“เห็นต่าง” ทางลัดสู่การสร้างตัวตนคนรุ่นใหม่?

“เห็นต่าง” ทางลัดสู่การสร้างตัวตนคนรุ่นใหม่?

“เห็นต่าง” ทางลัดสู่การสร้างตัวตนคนรุ่นใหม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณี “ถวายสัตย์” ปฏิญาณตนเป็นนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมานานร่วม 20 ปีแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เกิดความวุ่นวายขึ้นจนกลายเป็นข่าวใหญ่โต


ปีนี้เป็นปีแรกที่นิสิตจุฬาลงกรณ์ฯ นำโดย นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ เรียกร้องให้เลิกการถวายบังคมในพิธีถวายสัตย์ พร้อมทั้งทำคลิปวิดีโอให้เหตุผลว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศให้ยกเลิกการหมอบคลานกราบถวายบังคมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2416 เพื่อความเป็นสากล และให้เปลี่ยนมาเป็นการก้มศีรษะโค้งคำนับแทน แต่ทางมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันในรัชกาลที่ 5 กลับนำการถวายบังคมมาใช้อีกครั้งในปี พ.ศ.2540 จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านาน

ทั้งนี้ เนติวิทย์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เหตุใดมหาวิทยาลัยที่ตั้งตามพระนามและเป็นสังคมปัญญาชนถึงสร้างธรรมเนียมขึ้นมาใหม่ให้กลับไปกราบไหว้ถวายบังคม ซึ่งธรรมเนียมการถวายบังคมนี้ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ของเก่า แต่เป็นของใหม่ที่มีมาเมื่อยี่สิบปีก่อน ในฐานะประธานสภานิสิตที่ได้รับเกียรติให้มางานนี้ จึงต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมอีกครั้งหนึ่ง ทำในสิ่งที่เป็นพระราชปณิธานต่อหน้าพระองค์ แม้คนอื่นๆจะลืมเลือนความสำคัญของสิ่งที่พระองค์ทำนี้ไปแล้วและเดินออกไป”

การเดินออกจากพิธีของเนติวิทย์ เป็นการแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการหมอบกราบถวายบังคมที่มีขึ้นในช่วงที่ฝนตกหนัก แทนที่จะให้ยืนเคารพเหมือนที่ได้ตกลงกันไว้กับรองอธิการบดี จึงเป็นที่มาของดราม่าอาจารย์ล็อกคอรองประธานสภานิสิตฯ ที่เดินตามเนติวิทย์ออกจากแถวมา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึง “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ Generation gap ได้เป็นอย่างดี เพราะความคิดของคนที่เติบโตมาต่างยุคต่างสมัยกัน ย่อมได้รับการหล่อหลอมทางความคิดที่ต่างกันไปด้วย

จากยุคของพ่อแม่ที่อยู่ใน Generation X (เกิดในปี 2508-2522) ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี แม้จะมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังคงอยู่ในกรอบธรรมเนียมปฏิบัติที่คุ้นเคยจากรุ่น Baby Boomer (เกิดปี 2489-2507) ซึ่งต่างจาก Generation Y (เกิดปี 2523-2540) หรือ Generation Z (เกิดปี พ.ศ.2540 ขึ้นไป) ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างมากมาย

คนที่เกิดใน Gen. Y หรือ Gen. Z คุ้นเคยกับการค้นหาคำตอบทุกอย่างที่สงสัยได้จากอินเตอร์เน็ต และมีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเองผ่านการเสพข้อมูลต่างๆ จากโลกออนไลน์ ส่งผลให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความคิดเป็นของตัวเอง อีกทั้งยังกล้าแสดงออกทางความคิดมากกว่าคนในรุ่นก่อนๆ

แต่ด้วยความที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมปัจจุบัน ทำให้เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่พยายามจะแสดงความเป็นตัวตน และสร้างพื้นที่ให้กับตัวเอง เพื่อให้เป็นที่จดจำในสังคม

และสิ่งที่ทำให้พวกเขาโดดเด่นไปจากคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ก็หนีไม่พ้นการแสดงความคิดเห็น หรือทำอะไรที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม จนกลายเป็น “เน็ตไอดอล” ที่มียอดผู้ติดตามในโลกออนไลน์จำนวนมาก

ยิ่งถ้าสิ่งที่คิดหรือแสดงออกเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อสังคม ก็ยิ่งได้รับการจับตามองมากขึ้น เป็นที่พูดถึงมากขึ้น โดยไม่สำคัญว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงบวกหรือลบ

…เพราะอย่างน้อยๆ การคิดต่างหรือเห็นต่างจากคนหมู่มาก ได้สร้างตัวตนอย่างที่พวกเขาต้องการไปเรียบร้อยแล้ว!

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook