รู้จัก “Mayday” ทีมคนรุ่นใหม่ จุดไฟการเปลี่ยนแปลงด้วย “ป้ายรถเมล์”

รู้จัก “Mayday” ทีมคนรุ่นใหม่ จุดไฟการเปลี่ยนแปลงด้วย “ป้ายรถเมล์”

รู้จัก “Mayday” ทีมคนรุ่นใหม่ จุดไฟการเปลี่ยนแปลงด้วย “ป้ายรถเมล์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขึ้นชื่อว่าเป็นชาวกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะโดยกำเนิดหรือย้ายถิ่นฐานมาเพื่อหน้าที่การงาน เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยสัมผัสประสบการณ์สุดระทึกใจกับการขนส่งสาธารณะอย่าง “รถประจำทาง” หรือ “รถเมล์” ที่นอกจากจะซิ่งสุดเหวี่ยงโดยไม่แคร์สังขารเครื่องยนต์ ยังมี “ป้ายรถเมล์” ที่เด่นเป็นสง่าพร้อมความตลกร้ายที่ขำไม่ค่อยออก ด้วยสภาพที่เก่าโทรม ซ้ำร้ายป้ายบางจุดยังหายไปอย่างลึกลับ ทำให้ชาวกรุงต้องเอาตัวรอดโดยการถามข้อมูลสายรถเมล์จากคนละแวกนั้น หนักเข้าก็เรียกแท็กซี หรือซื้อรถขับซะเลย จนปัญหาเล็กๆ อย่างป้ายรถเมล์ ทำให้ปริมาณรถบนถนนเพิ่มขึ้น ลุกลามเป็นปัญหารถติดในที่สุด

และเพราะทรัพยากรที่มีจำกัดและมีค่ามากที่สุดอย่าง “เวลา” ถูกผลาญไปบนถนนหลายชั่วโมงต่อวัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่คิดจะ “ชิน” กับปัญหานี้อีกต่อไป จึงลุกขึ้นมาใช้ความรู้และสามารถที่มี จุดประกายการแก้ปัญหาด้วย “งานออกแบบกราฟิก” ภายใต้ชื่อ “Mayday”

 (แถวยืนจากซ้าย) วริทธิ์ธร สุขสบาย (แวน),  เตชิต จิโรภาสโกศล (อ๊อฟ), กัลย์ธีรา สงวนตั้ง (โต๊ด)  (แถวนั่งจากซ้าย)  วีร์ วีรพร (วีร์), อำภา น้อยศรี (เอิ้น), สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล (เนย), วิภาวี กิตติเธียร (อุ้ม)(แถวยืนจากซ้าย) วริทธิ์ธร สุขสบาย (แวน), เตชิต จิโรภาสโกศล (อ๊อฟ), กัลย์ธีรา สงวนตั้ง (โต๊ด) (แถวนั่งจากซ้าย) วีร์ วีรพร (วีร์), อำภา น้อยศรี (เอิ้น), สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล (เนย), วิภาวี กิตติเธียร (อุ้ม)

วันนี้ Sanook! จึงนัดพูดคุยกับกลุ่ม Mayday อันได้แก่ วริทธิ์ธร สุขสบาย (แวน) กราฟิกดีไซน์เนอร์, สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล (เนย) Content Writer และวิภาวี กิตติเธียร (อุ้ม) นักวิจัย พร้อมพันธมิตรนักออกแบบกราฟิกจากสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGA) ซึ่งประกอบด้วย กัลย์ธีรา สงวนตั้ง (โต๊ด) เลขาธิการสมาคม, เตชิต จิโรภาสโกศล (อ๊อฟ) กรรมการสมาคม และ วีร์ วีรพร (วีร์) กราฟิกดีไซน์เนอร์และที่ปรึกษาของสมาคม ร่วมด้วย อำภา น้อยศรี (เอิ้น) ผู้จัดการ TCDC Commons ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการปฏิบัติงานของทีมงานตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อหาคำตอบว่า งานออกแบบกราฟิกจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ได้อย่างไร

 

เปิดฉากอย่างเร้าใจ
เมื่อถามว่าป้ายรถเมล์ในปัจจุบันมีปัญหาอะไรบ้าง บทสนทนาก็เริ่มขึ้นอย่างเร้าใจว่า “ถามว่าป้ายในปัจจุบันมันไม่มีปัญหาอะไรบ้างดีกว่า” เพราะนอกจากป้ายจะเก่าโทรม ข้อมูลบนป้ายไม่อัพเดต บางจุดก็ไม่มีป้าย ทว่าปัญหาที่สำคัญก็คือ “นโยบายรัฐ”

วีร์: ผมรู้สึกว่าหลายอย่างในประเทศนี้ มันถูกทำมาแบบสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่ามี โดยไม่ได้คิดว่าทำให้ใคร มันสะท้อนทัศนคติของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจว่าเขาไม่เอาประชาชนเข้ามาเป็นจุดตั้งต้นของโจทย์ คือถ้าสมมติว่าป้ายรถเมล์ ก็ต้องถามว่าป้ายรถเมล์มีไว้เพื่ออะไร มีไว้เพื่อให้คนเดินทางรู้ว่าจะต้องไปทางไหน ข้อมูลการเดินทางต้องอัพเดต คนแบบไหนจะเป็นคนอ่าน ต้องคิดถึงความลำบากของคนที่จะเกิดขึ้นในการมอง หรือรับรู้ข้อมูล

อ๊อฟ: จริงๆ คือดีไซน์ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างหรือการจัดการข้อมูลอย่างเดียว แต่ว่ามันจะมีการจัดการความรู้สึกด้วย อย่างที่สมัยนี้เขาบอกว่านักออกแบบต้องมีความเห็นอกเห็นใจ มีความรู้สึกมีส่วนร่วมกับคนอื่น ซึ่งมันจะสะท้อนผ่านภาษาภาพบนป้าย แต่ป้ายรถเมล์ทุกวันนี้ไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนใช้

เนย: มีอยู่วันหนึ่งที่ไปขึ้นรถเมล์ ประมาณตี 2 หรือตี 3 มีผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ พอรถเมล์มาเขาก็ไม่พูดอะไร เขาก็ยื่นโทรศัพท์มาให้เราดูว่าจะไปรัชดาซอย 7 แต่เขาพูดไม่ได้ เขาก็ถามว่าคันนี้ไปได้ไหม ปรากฏว่าไม่มีรถแล้ว และคนตรงนั้นก็ไม่รู้ว่ายังมีรถมาอีกหรือเปล่า ยังมีรถคันอื่นที่ยังพอจะกะเวลาได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมาหรือเปล่า เราก็รู้สึกว่าบ้านเราโคตรลำบากเลย แค่อยากรู้ว่ารถคันนี้ไปบ้านเราไหมยังไม่ได้ เหมือนมันไม่มีอะไรแน่นอนเลย

Mayday

Mayday! Mayday!
แม้สมาชิกทั้งหลายจะ “อิน” กับปัญหาป้ายรถเมล์ แต่ผู้ที่เริ่มปฏิบัติการ “ป้ายรถเมล์เปลี่ยนชีวิต” กลับเป็นแวน ที่ทำงานพัฒนาชุมชนและสถาปัตยกรรมบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และเห็นถึงข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งบังคับให้ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาต้องใช้การขนส่งสาธารณะเท่านั้น ประกอบกับการที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แวนจึงเห็นโอกาสที่จะนำความสามารถด้านการออกแบบกราฟิกมาใช้แก้ปัญหาเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

แวน: ครั้งแรกเราก็คิดไอเดียเรื่องป้ายรถเมล์ขึ้นมา แล้วก็ตั้งเพจ Mayday ขึ้นมาในเฟซบุ๊ก เพื่อให้คนเห็นและวิจารณ์ และเก็บฟีดแบ็กจากผู้ที่ติดตามเพจมาพัฒนาต่อ จากนั้นก็นำไปเสนอกรมขนส่งทางบกและกทม. ให้ลองปรับพื้นที่เดิมที่มีอยู่ เพื่อทำให้การเดินทางง่ายขึ้น แต่ กทม. มีหน้าที่แค่ดูแลป้าย ไม่รู้ว่ารถเมล์แต่ละสายมีสายไหนที่ผ่านบ้าง เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบการเดินรถเป็น ขสมก. เราก็เลยมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่แต่ละหน่วยงานจะมาช่วยกันทำ ก็ได้ป้ายรถเมล์เฟสแรก ซึ่งติดตั้งตรงเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และฝั่งที่ขึ้นและลงจากสะพานพระปิ่นเกล้า 2 จุด

จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนใกล้งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แวนจำเป็นต้องขยายโครงการของตัวเองอีกครั้ง เพื่อรองรับจำนวนคนจากทั่วประเทศที่จะเข้ามาร่วมงาน โดยขยายพื้นที่ติดตั้งป้ายออกไปในเกาะรัตนโกสินทร์ และเขตเมืองเก่าก็คือข้ามคลองโอ่งอ่างไปถึงคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งจากการสำรวจและเก็บข้อมูลป้ายรถเมล์ทั้ง 160 ป้าย ร่วมกับอาสาสมัครจาก TEDx Bangkok แวนก็ได้เห็นปัญหาบางอย่าง

Mayday

ร่วมมือกับ ThaiGA
สภาพป้ายรถเมล์เก่าและข้อมูลที่ไม่เป็นระบบระเบียบ ทำให้แวนตัดสินใจหันมาหาที่ปรึกษาอย่างอ๊อฟ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGA) ที่เคยร่วมงานกันมาก่อน และตามด้วยวีร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ ThaiGA

อ๊อฟ: งานนี้ถือเป็นงานแรกๆ ของกรรมการ ThaiGA ชุดนี้ เพราะผมรู้สึกว่าเราก็ทำงานอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมและการออกแบบ แต่ในมิติเชิงสังคมยังไม่ค่อยเข้าถึง ผมเลยไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมการสมาคมว่า ถ้าเราอยากจะเริ่มต้นทำให้การออกแบบเรขศิลป์หรือการออกแบบกราฟิกมีคุณค่าขึ้นมา ก่อนที่เราจะเรียกร้องให้คนอื่นให้คุณค่าเรา ทำไมเราไม่เอาคุณค่าของเราไปให้กับคนอื่นก่อน พอดีตอนทำงานป้อมมหากาฬแล้วเจอแวนกับกลุ่มเขาพอดี ประจวบเหมาะกับการที่เรามีหน้าที่ มีบทบาทเข้ามา ก็เลยลองถามและลองนำเสนอดู

วี: ผมเชื่อมาตลอดว่างานออกแบบมันต้องรับใช้สังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ผมไปเรียนที่อังกฤษมา จากที่เคยรู้ว่าระบบการขนส่งของลอนดอนมันเจ๋งมาก พอไปสัมผัสจริงก็ตกใจว่าเราสามารถจัดการเวลาในชีวิตไม่ให้ติดอยู่บนถนนได้ ถ้าถามว่าอยากทำอะไรในฐานะกราฟิกดีไซน์เนอร์มากที่สุด ก็คืออยากทำงานกราฟิกให้ข้อมูลในพื้นที่สาธารณะในสเกลเมือง พอมาเห็นโปรเจ็กต์นี้ก็ชื่นชม ไปไลก์เพจ ไปคอมเมนต์ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีสองคนนี้มาชวน

Mayday

กระบวนการสู่ความเปลี่ยนแปลง
อ๊อฟบอกกับเราว่า งานออกแบบกราฟิกจำเป็นต้องมีเนื้อหา และ Mayday ก็เป็นรูปแบบกระบวนการสร้างงานออกแบบที่ดี คือมีนักวิจัย 1 คน มีคนเอางานวิจัยมาเขียนเป็นเนื้อหา 1 คน และก็มีคนนำเนื้อหาไปพัฒนาเป็นภาษาภาพอีกคน ซึ่งสามารถขยายไปในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้ โดยขั้นตอนแรก ทีมงานได้จำลองปัญหาของผู้ที่ใช้ระบบขนส่งมวลชน และผู้ที่สามารถสะท้อนปัญหาได้จริงก็คือแวน ผู้เชี่ยวชาญด้านรถเมล์ที่เป็นรองแค่แฟนพันธุ์แท้รถเมล์ไทยเท่านั้น

แวน: ผมเคยไปยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แต่รู้สึกว่าไม่มีเลขที่เราคุ้นเคยเลย เพราะเขาเว้นวรรคผิดหมด ถ้าคนไม่สังเกตจุดหรือเครื่องหมายลูกน้ำที่เล็กนิดเดียว เขาจะอ่านข้อมูลผิด แล้วก็สับสนไปหมด เราก็เริ่มคิดจากปัญหาตรงนั้นแล้วก็ค่อยๆ เอาการออกแบบมาแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่เราพยายามทำให้พื้นฐานที่มันควรจะมี มันมี

 Mayday

ขณะที่คลี่ปัญหาเรื่องป้ายรถเมล์ออกมา อุ้ม ซึ่งเป็นนักวิจัย ก็รับหน้าที่รวบรวมข้อมูลสายรถเมล์ทั่วกรุงเทพ ที่สุดท้ายพบว่าเป็นข้อมูลเก่าทั้งสิ้น ทำให้ทีมงานต้องพึ่งพาอาสาสมัครจาก TEDx Bangkok มาช่วยเก็บตำแหน่งป้าย ตั้งชื่อป้าย และได้กลุ่ม Bangkok Bus Club มาช่วยอัพเดตข้อมูล ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้มาจัดสรรให้เป็นระบบ และหาอาสาสมัครนักออกแบบกราฟิกมาช่วยวางข้อมูลตามเทมเพลตที่มีอยู่ ทว่าเมื่อเห็นตัวอย่างผลงานสุดบรรเจิดที่ส่งมา ทีมงานถึงกับเปลี่ยนใจ และจัดเวิร์คช็อประดมสมองแทน

 Mayday

อ๊อฟ: เราหานักออกแบบโดยการโยนโจทย์กว้างๆ ให้นักออกแบบทุกคนสะท้อนไอเดียของตัวเองออกมาผ่านงานออกแบบ ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรมาก ให้ทุกคนเลือกสี เลือกฟอนต์ ดีไซน์ และลำดับความสำคัญเองได้เลย

วีร์: เราให้นักออกแบบทั้ง 10 คน ทำคนละ 2 แบบ แบบหนึ่งคือทำตามเทมเพลตเดิม แบบที่สองคือเสนอสิ่งที่เขาคิดว่าดีกว่า แล้วก็เอาทั้ง 10 แบบนี้มาโชว์กัน ตอนที่ทุกคนนำเสนอแบบ อ๊อฟก็จะจดโน้ตว่าใครนำเสนออะไร ส่วนผมก็จะติดโพสต์อิตเรื่องประเด็น พอครบหมด 10 คน เราจะเห็นเลยว่าเรื่องไหนถูกพูดถึงมากหรือน้อย แล้วก็มาคุยกันว่าข้อมูลก้อนนี้จะแสดงด้วยวิธีไหน แล้วเราก็อภิปรายเพื่อหาจุดร่วมไปทีละประเด็น เราเลยเชื่อว่าป้ายของเราเป็นสิ่งที่ใช้งานได้มากที่สุดที่เราทำได้ในข้อจำกัดต่างๆ

 Mayday

แวน: การออกแบบก็จะคำนึงถึงการให้ผู้อ่านอ่านได้ง่าย และได้ข้อมูลที่มีการพัฒนามากขึ้น เช่น เส้นทางนี้จะพาเขาไปไหนได้บ้าง มีสีเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ที่ตาบอดสี การติดตั้งเพิ่มเติมและบำรุงรักษาง่าย หรือตอนที่มอบหมายงานให้อาสาสมัคร เรามีเวลาให้ทำคนละ 1 อาทิตย์ เราจึงต้องออกแบบวิธีการที่ช่วยให้ทำงานได้เร็วและผิดพลาดน้อยกว่า ต้องเอากรอบทุกอย่างมาใส่โดยที่งานของเราต้องพัฒนาไปจากเดิมด้วย

 Mayday

จากการทำงานร่วมกันอย่างหนัก ผลที่ได้คือป้ายบอกสายรถเมล์ที่มีการอัพเดตข้อมูลอย่างถูกต้อง พร้อมรายละเอียดและตัวอักษรที่คัดเลือกมาอย่างดี อ่านได้ชัดเจน รวมทั้งสีสันที่ช่วยให้ผู้ที่ตาบอดสีสามารถแยกแยะสีสันได้

Mayday

“คนอื่นมาเห็นคงนึกว่าคนบ้าคุยกัน” อ๊อฟกล่าวถึงบรรยากาศขณะที่ทีมงานช่วยกันคัดเลือกแบบอักษรที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้อย่างจริงจัง

พื้นที่กลางเพื่อความเท่าเทียม
ในการร่วมงานของ Mayday และ ThaiGA สิ่งที่จำเป็นคือพื้นที่กลางสำหรับการทำงานร่วมกัน ซึ่งเอิ้น ได้เล่าให้ฟังว่าประทับใจการทำงานของ Mayday จากเฟซบุ๊กส่วนตัวของโต๊ด และตัดสินใจให้ทีม Mayday เข้ามาใช้พื้นที่ที่ TCDC Commons ซึ่งบังเอิญโต๊ดก็ต้องการใช้สถานที่ที่นี่พอดี การประสานงานจึงราบรื่นอย่างไม่น่าเชื่อ

