ส่อง "4 ประเทศเรียนฟรี" ไร้ปัญหา..ปวดหัว "เรื่องลูกหนี้" แบบเมืองไทย
หนึ่งในประเด็นที่หลายสื่อให้ความสนใจช่วงนี้ ก็คือกรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ประสบภาวะขาดทุน เพราะไม่สามารถตามเก็บเงินจากลูกหนี้ที่ครบกำหนดชำระหนี้ได้ จนต้องดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้เกือบ 1 แสนรายในแต่ละปี และมากถึง 1.7 แสนรายเฉพาะปี 2559 จนทำให้มูลค่าหนี้รวมสะสมตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท
ในขณะที่เรื่องนี้บานปลายจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เพราะส่งผลต่อโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนที่จำเป็นต้องกู้ยืมในอนาคต หลายประเทศในโลกนี้กลับไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะมีสวัสดิการเรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัยให้กับประชาชนในประเทศ มาดูกันดีกว่ามีประเทศไหนบ้างที่ไม่ต้องรับมือกับปัญหานี้
เดนมาร์ก
การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของเดนมาร์กเป็นสวัสดิการฟรีสำหรับนักเรียนที่มาจากประเทศใน EU และสวิตเซอร์แลนด์ และเนื่องจากค่าเช่าที่พักในประเทศนี้ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับสวีเดนและนอร์เวย์ ทั้งยังมีเงินสนับสนุนให้กับนักศึกษาที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่อีกประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษามาได้โดยไม่มีหนี้ ความใจดีของรัฐบาลในเรื่องนี้ยังเผื่อแผ่ไปถึงนักศึกษาที่ลาออกกลางคัน เพราะรัฐบาลเดนมาร์กไม่ได้มีกฎบังคับว่าจะต้องจ่ายเงินส่วนนี้คืนถึงแม้จะเรียนไม่จบ
สวีเดน
ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่งอย่างสวีเดน เป็นประเทศที่นักศึกษามหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไม่ต้องกังวลกับเรื่องค่าเทอมเพราะเป็นสวัสดิการจากรัฐ
ที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้นักศึกษาชาวสวีเดนที่นั่นจะไม่ต้องเสียค่าเทอมและรัฐเองก็ไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องการตามหนี้ แต่จากรายงานของ Quartz ระบุว่า ในปี 2013 เหล่าบัณฑิตใหม่กลับได้ปริญญาพร้อมกับมีหนี้ติดตัวเฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 6.4 แสนบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่มาจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พักหรือค่าอาหาร เพราะสวีเดนเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างสตอกโฮล์ม
นอร์เวย์
เพื่อนบ้านของสวีเดนอย่างนอร์เวย์เป็นอีกประเทศที่นักศึกษาไม่ต้องจ่ายค่าเทอม ซึ่งถึงจะไม่ได้ครอบคลุมมหาวิทยาลัยทุกแห่ง แต่ก็เรียกว่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากค่าครองชีพของสวีเดนที่ว่าสูงแล้ว ยังแพ้ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของนอร์เวย์ ปัญหาที่เกิดในสวีเดนจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในนอร์เวย์เช่นกัน
สโลวีเนีย
ประเทศเล็กๆ ในยุโรปตะวันออกประเทศนี้อาจจะไม่ค่อยถูกพูดถึงสักเท่าไรเวลาพูดถึงระบบการศึกษาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป ทั้งที่จริงๆ แล้วสโลวีเนียเป็นประเทศที่จัดว่ามีมาตรฐานสูงในเรื่องการศึกษา ทั้งยังเป็นประเทศที่นักศึกษาเสียเงินเพียงแค่ค่าลงทะเบียนเท่านั้น แต่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอม
นอกจากนี้ สโลวีเนียยังเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้เป็นอีกประเทศที่นอกจากหน่วยงานรัฐจะไม่ต้องปวดหัวกับการตามเก็บเงินลูกหนี้แล้ว ตัวนักศึกษาเองก็ไม่ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้ทันทีที่เรียนจบ และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ไมเคิล มัวร์ นักทำสารคดีชื่อดัง หยิบเอาประเด็นเรื่องนี้มาพูดถึงในหนังสารคดีเรื่อง Where to Invade Next ของเขา
มองต่างประเทศแล้วกลับมามองประเทศไทยของเราอีกที ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว