กม. "กยศ." มีผลแล้ว ไฟเขียวนายจ้างหักเงินส่งคืนกองทุน
พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่มีผลแล้ว เปิดช่ององค์กรนายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือน เพื่อชำระหนี้คืนกองทุน ปลัดคลังแจงยังไม่เก็บทันที อยู่ระหว่างเตรียมระบบ
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (26 ก.ค.60) เป็นต้นไป พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยสาระสำคัญ คือการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของกองทุน โดยเฉพาะในส่วนการติดตามหนี้ คือ ได้กำหนดให้องค์กรนายจ้างมีหน้าที่หักเงินได้ที่มาจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือนค่าจ้างฯ ของผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานลูกจ้างนำส่งกรมสรรพากรพร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้คืนกองทุน
ขณะเดียวกัน กองทุนสามารถขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นของผู้กู้ยืม เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายใหม่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงมิให้ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ต้องเสียเบี้ยปรับและถูกดำเนินคดีหรือบังคับคดี เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนมีฐานข้อมูลของผู้กู้ยืมที่ไม่เป็นปัจจุบันทำให้ยากต่อการติดต่อสื่อสารและไม่มีมาตรการเชิงบังคับในการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ ยังเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา ด้วยการเพิ่มการให้กู้ยืมมากลักษณะขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ขาดแคลนทุนทรัพย์, ศึกษาในสาขาวิชาความต้องการหลักต่อการพัฒนาประเทศ, ศึกษาในสาขาขาดแคลนหรือมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และเรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ด กยศ.กล่าวว่า พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว แต่จะยังไม่หักเงินเดือนผู้กู้ กยศ.ทันที เนื่องจากต้องออกระเบียบเตรียมความพร้อมกับองค์กรนายจ้างและกรมสรรพากร รองรับการหักเงินเดือนดังกล่าว รวมทั้งสั่งฝ่ายกฎหมายศึกษาการตีความกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุมผู้กู้รายใหม่ หรือทั้งหมด ก่อนดำเนินการหักเงินเดือน ณ ที่จ่าย เพื่อชำระหนี้คืนกองทุน กยศ.ภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีผู้กู้ กยศ. 4 ล้านราย วงเงินกู้กว่า 470,000 ล้านบาท มีผู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้ 3 ล้านราย แต่มีผู้ที่ค้างชำระ 2 ล้านราย ในจำนวนนี้ชำระหนี้ได้ปกติ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 800,000 คน และไกล่เกลี่ย 100,000 คน รวมเงินที่ยังค้างชำระ 55,000 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี 36,000 ล้านบาท