อ๊อฟ: การที่เราได้มาอยู่ที่ TCDC Commons ถือว่ามีบุญมาก คือเรามีพื้นที่กลางที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ผมเชื่อว่าการทำงานแบบนี้จะทำให้โครงสร้างที่เป็น Top-down คลี่คลายไป สุดท้ายการจ่ายงานออกไปก็จะเท่าเทียมกัน เป็นแบบแนวนอน และทุกคนสามารถสะท้อนได้เท่ากัน มันไม่มีการสร้างลำดับขั้นขึ้นมา พอได้ที่ดีก็เหมือนงานเสร็จไปครึ่งหนึ่ง เหมือนดินดี ปลูกอะไรก็ขึ้น

Mayday

จุดเริ่มต้นของความเข้าใจ
ในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ย่อมต้องร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลและมีอำนาจตัดสินใจในพื้นที่ และปัญหาสุดคลาสสิกเกี่ยวกับการติดต่อราชการคือความล่าช้าและความไม่เข้าใจระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับแนวคิดของนักออกแบบ แต่ Mayday ก็ผ่านมาได้ด้วยดี และยังเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป

เนย: ช่วงแรกๆ ที่เอาแบบไปเสนอ ก็มีผู้ใหญ่มานั่งฟัง แล้วก็ตั้งคำถาม เราก็ตอบให้เขาเข้าใจมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้เขามองเห็นภาพเดียวกับเราว่าเรื่องนี้สำคัญ ในเมื่อตอนนี้ผู้ใหญ่ยังมองไม่เห็น เราก็พยายามป้อนข้อมูล อธิบายให้เห็นภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเขา เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาไม่รู้อะไร ก็ค่อยๆ บอก ทำความเข้าใจกันไป

Mayday

อ๊อฟ: สุดท้ายสิ่งที่ทำไป พอมีคนชม เขาก็จะเข้าใจว่ามันดี คือสุดท้ายเขาก็รับรู้สะท้อนผ่านเสียงของประชาชนว่ามันดี จริงๆ ขณะที่พวกเราอยู่ในพื้นที่ที่แลกเปลี่ยนกันได้ ถ้าภาครัฐสนใจที่จะอยู่ในพื้นที่เดียวกันและแลกเปลี่ยนพร้อมกัน มาทำงานร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน ผมว่าความเข้าใจร่วมก็จะเกิดได้เร็วขึ้น

แวน: ตอนนี้เวลาเราเข้าไปหาหน่วยงานรัฐ สิ่งที่เราเห็นมันเป็นภาพหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่คล้ายกัน ทุกคนอยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองทำงาน แต่ไม่คุยกัน ก็กลายเป็นว่าทุกคนทำงานแต่งานไม่เดินไปไหนสักที เพราะไม่มีใครฟังใคร รัฐเองก็ไม่ฟังกันเอง แล้วเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาต้องฟังประชาชน สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากให้เกิดการพัฒนา อยากให้เขาฟังกันและฟังเรา เพื่อจะได้เดินทางมาเจอกันได้

Small Change, Big Move
อย่างไรก็ตาม โต๊ดเสนอว่า ความท้าทายอีกอย่างที่ Mayday จะต้องรับมือก็คือ “ความเคยชิน” ของคนไทย ที่เกิดขึ้นมานานจนแทบจะหลอมรวมเป็นชีวิตประจำวันของชาวเมืองไปแล้ว และการเปลี่ยนป้ายรถเมล์จุดเล็กๆ อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทันที ดังนั้น การทำงานของ Mayday จึงยืนอยู่บนแนวคิด Small Change, Big Move

Mayday

ออฟ: เราคาดหวังว่าโครงการนี้เป็น kickstart ในเชิงกายภาพ และสร้างความตระหนัก เพราะก่อนหน้านี้เราโดนโกหกมาตลอด ก็ไม่แปลกที่คนจะไม่เชื่อ แต่ถ้าเราตั้งใจ วิจัยจริงจัง รีเช็คหลายรอบ มันอาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำไปเป็นข้อมูลที่ถูกต้องระดับหนึ่ง หลังจากนี้ถ้าผู้ใช้เรียนรู้ที่จะใช้งานภาษาภาพในการรับข้อมูล เขาก็จะเริ่มกลับมามีความเชื่อในการอ่านหรือทักษะในการตีความภาษาภาพเพิ่มเติม เราก็หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น

แวน: งานนี้มันไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นที่เราลุกขึ้นมาทำอะไร แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนเห็นว่าภาคประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐแบบที่เรามาเจอกันครึ่งทางได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเรียนรู้ระบบการอ่าน เรียนรู้เรื่องกราฟิก สี ตัวอักษร เริ่มจำชื่อถนน รัฐเองก็ต้องเรียนรู้การทำงานที่รัฐจะต้องไปต่อยอดอีก เรียนรู้ว่าทุกอย่างมีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นเวลา การออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์

วี: ผมพูดอยู่ตลอดว่า กราฟิกดีไซน์เป็นอาชีพปลายทาง ไม่ใช่ฮีโรของอะไรทั้งนั้น เพราะว่าเราไม่ได้สร้างเนื้อหาเอง ไม่ได้ระบุปัญหาเอง แต่เราต้องพูดแทนหลายๆ คน พูดให้หลายๆ คนฟัง ด้วยความชำนาญในการย่อยข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างออกมาเป็นภาพ แต่ในความเป็นปลายทาง เรารู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นจุดที่ เชื่อมต่อกับคนโดยตรง เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะค่อยๆ แก้ปัญหาให้มันขึ้นไปต้นทาง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าโปรเจ็กต์นี้มันจะเขย่าจากล่างขึ้นบนไปได้ไกลแค่ไหน ก็หวังว่ามันจะค่อยๆ เขย่าขึ้นไป

Mayday 

ความสำเร็จครั้งแรก
แม้ว่าจะเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้นไม่นานนัก Mayday ก็ยังคงยืนยันว่าป้ายรถเมล์กว่า 100 ป้ายที่ได้นำไปติดตั้งที่เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นผลงานที่พวกเขาภูมิใจอย่างมาก

อุ้ม: เราโชคดีมากๆ ที่ได้เกาะรัตนโกสินทร์ ในช่วงที่กำลังมีคนต่างถิ่นที่ไม่เคยมีประสบการณ์การเดินทางในละแวกนี้โดยระบบขนส่งใดๆ มาก่อน เป็นสนามทดลองที่ดีมากว่าป้ายของเรามีศักยภาพมากแค่ไหน เพราะว่าเราได้ติดตั้งล่วงหน้าก่อนวันจริงแค่ไม่กี่วัน แต่เราก็เห็นว่ามีคนไปดูอยู่ตลอด ทั้งชาวต่างชาติ คนที่มาเข้าร่วมงาน แม้กระทั่งคนจีนที่อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก แต่ก็พยายามทำความเข้าใจป้าย

เนย: มีคนส่งข้อความมาในเพจว่าอยู่ที่ท่าพระอาทิตย์ ก็มารอรถเมล์ตรงป้ายนี้ตลอดเลย ก็จะเห็นว่านักท่องเที่ยวมาถามทางอยู่เสมอ พอมีป้ายนี้ นักท่องเที่ยวก็ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ไม่เหนื่อย ไม่ลนลาน หรือว่าต้องหาคนถาม เราว่ามันก็ตอบโจทย์ในระดับหนึ่ง

Mayday

ภารกิจระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ภารกิจของ Mayday ยังไม่จบสิ้น เพราะยังมีป้ายรถเมล์อีก 10 ป้ายที่ยังไม่ได้ติดในพื้นที่รอบสนามหลวง และขณะนี้ทีมงานยังคงพูดคุยกันในเรื่องการวางระบบในระยะยาวที่ทำให้ กทม. และหน่วยงานรัฐอื่นๆ สามารถดำเนินการดูแลรักษาป้ายต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งผลักดันกระบวนการความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐ ขับเคลื่อนการจัดการข้อมูลรถเมล์ทั้งกรุงเทพทั้งหมดให้เป็นระบบเป็นมาตรฐานและเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ และวิจัยและวิเคราะห์ user experience เพื่อพัฒนาป้ายรุ่นใหม่ๆ ทั้ง 4,000 ป้ายทั่วกรุงเทพฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook