สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนเรซูเม่

สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนเรซูเม่

สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนเรซูเม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เราก็ทำตามคำแนะนำในการเขียนเรซูเม่ทุกอย่างแล้วนี่ ทำไมยังไม่มีใครเรียกไปสัมภาษณ์สักที” จักกฤษณ์เอ่ยพึมพำออกมาหลังจากที่นั่งจ้องเรซูเม่ของตัวเองอยู่สักพัก

เขามั่นใจว่าเขาได้ทำในสิ่งที่ควรทำในการเขียนเรซูเม่อย่างครบถ้วนแล้วแน่ ๆ แต่หลังจากที่ส่งใบสมัครไปสมัครงานมาแล้วเกือบสิบบริษัท ก็ยังไม่มีที่ไหนติดต่อมาเรียกเขาไปสัมภาษณ์สักที

เพื่อให้เรซูเม่ที่จักกฤษณ์เขียนสมบูรณ์ และน่าสนใจมากขึ้น คราวนี้ JobThai.com/REACH จึงได้มีรวบรวม สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนเรซูเม่มาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับจักกฤษณ์ในการถูกเรียกไปสัมภาษณ์มากยิ่งขึ้น

1. เอาข้อมูลสำคัญไว้ท้ายเรซูเม่
เนื่องจากคนที่มีหน้าที่คัดกรองเรซูเม่ จะใช้เวลากับเรซูเม่ของแต่ละคนไม่นาน เราจึงควรพิจารณาให้ดีว่าควรนำเรื่องไหนขึ้นมาเขียนไว้ในส่วนแรก ๆ ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนอ่านรับรู้ว่า เราเป็นใคร และเหมาะกับงานในตำแหน่งนั้น ๆ อย่างไร เช่น จุดมุ่งหมายในการทำงาน ประวัติการทำงาน ทักษะและความสามารถในการทำงาน หรือประวัติการศึกษา ในกรณีที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ และยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน หากเราดึงดูดความสนใจของฝ่ายบุคคลได้มากและเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่เขาจะเรียกเราไปสัมภาษณ์ก็จะยิ่งมีมากขึ้น

2. ใช้รูปแบบเรซูเม่ และแบบอักษรที่อ่านยาก
ปัจจุบันมีแบบฟอร์มเรซูเม่ให้เลือกใช้หรือดูเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าทุกรูปแบบจะเหมาะกับการนำมาใช้สมัครงานในทุกตำแหน่ง การเลือกใช้รูปแบบที่ดูมีความคิดสร้างสรรค์ หรือแสดงถึงตัวตนของตัวเองบ้าง อาจทำได้ หากสมัครงานในสายออกแบบ แต่หากเป็นสายงานอื่น ๆ การใช้รูปแบบเรซูเม่ที่สุภาพ เรียบง่าย เป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า รวมถึงการใช้รูปแบบและขนาดของตัวอักษร ก็ควรจะอ่านง่าย สบายตา ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป และเป็นแบบอักษรพื้นฐานที่เรามั่นใจว่าจะอ่านได้ในระบบคอมพิวเตอร์ทุกประเภท

3. ไม่ตรวจสอบความถูกต้อง
เมื่อเขียนเรซูเม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ การตรวจสอบความถูกต้อง อ่านทบทวนให้แน่ใจว่ารายละเอียดต่าง ๆ ถูกต้องครบถ้วน และข้อมูลติดต่อเป็นข้อมูลปัจจุบัน รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของการสะกดคำ และไวยากรณ์ต่าง ๆ ด้วย ความผิดพลาดแม้เพียงจุดเล็ก ๆ ก็อาจส่งผลต่อโอกาสการได้งานของเราได้ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีความละเอียดรอบคอบ

4. ใช้ Email ไม่เหมาะสม
ชื่ออีเมลที่เราใช้สำหรับการสมัครงาน ควรเป็นอีเมลที่สุภาพ เป็นทางการ เช่น อีเมลที่เป็นชื่อ หรือนามสกุลของตัวเอง อย่าใช้ชื่ออีเมลที่ดูเด็ก มีคำไม่เหมาะสม หรือมีความหมายไม่ดีเด็ดขาด เพราะจะทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพ รวมถึงควรแยกอีเมลที่ใช้ในการสมัครงาน อีเมลสำหรับงาน อีเมลสำหรับเรื่องส่วนตัว และอีเมลที่ใช้สมัคร Social Media ออกจากกันให้ชัดเจน

5. ไฟล์เรซูเม่ยากต่อการเปิดอ่าน
หลายครั้งที่เราเสียโอกาสที่จะได้งานเพราะฝ่ายบุคคลเปิดอ่านเรซูเม่ไม่ได้ เรซูเม่จึงควรเป็นไฟล์เอกสาร เช่น Microsoft Word หรือ PDF เพราะเป็นไฟล์พื้นฐาน เปิดอ่านและจัดเก็บได้ง่าย นอกจากนั้นหลายบริษัทได้ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นตัวช่วยในการคัดกรองเรซูเม่ด้วย โดยที่เครื่องมือที่ใช้คัดกรองนั้น จะตรวจหาคีย์เวิร์ดบนเรซูเม่ ตามที่ถูกระบุไว้ในโปรแกรม ซึ่งจะจับคีย์เวิร์ดเหล่านั้นบนไฟล์รูปภาพไม่ได้ และเรซูเม่ที่ส่งไป ต้องเปิดอ่านได้เลย อย่าให้ฝ่ายบุคคลต้องไปดาวน์โหลดจากเว็บรับฝากไฟล์ต่าง ๆ เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่ามันยุ่งยากหรือเสียเวลา และเมื่อเขารู้สึกอย่างนั้น เขาก็อาจจะข้ามเรซูเม่ของเราไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook