งานวิจัยชี้ 'จบปริญญาตรีภายใน 4 ปี' คือกุญเเจสำคัญต่อความสำเร็จในชีวิต
ดักลาส เวปเปอร์ รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทมเปอร์ ในรัฐเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า การทำงานล่วงเวลาขณะเรียนในมหาวิทยาลัย ช่วยให้นักศึกษามีเงินพิเศษเพื่อใช้จ่ายในขณะเรียนหนังสือ เเต่การทำงานล่วงเวลามากเกินไปจนต้องขาดเรียนมีผลเสียต่อการเรียนและอาจทำให้เรียนไม่จบตามเวลากำหนด
istockphoto
รองศาสตราจารย์เวปเปอร์ กล่าวว่า นักศึกษาจะได้ประโยชน์ทางการเงินหากพยายามเรียนจนจบ เเม้เเต่สำหรับคนที่เกือบจะต้องเลิกเรียนกลางคัน
เขาบอกว่าการเรียนจบระดับปริญญาตรีมีความสำคัญมาก ทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือทางค่าเล่าเรียนเเก่นักศึกษาในสหรัฐฯ มักจะจำกัดอยู่เเค่การเรียนในระดับปริญญาตรีเท่านั้น
นักศึกษาส่วนมากที่ต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในระดับปริญญาโทหรือเอก ต้องจ่ายเงินกันเองทั้งหมดหรือผู้ปกครองช่วยจ่ายให้
รองศาสตราจารย์เวปเปอร์ กล่าวว่า การเรียนให้จบภายในสี่ปีเป็นผลดี เพราะยิ่งใช้เวลาในรั้วมหาวิทยาลัยยาวนาน โอกาสเรียนจบก็จะน้อยลงเรื่อยๆ เเละในบางครั้ง อาจเกิดเหตุการณ์ชีวิตที่ไม่คาดฝัน ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียน จนทำให้เรียนไม่จบ
เขากล่าวว่า อุปสรรคในชีวิตอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตของคนในครอบครัว ผู้ปกครองตกงาน หรือ นักศึกษาใช้เงินค่าเล่าเรียนไปจนหมดกระเป๋า
เเละเพื่อประโยชน์แก่ตัวนักศึกษาเอง เป็นเรื่องดีที่สุดหากรีบเรียนหนังสือให้จบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ เขากล่าวว่าการใช้เวลาเรียนในมหาวิทยาลัยนานปีขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีเวลาน้อยปีลงในชีวิตการทำงานเพื่อสร้างรายได้
รองศาสตราจารย์เวปเปอร์กล่าวว่า หากต้องเสียเวลาเรียน 5 – 6 ปี เเทนที่จะจบใน 4 ปี นักศึกษาก็เสียเวลาของการทำรายได้ไปอย่างน้อย 1 - 2 ปี เป็นการสูญเสียโอกาสทางรายได้ไปในตัว
ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า นักศึกษาในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เรียนระดับปริญญาตรีไม่จบภายในสี่ปี
Digest of Education Statistics รายงานว่า สำหรับนักศึกษาในสหรัฐฯ ที่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 2009 หรือ 8 ปีที่แล้ว มีเพียงเเค่ 4 ใน 10 คน เท่านั้นที่เรียนจบภายในสี่ปี
ผลการวิจัยของรองศาตราจารย์เวปเปอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เเนะนำว่าการทำงานล่วงเวลา 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น จะไม่มีผลกระทบทางลบต่อผลการเรียน แต่นักศึกษาที่ทำงาน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น จะมีผลให้โอกาสเรียนจบภายในสี่ปีลดลงราว 15 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะเรียนไม่จบเลยก็ได้
รองศาสตราจารย์เวปเปอร์ กล่าวว่า กีฬามหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมหลายชั่วโมง อาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนหนังสือให้จบภายในสี่ปี เพราะนักกีฬามหาวิทยาลัยมักใช้เวลาถึง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้นในการฝึกซ้อม เดินทางและไปเเข่งขันกับทีมจากมหาวิทยาลัยเเห่งอื่นๆ
ศูนย์เพื่อการศึกษาด้านเชื้อชาติสายพันธุ์และความเท่าเทียมทางการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย วิเคราะห์อัตราการเรียนจบของนักศึกษาใน 65 มหาวิทยาลัยที่มีโครงการกีฬา พบว่า 68.5 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาที่เป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย เรียนจบภายใน 6 ปี เทียบกับ 75 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด
ผลการวิจัยชิ้นใหม่โดยรองศาสตราจารย์เวปเปอร์ ที่จัดทำร่วมกับนักวิชาการอีกสองคนจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ เบน ออสท์ กับ วิคเตอร์ เเพน วิเคราะห์ดูนักศึกษาที่ต้องดิ้นรนเรียนกว่าจะสอบผ่านแต่ละวิชา เขากล่าวว่านักศึกษาเหล่านี้ที่เกือบเรียนไม่จบ มักเกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ว่า อาจจะดีกว่าหากเลิกเรียนกลางคัน
การวิจัยนี้ยังได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของคนที่หยุดเรียนจากมหาวิทยาลัยกลางคัน และนักศึกษาที่ต้องอยู่ในสถานภาพรอพินิจเพราะได้เกรดเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด เเต่ก็เรียนจบจบปริญญาตรี
รองศาสตราจารย์เวปเปอร์ กล่าวว่า นักศึกษาที่เรียนเเย่เเต่พยายามเรียนจนจบเเละได้ปริญญาบัตร มีรายได้มากกว่าคนที่หยุดเรียนจากมหาวิทยาลัยกลางคันราวห้าเเสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ตลอดชีวิตการทำงาน
ถือเป็นรายได้ที่เเตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างคนที่เรียนไม่จบปริญญาตรีกับคนที่เรียนจบ