัญหาผิวที่ทุกคนต้องพบเจอไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชาย นั่นก็คือ “สิว” ที่เป็นกันมากส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น แต่ก็มีหลายคนที่เลยวัยรุ่นมาแล้ว ก็ยังมีปัญหาสิวอยู่ เรามารู้จักและเข้าใจสิว เพื่อหาวิธีลดสาเหตุการเกิดสิวได้ตรงจุดกันดีกว่า
ร้อยละ 80 ของผู้ที่เป็นสิวนั้น พบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้บ่งบอกการก้าวเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาว ในเด็กผู้หญิงจะเริ่มมีสิวก่อนมีประจำเดือนครั้งแรกประมาณ 1 ปี ช่วงชีวิตที่เป็นสิวได้สูงสุดคือช่วงวัยรุ่นตอนกลางจนถึงช่วงปลาย และอาการดีขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชากรส่วนหนึ่ง โดยมากเป็นเพศหญิงจะยังคงมีสิวแม้ว่าอายุมากกว่า 30 ปี และเป็นต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 40 ปี
สิวพบมากในปริมาณที่มีต่อมไขมันอยู่หนาแน่น เช่น บริเวณใบหน้า รองลงมาจะเป็นแผ่นหลัง และหน้าอก ลักษณะเป็นตุ่มสิวอุดตัน (Comedone) และสิวอักเสบเป็นตุ่มนูนแดง, ตุ่มหนอง, ถุงน้ำ (Cysts) เมื่อสิวหายแล้ว อาจจะพบรอยแดง รอยดำ และรอยแผลเป็นจากสิว และเพื่อให้เข้าใจสาเหตุของสิวมากขึ้น เราต้องรู้จัก “ต่อมขน” ซึ่งประกอบด้วย ต่อไขมัน และเส้นขน เมื่อต่อมไขมันผลิตไขมันแล้ว จะถูกส่งตามท่อไปสู่เส้นขน แล้วออกสู่ผิวหนังภายนอก ซึ่งบทบาทการทำหน้าที่ของไขมัน (Sebum) เชื่อว่า ไขมันดังกล่าว ช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำทางผิวหนัง มีส่วนช่วยให้ผิวนุ่มและเนียนเรียบ ทั้งยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ต่อมไขมันจะพบมากที่บริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า (โดยเฉพาะบริเวณ T-zone ประกอบด้วย หน้าผาก หว่างคิ้ว จมูก ร่องแก้ม) และหน้าอก
สิว คือการอักเสบของต่อมขนเกิดจากสาเหตุหลัก 4 ประการ คือ
เซลล์ที่เส้นขนแบ่งตัวมากผิดปกติจนเปิดกั้นทางออก ทำให้ไขมัน รวมทั้งขี้ไคล (Keratin) จากเซลล์ และแบคทีเรียสะสมอยู่ในต่อมขน เนื่องจากไม่มีทางระบาย เกิดเป็น ตุ่มคอมีโดน (Comedone) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิว
ต่อมไขมัน ผลิตไขมันมากเกินไป ยิ่งสะสมในต่อมขนทำให้คอมิโดนขยายขนาดขึ้น
เกิดการอักเสบ (Inflammation) ที่ต่อมขนนั้น
ติดเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium Acnes ในบริเวณที่เป็นสิว กระตุ้นให้การอักเสบขยายวงกว้าง กลายเป็นตุ่มนูน ตุ่มหนอง ถุงน้ำ ปัญหาสิวมีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน พันธุกรรม หรือแม้แต่การโกนหนวดก็ส่งผลต่อการเกิดสิวได้เช่นกัน ฯลฯ แต่ทุกสาเหตุของการเกิดสิวนั้น โดยเฉพาะสิวอักเสบเกิดจากปัจจัยสำคัญเดียวกันคือ การติดเชื้อแบคทีเรีย และแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิวมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ Propionibacterum acnes (P.acnes), Propionibacterium granulosum (P.franulosum) และ Staphylococcus aureus (S.aureus) ซึ่งล้วนเป็นแบคทีเรียที่พบได้ตามผิวหนังและมีอยู่บนสิ่งของเครื่องใช้ที่ เราต้องสัมผัสทุกวัน เช่น พวงมาลัยรถยนต์ คีย์บอร์ด โทรศัพท์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่มีเชื้อแบคทีเรียสะสมอยู่มาก ที่สุด
เมื่อเป็นสิวจะมีการสัมผัสใบหน้า (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) มากกว่าปกติเป็น 10 เท่า ดังนั้นเมื่อเราใช้หรือสัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วไปสัมผัสใบหน้าก็เท่ากับว่าเป็นการนำเชื้อแบคทีเรียไปเพิ่มที่ผิวหน้า ของเรา เมื่อแบคทีเรียมีจำนวนมากยิ่งขึ้น โอกาสของการเกิดสิวก็จะเพิ่มมากขึ้น สิวที่เป็นอยู่เดิมก็จะมีอาการรุนแรงชัดเจนมากขึ้น ความเชื่อหนึ่งเกี่ยวกับสิว ที่เชื่อว่าสิวเกิดจากความสกปรกบนใบหน้า และคิดว่าการล้างหน้าบ่อย ๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้สิวเกิดขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว การล้างหน้าบ่อย ๆ ก็ไม่สามารถช่วยลดอัตราการผลิตไขมันจากต่อมไขมันได้
นอกจากนี้การล้างหน้าบ่อยครั้งและประกอบกับใช้เครื่องมือ เช่น ผงขัด (Scrub) ที่ช่วยขัดลอกผิวหน้านั้น จะทำให้ต่อมขนถูกทำลายและทำให้สิวเป็นมากขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิวหน้าก็เป็นสิ่งจำเป็นใน การช่วยลดและรักษาสิว ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่ผสมยาฆ่าเชื้อ เพราะนอกจากจะไม่สามารถลดจำนวนเชื้อสิว P.acnes ได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความระคายเคือง และเป็นสาเหตุของผื่นแพ้ได้อีกด้วย ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ออกแบบมาสำหรับผู้ที่เป็นสิวหรือ ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย และสาวคนไหนที่ขาดเมคอัพไม่ได้ (ใช่ว่าสาวที่เป็นสิวจะแต่งหน้าไม่ได้นะ) ควรเลือกใช้เครื่องสำอางชนิดที่ไม่ก่อสิว (Noncomedogenic) โดยหลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน (Lotion และ Oil-based) และควรใช้ผลิตภัณฑ์ชนิด Gel-based จะเหมาะกับผู้ที่เป็นสิวมากกว่า
Tip
การรักษาสิวก็มีมากมายหลายวิธ๊ แต่วิธีที่ง่ายและเป็นที่นิยม คือ การใช้ยาทาสิว ซึ่งยาทาสิวก็มีหลายชนิด ที่เป็นมาตรฐานและใช้กันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ กรดวิตามินเอ ชนิดทา, เบนซอยล์เพอร์ออกไซด์ และยาปฏิชีวนะชนิดทา ยาทารักษาสิวมักมีผลข้างเคียง คือแสบ แดง แห้ง ลอก หลังใช้ต่อเนื่อง ซึ่งก็มียาทาสิว บางชนิดที่มีข้อควรระวังห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร (มักเขียนไว้ข้างกล่อง) เช่น กรดวิตามินเอชนิดทา ซึ่งใช้ช่วงแรกอาจพบการระคายเคืองและไวต่อแสงได้ แนะนำว่าควรใช้ในเวลาก่อนนอน และสิวจะเวลา 4-8 เดือน และเมื่อสิวดีขึ้นมากแล้วควรใช้กรดวิตามินเอ ชนิดทา อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการสร้างคอมิโดน ลดการกลับเป็นซ้ำ เนื่องจากสิวเป็นโรคเรื้อรังและเกิดขึ้นได้ตลอดในช่วงวัยรุ่น ใครที่มีผิวแห้งจากการใช้ยาทารักษาสิว ควรใช้ครีมที่มีมอยส์เจอไรเซอร์เยอะ ๆ เพื่อบรรเทาอาการ
อ้างอิง http://variety.eduzones.com