วิธีสร้างจุดเด่นในการสมัครเรียนต่อ จากคำแนะนำผู้คัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ

วิธีสร้างจุดเด่นในการสมัครเรียนต่อ จากคำแนะนำผู้คัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ

วิธีสร้างจุดเด่นในการสมัครเรียนต่อ จากคำแนะนำผู้คัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

daca

แต่ละปี Washington University ที่เมืองเซนต์หลุยส์ ได้รับใบสมัครเรียนระดับปริญญาตรีจากนักเรียนกว่า 30,000 คน แต่มีผู้ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนต่อที่สถาบันอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ แห่งนี้ เพียง 16 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 4,800 คน

หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการคัดนักเรียนปริญญาตรีเข้าเป็นน้องใหม่ของสถาบัน มองหาจุดเด่นจากผู้สมัครเหล่านี้ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ และข้อแนะนำเรื่องนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอื่นๆได้

เจนนิเฟอร์ ดีวาร์ (Jennifer Dewar) รองผู้อำนวยการอาวุโสแห่งหน่วยงานคัดนักศึกษาเข้าใหม่ที่ Undergraduate Admissions Office ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ กล่าวว่า Washington University ต้องการทราบถึงสิ่งที่ผู้สมัครสนใจนอกห้องเรียน

เธอบอกว่า ข้อมูลเรื่องความสนใจที่ครบถ้วนช่วยให้มหาวิทยาลัยตัดสินผู้สมัครได้อย่างถูกต้องตามความหลากหลายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับชั้นเรียนของผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกใหม่ของสถาบัน

เช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ต้องการสร้างชุมชนที่มีทั้งบุคคลที่สนใจด้านวิชาการ กีฬา กิจกรรมชุมชน ดนตรี รวมไปถึงนักศึกษาที่กล้าแสดงออกด้านอื่นๆ และกล้าที่จะเป็นผู้นำ ซึ่งนั่นหมายความว่า Admissions Office ต้องการทราบว่าผู้สมัครแต่ละคน มีลักษณะเด่นด้านเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไร

เจนนิเฟอร์ ดีวาร์ บอกว่า เมื่อสามารถสร้างความหลากหลายนี้ให้เกิดขึ้นแล้ว สถาบันต้องการมั่นใจว่าความหลากหลายนี้จะนำได้สู่การแลกเปลี่ยนทัศนะที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ได้

การพิจารณาองค์ประกอบรวมในตัวผู้สมัครแต่ละรายอย่างครบถ้วน เรียกว่าแนวทางแบบ Holistic Approach

เธอกล่าวเสริมว่า หากนักเรียนมัธยมปลายที่ยื่นใบสมัครเรียนปริญญาตรีแต่ละคนพูดแต่เรื่องเรียนอย่างเดียว และทางมหาวิทยาลัยพิจารณาเฉพาะผลการเรียนเท่านั้น เอกสารสมัครจะหน้าตาแทบเหมือนกันทุกคน เพราะมีคนเรียนเก่งจำนวนมากที่ต้องการเข้า Washington University ที่เมืองเซนต์หลุยส์

รองผู้อำนวยการอาวุโสแห่ง Undergraduate Admissions Office ที่ Washington University กล่าวว่า ผู้สมัครควรบอกให้สถาบันทราบด้วยว่าตนมีความสนใจในหัวข้อเฉพาะอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ก่อนเลือกทำกิจกรรมต่างๆ ก็ควรตั้งคำถามว่าตัวเลือกที่มีเช่น การแข่งขันกีฬา และงานด้านสังคม กิจกรรมใดส่งเสริมหรือเหมาะกับจุดหมายของตนเองมากกว่ากัน

เธอเตือนว่าไม่ควรตั้งคำถามว่าควรทำกิจกรรมใดเพื่อให้เป็นที่ถูกใจมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณานักเรียนแบบ Holistic Approach จะทำได้อย่างสมบูรณ์ตามจุดประสงค์ เมื่อมหาวิทยาลัยมีบุคคลากรเพียงพอในการคัดนักศึกษาใหม่เข้าเรียน ถ้าสถาบันการศึกษาใดมีทรัพยากรจำกัด การพิจารณานักศึกษาเข้าใหม่ก็อาจดูเฉพาะปัจจัยต้นๆ เช่นผลการเรียนเท่านั้น

ท้ายสุดเธอกล่าวว่า ผู้สมัครอย่าวางใจที่จะคิดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ จะพยายามสอบถามเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจนครบถ้วน เพราะเป็นหน้าที่ของนักเรียนเองที่จะทำให้มั่นใจว่าเอกสารที่ส่งไปมีความสมบูรณ์เรื่ององค์ประกอบด้านต่างๆ ของผู้สมัคร

และนั่นหมายความว่า ถ้าหากตนมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียน ด้วยเหตุผลด้านการเงินที่ต้องทำให้ผู้สมัครทำงานขณะเป็นนักเรียน เรื่องราวเหล่านี้ก็ควรถูกระบุในเอกสารสมัครเรียนมหาวิทยาลัยด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook