เด็กไม่ควรคร่ำเคร่งกับการเรียนรู้ตลอดเวลา

เด็กไม่ควรคร่ำเคร่งกับการเรียนรู้ตลอดเวลา

เด็กไม่ควรคร่ำเคร่งกับการเรียนรู้ตลอดเวลา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Lea Waters นักจิตวิทยาใช้เวลานาน 20 ปีทำการวิจัยเกี่ยวกับวิธีช่วยให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างมีความสุข ในหนังสือเรื่อง “The Strength Switch” นักจิตวิทยาคนนี้แนะนำพ่อเเม่ว่าควรเน้นส่งเสริมจุดเด่นของลูกเเทนที่จะพยายามแก้ไขจุดอ่อน

Waters นักจิตวิทยากล่าวว่าหากพ่อเเม่เน้นแต่ปัญหาของลูกว่ามีจุดอ่อนอะไรบ้าง มีอะไรขาดหายไปและต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ผลลัพท์ที่ได้อย่างดีที่สุด ก็เพียงเเค่ช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้นไปอยู่เกินระดับเฉลี่ยเล็กน้อย แต่หากพ่อเเม่มองที่จุดเด่นของลูกมากกว่าจุดด้อยและมุ่งส่งเสริมจุดเด่นนั้น ลูกก็จะพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่

นักจิตวิทยาเรียกแนวทางนี้ว่า “การเลี้ยงลูกที่ตั้งอยู่บนจุดเด่นของเด็ก” แต่เธอเตือนว่าบางครั้ง พ่อเเม่อาจมุ่งเสริมสร้างจุดเด่นของลูกมากเกินไป โดยอาจให้ลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมไม่หยุดหย่อน ทำกิจกรรมทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เกินพอดี จนเด็กไม่มีเวลาว่าง ซึ่งอาจส่งผลเสียได้

คุณ Waters กล่าวว่าการทำแบบฝึกหัดและการฝึกฝนช่วยเสริมสร้างความสามารถของเด็กให้ดีขึ้นก็จริง เเต่การใช้เวลาอยู่เฉยๆ ไม่มีตารางเวลาประจำวันมากำหนดและได้ใช้เวลาแบบเปล่าประโยชน์เสียบ้างก็เป็นผลดีกับเด็กเช่นกัน

หนังสือของคุณ Waters เขียนจากผลการวิจัยของเธอเกี่ยวกับจิตวิทยา การเลี้ยงลูกเเละการศึกษาเชิงบวกที่มหาวิทยาลัยเมลเบริ์น ออสเตรเลียและเธอยังอ้างผลการวิจัยอื่นๆ อีกหลายชิ้นของนักวิจัยคนอื่นๆ ในสหรัฐฯ ด้วย

คุณ Waters กล่าวถึงผลงานการวิจัยของ Deena Weisberg กับทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ศึกษาหลักสูตรการเล่นและทำให้เกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพจิตของเด็กและความสามารถในการคิดหากโรงเรียนรวมเอาการเล่นไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

และเธอกล่าวว่าเธอชื่นชมการวิจัยของ Kathy Hirsh-Pasek ที่มหาวิทยาลัยเท็มเพิ้ล ในรัฐฟลอริด้าที่เกี่ยวกับการให้เด็กมีเวลาว่างจากกิจกรรมการเรียนรู้ โดยไม่จัดตารางเวลากิจกรรมให้ลูกจนเต็มเหยียด เธอบอกว่าการวิจัยนี้มีอิทธิพลต่อวิธีการเลี้ยงลูกของเธอเอง

คุณ Waters ยังกล่าวถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับระบบการทำงานทางเลือกของสมองสองระบบโดย Mary Helen Immordina-Yang ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา จิตวิทยาและประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยเซ้าเทิร์นเเคลิฟอร์เนีย

ระบบการทำงานของเครือข่ายในเขตต่างๆ สมอง ได้เเก่ ความใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นทางรูปธรรมและการใส่ใจกับสิ่งที่เป็นนามธรรม ศาสตราจารย์ Immordina-Yang อธิบายว่าความใส่ใจทางรูปธรรมเป็นการจดจ่อในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว การมองดูและการใส่ใจในสิ่งที่มอง ยกตัวอย่าง การเล่นกีฬา เด็กต้องมองดูผู้เล่นในทีม ต้องใส่ใจในสถานการณที่กำลังเกิดขึ้น ต้องวิ่งให้เร็ว ต้องประสานความรู้สึกทางอารมณ์และต้องตอบสนองต่อสิ่งที่เห็น ส่วนความใส่ใจทางนามธรรม เกิดขึ้นขณะที่เด็กอยู่เฉยๆ อาจจะกำลังฝันกลางวันหรือกำลังใช้จินตนาการคิดถึงสิ่งอื่นๆที่ไม่อยู่ตรงหน้า แต่อยู่ในความทรงจำและความคำนึง ศาสตราจารย์ Immordina-Yang กล่าวว่าการใส่ใจทั้งสองแบบนี้มีความสำคัญในการช่วยให้คนเราสามารถทำในสิ่งต่างๆรอบตัวได้

และคุณ Waters นักจิตวิทยากล่าวว่าการลดกิจกรรมต่างๆสำหรับเด็กลงช่วยให้เด็กใช้ความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ เธอบอกว่าเทียบได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้กำลังเปิดใช้โปรแกรมต่างๆในเวลาเดียวกัน ทำให้เครื่องทำงานช้าลง แต่เมื่อผู้ใช้ทยอยปิดโปรแกรมต่างๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะทำงานได้เร็วขึ้นซึ่งก็เหมือนกับสมองของเด็กๆที่มีเวลาได้ทำอะไรเรื่อยเปื่อยเสียบ้าง ซึ่งเธอเรียกว่า goofing off

คุณ Waters กล่าวว่า goofing off หรือ การทำอะไรเรื่อยเปื่อย เป็นการที่เด็กมีเวลาว่างเพื่อทำอะไรก็ได้ที่เด็กอยากทำ ไม่ว่าจะโยนบาสเก็ตบอลลงห่วงสนุกๆ สร้างสรรค์งานศิลป์หรืออาจจะทำอาหาร โดยเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เด็กสนใจสามารถทำได้โดยอัตโนมัติและสนุกสนานกับกิจกรรมที่ทำ เเต่เธอบอกว่า การใช้เวลาเรื่อยเปื่อยหรือ goofing off ไม่ได้หมายความว่าสมองของเด็กหยุดนิ่ง

คุณ Waters บอกว่าในช่วงเวลาว่างนี้ สมองจะเข้าสู่เครือข่ายของการทำงานทางใจหรือที่เรียกว่า default network mode เพื่อแปรข้อมูลที่ได้รับมาตลอดทั้งวันและรวมข้อมูลใหม่

ท้ายสุด คุณ Waters นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือหวังว่าพ่อเเม่จะเชื่อว่าเด็กๆไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและการปล่อยให้ลูกมีเวลาว่างหรือ goofing off โดยไม่ต้องทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวบ้าง ก็เป็นผลดีต่อเด็กเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook