“ออทิสติก ซาวองต์” อัจฉริยะสร้างได้ถ้าเห็นคุณค่า

“ออทิสติก ซาวองต์” อัจฉริยะสร้างได้ถ้าเห็นคุณค่า

“ออทิสติก ซาวองต์” อัจฉริยะสร้างได้ถ้าเห็นคุณค่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกระแสชื่นชมละคร “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษในการเล่นแบดมินตัน โดยมี “ต่อ” ธนภพ ลีรัตนขจร รับบทนักแสดงนำได้อย่างสมบทบาท ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ในความเป็นจริงแล้ว เด็กออทิสติกที่สังคมภายนอกมองว่ามีความผิดปกติ จะมีความสามารถพิเศษที่โดดเด่นกว่าคนทั่วไปได้จริงๆ หรือไม่

“ออทิสติก” คือ โรคที่มีความผิดปกติของสมองมาตั้งแต่กำเนิด และส่งผลให้มีการพัฒนาด้านสมองช้ากว่าเด็กทั่วไป ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของหลายๆ ระบบในร่างกายที่เกิดร่วมกัน จึงส่งผลให้การรับรู้ การแสดงออกทางอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กผิดปกติไปจากเด็กอื่นทั่วไป

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าความผิดปกติที่พบในแต่ละระบบนั้นมีความเชื่อมโยงกันในระดับใด ซึ่งจากผลการศึกษาในหลายสถาบันมีความเห็นใกล้เคียงกันว่ากลไกของการเกิดโรคที่สำคัญนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์สมองบางส่วนทำงานน้อยหรือไม่ทำงาน

แม้เด็กที่เป็นออทิสติกจะถูกมองว่า ผิดแปลกไปจากคนอื่น เพราะชอบอยู่ตามลำพัง ชอบทำพฤติกรรมซ้ำๆ ไม่สามารถทนรับต่อการเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีเดิมๆ ที่เคยชินได้ แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จนปรับตัวและใช้ชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงกับผู้อื่น

นอกจากนี้ จากสถิติยังพบด้วยว่า คนที่เป็นออทิสติกเกือบร้อยละ 10 จะมีความเป็นอัจฉริยะซ่อนอยู่ในตัว คนกลุ่มนี้เรียกว่า “ออทิสติก ซาวองต์” (Autistic savant) ซึ่งเป็นคำที่นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ดอกเตอร์เบอร์นาร์ด ริมแลนด์ ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยออทิสติกนิยามขึ้น โดยมักพบว่ามีความอัจฉริยะในศาสตร์สาขาต่างๆ ทั้ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และดนตรี

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ระบุว่า เด็กที่เป็นออทิสติก ซาวองต์นั้น บางคนอาจแสดงออกให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ยังเด็ก ขณะที่บางคนอาจต้องรอจังหวะเวลาและโอกาสในการแสดงออก

แต่ก็มีหลายคนที่ไม่มีแม้แต่โอกาสได้แสดงความเป็นอัจฉริยะของตัวเองออกมา เพราะเมื่อถูกมองว่าเป็นออทิสติก ก็ทำให้ความเป็นอัจฉริยะถูกมองข้ามไป เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กมักให้ความสำคัญกับความผิดปกติมากกว่าความเป็นอัจฉริยะ จึงมุ่งเน้นการแก้ไขความผิดปกติจนลืมส่งเสริมความเป็นอัจฉริยะไป

แม้ว่าการลดความหมกมุ่นในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่มากเกินไป จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาในปัจจุบัน แต่ในบางครั้ง ความหมกมุ่นในบางเรื่องก็นำมาซึ่งความรู้จริง และความรอบรู้ในเรื่องนั้นๆ ได้ ไม่ต่างจากบุคคลอัจฉริยะของโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ และ เซอร์ไอแซก นิวตัน ผู้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงของโลก

โดยผลการศึกษาเมื่อปี 2003 พบว่า นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่าน ต่างมีอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นออทิสติกทั้งคู่ เนื่องจากมีความบกพร่องเรื่องพัฒนาการด้านสังคมและการสื่อสารที่เรียกว่า “แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม” (Asperger Syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่อยู่ในกลุ่มออทิสติก ทั้งการหมกมุ่นหรือให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป, เข้าสังคมยาก ชอบอยู่ตามลำพัง และมีปัญหาในด้านการสื่อสาร

แต่หากความหมกมุ่นหรือความสนใจนั้นๆ ไม่ได้ถูกปิดกั้น หรือตีกรอบมากจนเกินไป ก็จะทำให้ความอัจฉริยะที่อยู่ในตัวไม่ถูกปิดกั้น เหมือนที่ละครเรื่อง Side by Side ต้องการนำเสนอให้เห็นผ่านตัวละคร “ยิม” ที่แม้เป็นเด็กพิเศษ แต่มีความสามารถในการเล่นแบดมินตัน และผู้เป็นน้าก็เห็นแววอัจฉริยะนั้น จึงพยายามสนับสนุนและส่งเสริมหลานอย่างถึงที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook