‘ค่านิยมทางเพศ’ ภัยเงียบทำลายสุขภาพวัยรุ่น
วัยรุ่นเปรียบเสมือนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องได้รับการใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ ทว่า ผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นเป็นชิ้นแรกของโลกชิ้นนี้ ได้เปิดเผยว่า ช่วงเวลาก่อนที่เด็กจะเติบโตเป็นวัยรุ่นนั้น กลับมีความสำคัญยิ่งกว่า และชี้ว่าค่านิยมทางเพศที่ผู้ใหญ่ขีดเส้นให้เด็กเหล่านี้เดิน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขาได้มากกว่าด้วยเช่นกัน
ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและ John Hopkins Medicine ที่จัดทำงานวิจัยชิ้นแรกของโลก ทำลายกรอบความคิดของคนรุ่นเก่าที่ยัดเยียดค่านิยมทางเพศแบบเดิมๆ ให้กับเด็กที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น โดยพบว่า พวกเขารับรู้สิ่งที่จะต้องเผชิญเมื่อเติบโตขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของบทบาททางเพศที่ผู้ใหญ่มองข้าม
Dr. Bob Blum จาก John Hopkins Medicine สอบถามเด็กอายุ 10-14 ปี ที่อยู่ในช่วงวัยของ young adolescent หรือ เด็กที่กำลังจะกลายเป็นวัยรุ่น ซึ่งมีครอบครัวฐานะยากจนและอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ 15 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่สหรัฐอเมริกา และพบว่า ผู้ใหญ่ต่างมองข้ามการเรียนรู้พฤติกรรมของพวกเขา เพราะไม่คิดว่าเด็กในช่วงอายุนี้จะรู้จักการใช้ความรุนแรงทางเพศ ข้อความเหยียดเพศสภาพ การข่มขืน แต่ความจริงแล้วพวกเขารับรู้สถานการณ์เหล่านี้เป็นอย่างดี
เด็กผู้ชายจะเรียนรู้ว่าต้องมีความแข็งแกร่ง และการร้องขอความช่วยเหลือสะท้อนถึงความอ่อนแอ เด็กผู้ชายจะถูกผลักดันให้ออกไปผจญโลก ... แต่ในทางกลับกัน เด็กผู้หญิงจะถูกสั่งสอนให้ทำตัวให้ดูดี แต่อย่าเด่นจนเกินไป และต้องอยู่ห่างไกลเด็กผู้ชายเอาไว้ เพื่อไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล
ค่านิยมเหล่านี้ คือ สิ่งที่ทีมวิจัยของ John Hopkins Medicine ยืนยันว่า คืออาวุธที่ย้อนกลับมาทำร้ายเด็กกลุ่มนี้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV การฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย รวมทั้งภาวะติดแอลกอฮอล์ในอนาคต
ด้าน V. Chandra-Mouli จากสำนักสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่น องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ความยากจนคือต้นตอของปัญหานี้ เพราะเด็กผู้ชายจะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงาน ในขณะที่ครอบครัวจะมองเด็กผู้หญิงเป็นภาระทันทีที่พวกเธอมีรอบเดือน เด็กๆเหล่านี้จะต้องออกจากโรงเรียนและรีบแต่งงานให้เร็วที่สุด
แต่มุมมองของเด็กผู้หญิงช่วงอายุนี้กลับมองต่างออกไป โดย Bamidele Bello นักวิจัยจากไนจีเรีย บอกว่า เด็กผู้หญิงไนจีเรียมีความทะเยอทะยานมากกว่าเด็กผู้ชายที่นั่น เพราะพวกเธอเชื่อว่าเธอสามารถเป็นอะไรที่เด็กผู้ชายเป็นได้เหมือนกัน
เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงในประเทศจีน ที่ปัจจุบันกว่า 90% ของผู้หญิงจีนมีการศึกษาและมีงานทำ แต่ค่านิยมทางสังคมกลับกดขี่พวกเธอให้ได้รับโอกาสที่จำกัด และถูกคาดหวังให้เป็นคนดูแลบ้านและคนชราในครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายไม่ต้องรับภาระเหล่านั้น
การวิจัยขององค์การอนามัยโลกทำร่วมกับ John Hopkins Medicine ต้องการหยิบการวิจัยนี้ขึ้นมาจุดประกายทางความคิดของผู้คนทั่วโลก ให้ปรับมุมคิดเปลี่ยนมุมมองเรื่องค่านิยมทางเพศในสังคม ที่จะถูกส่งผ่านไปยังเด็กๆ ให้ทันก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นวัยรุ่นในอนาคตอันใกล้