เรื่องเล่า... “วันสุนทรภู่” กับ “ครูทอม คำไทย” สุดยอดแฟนพันธุ์แท้
วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญกับชาวไทย เนื่องด้วยวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของ “สุนทรภู่” กวีชาวไทยที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยผลงานที่รู้จักกันดีคือเรื่อง “พระอภัยมณี” นั่นเอง และเนื่องจากวันนี้เป็นวันสุนทรภู่ทาง Sanook! Campus จึงนำบทสัมภาษณ์สั้นๆของ “ครูทอม คำไทย หรือ คุณจักรกฤต โยมพะยอม” สุดยอดแฟนพันธ์แท้ของสุนทรภู่ มาฝากทุกคนค่ะ โดยครูทอมได้กล่าวถึงเรื่องวรรณคดีไทยไว้ว่า
ครูทอม : ถ้าพูดถึงเรื่องภาษาไทยและวรรณคดีไทย มันมีมากกว่าแค่การออกเสียงให้ถูกต้อง อย่างวรรณคดีไทยมันไม่ใช่ตำราสอนภาษาไทย แต่เวลาเราอ่านเราจะได้ซึมซับเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องความสละสลวยสวยงาม และข้อดีของวรรณคดีไทยคือทำให้เราเห็นวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นๆ ซึ่งจะแตกต่างจากการอ่านตำราประวัติศาสตร์ ที่จะบอกตรงๆว่าสมัยนั้นใครทำอะไรยังไง แต่ถ้าอ่านวรรณคดีจะต้องตีความและทุกอย่างจะแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง
นอกเหนือจากเรื่องพระอภัยมณีแล้วมีเรื่องไหนอีกบ้างที่แต่งโดย สุนทรภู่
ครูทอม : มีเยอะเลยครับ สุนทรภูแต่งวรรณคดีหลายๆประเภท นิราศก็มี นิทานก็มี ถ้าอย่างนิทานก็จะเป็นเรื่อง “สิงหไกรภพ” และอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนน่าจะรู้จักคือ “ลักษณวงศ์” ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมชื่นชอบ นอกจากนิทานยังมี “นิราศ” โดยจะแต่งเกี่ยวกับการเดินทาง เวลาไปไหนก็จะเขียนเล่าเรื่องคล้ายๆบันทึกการเดินทางเหมือน “การเช็คอินในเฟสบุ๊ค แต่สุนทรภู่เช็คอินในนิราศ” ว่าระหว่างทางเจออะไรบ้าง บางที่จะมีการพร่ำเพ้อถึงคนรัก พอเราอ่านแล้วจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าสุนทรภู่มีความสัมพันธ์กับใครบ้าง
และที่บอกไปว่าเราจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ยกตัวอย่าง “นิราศเมืองแกลง” ซึ่งผมอ่านแล้ว ว้าว! มากเพราะว่า ระหว่างที่สุนทรภู่เดินทางไประยองก็เจอ “แรด” อยู่ข้างทาง ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าป่าไม้ในสมัยก่อนของบ้านเรานั้น มีความอุดมสมบูรณ์มากๆ
และอย่างที่หลายๆคนคงจะรู้ว่า “สุนทรภู่” ท่านจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่อง “สัมผัส” ทั้งนอกและใน ทางเราจึงให้ครูทอมช่วยยกตัวอย่างของบทกลอน โดยครูทอมได้ยกตัวอย่างจากฉากที่พระอภัยมณีได้กับนางผีเสื้อสมุทร ซึ่งสุนทรภู่เปรียบเทียบฉากนี้เหมือนกับการแข่งว่าว เนื่องจากสมัยก่อนจะมีกาแข่งว่าวกันคือ ว่าวจุฬา และ ว่าวปักเป้า สุนทรภู่จึงแต่งเปรียบเทียบกับการแข่งว่าวอย่างบทกลอนต่อไปนี้
เกิดกุลาคว้าว่าวปักเป้าติด
กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง
กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง
ปักเป้าเหวี่ยงยักแผละกระแซะชิด
กุลาโคลงไม่สู้คล่องกระพร่องกระแพร่ง
ปักเป้าแทงตะละทีไม่มีผิด
จะแก้ไขก็ไม่หลุดสุดความคิด
ประกบติดตกผางลงกลางดิน
เราจะเห็นภาพเลยว่าการที่ว่าวสองตัวสู้กันมีความรุนแรงอย่างไร และแต่ละคำก็จะมีเสน่ห์และให้เราวิเคราะห์ตาม เราต้องอ่านให้ละเอียด สุดท้ายนี้ครูทอมยังฝากบทกลอนที่สั่งสอนให้คนเป็นคนดีจากบทประพันธ์ของสุนทรภู่ชื่อว่า
เพลงยาวถวายโอวาท
“อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย”
ซึ่งมีความหมายว่า “เรามีความรู้ความคิดต่างๆเปรียบเสมือนเป็นอาวุธ เราต้องเก็บเอาไว้ให้ดี อย่าเที่ยวเอาออกมาทำร้ายคนอื่น ต่อเมื่อถึงเหตุการณ์ที่มีคนจะทำร้ายเรา เราถึงเอาความรู้ของเราออกมาป้องกันตัว อย่าใช้ความรู้ที่เรามีเพื่อเอาไปทำร้ายคนอื่น”