นาซาเตรียมทดลองใช้ดาวเทียมจิ๋ว ฝีมือวัยรุ่นอินเดีย
นาซาเตรียมนำดาวเทียมที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก ซึ่งเป็นผลงานของเด็กวัยรุ่นชาวอินเดีย ขึ้นไปทดลองใช้งานจริงบนอวกาศในเดือน มิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ริฟัต ชารูค วัยรุ่นชาวอินเดียวัย 18 ปี ส่งผลงานดาวเทียมที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก โดยหนักเพียง 64 กรัม เข้าร่วมโครงการประกวด "Cubes in space" ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา และปรากฎว่า เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะ
ชารูค กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของดาวเทียมจิ๋วนี้ คือการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของคาร์บอนไฟเบอร์ จากกระบวนการสร้างแบบ 3 มิติ โดยดาวเทียมจิ๋วดวงนี้มีชื่อว่า กาลัมแซท (KalamSat) ตั้งตามชื่อของประธานาธิบดีอับดุล กาลัม ของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การบินในประเทศ
นาซาเตรียมจะนำดาวเทียมจิ๋ว “กาลัมแซท” ขึ้นไปทดลองใช้งานจริงในอวกาศเป็นเวลานาน 12 นาที ในเดือน มิ.ย.นี้ โดย “กาลัมแซท” จะมีคอมพิวเตอร์ออนบอร์ดแบบใหม่ และเซ็นเซอร์ในตัว 8 ตัว สำหรับใช้ตรวจวัดความเร่งในการหมุน และสนามแม่เหล็กของโลกด้วย
สำหรับ ริฟัต ชารูค เป็นเด็กหนุ่มจากรัฐทมิฬนาฑู (อ่านว่า ทะ-มิน-นา-ดู) ปัจจุบัน ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ Space Kidz India ในเมืองเชนไน ซึ่ง “กาลัมแซท” ก็ไม่ใช่ผลงานแรกของเขา เพราะเมื่อตอนอายุ 15 ปี เขาเคยสร้างบอลลูนสำรวจสภาพอากาศที่บรรจุก๊าซฮีเลียม ส่งเข้าประกวดโครงการนักวิทยาศาสตร์เยาวชนของอินเดียมาแล้ว