20 ข้อควรรู้ ก่อนไปเรียนต่อที่ประเทศจีน
1.ไม่ต้องมีพื้นฐานภาษาจีน ก็เรียนปริญญาที่จีนได้
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งในจีน เปิดหลักสูตรปริญญาแบบอินเตอร์–ภาษาอังกฤษ มากขึ้น โดยเฉพาะปริญญาโทและปริญญาเอก หากคิดว่ามีทักษะภาษาอังกฤษเพียงพอ สามารถเลือกเรียนแบบอินเตอร์ได้
หลักสูตรอินเตอร์ของทุกมหาวิทยาลัย จะบรรจุ วิชาภาษาจีน เพื่อให้เรามีความรู้ทางภาษาจีน เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันในเมืองจีนได้
ถ้าหากไม่มีพื้นฐานภาษาจีน หรือคะแนนทดสอบระดับภาษาจีน (HSK) ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ คือ HSK4 สำหรับปริญญาตรี และ HSK 5 หรือ 6 สำหรับปริญญาโทและเอก สามารถเรียนคอร์สภาษาจีน เพื่อปรับภาษาจีนของเราก่อนที่จะเริ่มเรียนได้
บางมหาวิทยาลัยอาจ บังคับให้เราสอบผ่าน HSK ในระดับที่กำหนด แม้เราจะเรียนในหลักสูตรอินเตอร์ก็ตาม เพื่อเป็นกุศโลบาย ให้เราสนใจเรียนภาษาจีนซึ่งจริง ๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะที่นี่คือเมืองจีน ภาษาจีนสำคัญสุดสุด
2. ค่าใช้จ่ายไม่แพงอย่างที่คิด
ค่าใช้จ่ายในการเรียนปริญญาที่เมืองจีน คิดเป็นรายปี และค่อนข้างถูก ถ้าเทียบกับประเทศอื่น และยังมีทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาอีกเป็นจำนวนมากโดยไม่มีข้อผูกมัด อย่างเช่น ทุนการศึกษารัฐบาลจีน, ทุนการศึกษาของสถาบันขงจื่อ ,ทุนการศึกษาของมณฑล/เมือง ,ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
3. หลักสูตรอินเตอร์ที่อาจไม่อินเตอร์อย่างที่คิด
ในบางมหาวิทยาลัย แม้เราเลือกเรียนเป็นหลักสูตรอินเตอร์ แต่บางคลาส บางวิชา เราอาจต้องเรียนเป็นภาษาจีน เรียนร่วมกับคนจีน เนื่องจากจำนวนนักศึกษาต่างชาติในสาขานั้น มีจำนวนน้อย
4.เพื่อนร่วมชั้นเรียน
หากเรียนในหลักสูตรภาษาจีน จะเรียนร่วมกับคนจีน ซึ่งการแข่งขันค่อนข้างสูง และกดดัน เพราะคนจีนขยันมาก และถ้าหากเรามีความสามารถทางภาษาอังกฤษ เราจะเนื้อหอมเป็นพิเศษ
หากเรียนในหลักสูตรอินเตอร์ เพื่อนร่วมคลาสส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะสัญชาติปากีสถาน แอฟริกัน และเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย
หากเรียนภาษาจีนระยะสั้น – ระยะยาว เพื่อนร่วมคลาสส่วนใหญ่น่าจะถูกใจสาวไทยเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ เกาหลีใต้
5. สภาพอากาศหลากหลาย
สภาพอากาศที่เมืองจีน ในฤดูหนาว จะหนาวจัด ฤดูร้อนจะร้อนจัด โดยเฉพาะทางเหนือของประเทศจีน ส่วนทางใต้ อากาศค่อนข้างโอเค สำหรับคนไทย หนาวไม่มากจนเกินไป พอทนได้ และยังมีหิมะให้ได้เห็นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศของจีนค่อนข้างเปลี่ยนแปลงบ่อย ใน 1 วัน อาจมีครบทั้ง ฝน แดด หนาว ซึ่งบางครั้ง ตอนเช้าแดดออกอยู่ดีดี แต่ตกกลางดึก หิมะตกก็มีมาแล้ว
อีกอย่างหนึ่งที่ควรระวังคือ ปัญหาฝุ่นควัน ในเมืองจีน อย่าอายที่จะใส่หน้ากากป้องกัน เพราะสุขภาพของเราสำคัญที่สุด
6.ค่าครองชีพแต่ละเมืองแตกต่างกัน
ค่าครองชีพที่เมืองจีน จะแตกต่างกันไปตามแต่เมืองที่เราเลือก ถ้าเราเลือกเรียนที่เมืองใหญ่ อย่างเช่น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กวางโจว ค่าครองชีพอาจจะค่อนข้างสูงสักนิด แต่สำหรับพวกเราที่เป็นนักเรียนนักศึกษา วิธีการประหยัดที่ดีที่สุด คือการกินอาหารในโรงอาหาร เพราะกับข้าวในโรงอาหารจีนค่อนข้างมีราคาถูก แม้รสชาติอาจจะไม่ค่อยถูกปากพวกเรานัก หรือ ทำกับข้าวเองในหอพักนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่หอพักนักศึกษาต่างชาติ จะมีห้องครัวรวม ให้พวกเราได้ทำอาหารได้
7.สวรรค์ของการช้อบปิ้ง
สินค้าเมืองจีนค่อนข้างถูก มีหลายเกรด หลายราคาให้เราเลือกซื้อ ถ้าหากเราเลือกซื้อสินค้าตามร้านค้าทั่วไป เราต้องอย่าอายที่จะต่อราคา เพราะพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน มักตั้งราคาสูงเกินจริง โดยเฉพาะหากรู้ว่าเราเป็นต่างชาติ
ช้อปปิ้งออนไลน์ (Taobao.com, Tmall.com) ถือเป็นสวรรค์ของนักศึกษาไทย เพราะราคาถูกและสะดวก แต่ต้องพึงระลึกไว้ว่า ตาดีได้ ตาร้ายเสีย
นอกจากนี้ บริการในเมืองจีน จะราคาถูกลงมาก หากเราใช้บริการผ่านทางแอพพลิเคชันออนไลน์ เช่น ซื้อตั๋วภาพยนตร์ หากเราซื้อหน้าเคาท์เตอร์ เราอาจต้องเสียเงินถึง 100หยวน ในขณะที่ เสียเพียง 25หยวน หากซื้อผ่านแอพพลิเคชัน
8. จ่ายเงินออนไลน์ได้ (เกือบ) ทุกอย่าง
การจ่ายเงินออนไลน์ในเมืองจีน ถือเป็นสิ่งพื้นฐานที่เริ่มมาแทนที่การจ่ายเงินด้วยเงินสด เพราะสะดวกสบาย และมักได้ส่วนลด อย่างเช่น Alipay, WeChat payment แม้แต่พี่วินหน้าปากซอย เรายังสามารถจ่ายเงินด้วย WeChat payment และเมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ไม่ต้องนำเงินใส่ซองแดงให้เสียเวลา เพียงแค่ส่งซองแดงออนไลน์ ผ่านทาง QQ, WeChat เป็นอันเรียบร้อย
9.ห้ามใช้สื่อโซเซียล
Facebook, Google, Gmail, Youtube, Twitter,Line (อาจใช้ได้บน Android) , Instagram และบริการออนไลน์ยอดฮิตอื่น ๆ ถูกบล็อกในเมืองจีน โดยจะถูกแทนที่ด้วยบริการของคนจีน อย่าง Renren,Baidu,126.com,Youku, Weibo,WeChat,QQ ถ้าหากเราต้องการใช้บริการที่ถูกบล็อก เราต้องใช้ตัวช่วยที่เรียกว่า “VPN”
10.อาหารจานใหญ่มาก
อาหารการกินในเมืองจีน จะเน้นปริมาณเข้าว่า ใครมาจีนในช่วงแรก อาจจะยังไม่ค่อยชิน และกินอาหารไม่หมด เพราะที่นี่ให้เยอะมากจริง ๆ และอาหารค่อนข้างมัน
11.คนส่วนใหญ่งีบตอนกลางวัน
ที่เมืองจีน ส่วนใหญ่จะเป็นเหมือนกันหมดทั่วประเทศ ทั้งสถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียน รวมถึงบริษัทเอกชน ที่จะมีช่วงเวลานอนพักกลางวัน ประมาณ 2 – 2.5 ชั่วโมง
12.ประสบการณ์นอนที่ห้องแลป
การเรียนในระดับปริญญา โดยเฉพาะ ปริญญาโท/ปริญญาเอก อาจต้องพบกับประสบการณ์นอนที่แลป โดยเป็นการนอนแบบจริง ๆ มีเตียง เครื่องนอนพร้อม เพราะที่นี่ เรียนหนัก ทำงานหนัก บางแลปมีกฎในการเข้าแลป 8.30 – 22.00น. แต่ยังดี ที่มีเวลาพักช่วงบ่ายและช่วงเย็น ช่วงละประมาณ 2-3 ชม.
13.ขอถุงต้องเสียเงิน
ซื้อสินค้าที่เมืองจีน อย่าลืมบอกว่า เอาถุงด้วย เพราะที่นี่ Supermarket, ร้านค้า,มินิมาร์ท ส่วนใหญ่ จะคิดค่าถุงพลาสติก นอกจากนี้ จงอย่าแปลกใจ หากไปกินข้าวที่ร้านอาหาร แล้วสั่งแบบเอากลับบ้าน หรืออาหารเหลือแล้วห่อกลับ พนักงานจะเอาถุงพลาสติกมาใส่ให้เรา แบบไม่มีถุงร้อนแบบบ้านเรา ถ้าไม่เคยชินกับการห่อกลับบ้านแบบนี้ แนะนำให้ถามทางร้านว่า มีแบบกล่องไหม ถ้ามี ก็จะเสียเงินเพิ่มอีก 1-2 หยวน
14.เสียงดังเป็นเรื่องปกติ
เสียงดังเป็นเรื่องปกติของคนจีน ในความเชื่อของคนจีน เสียงดังมาก ยิ่งจริงใจ และสนิทสนม แต่เสียงดังบนท้องถนนจากการบีบแตร นั่นไม่ใช่ว่าคนจีนสนิทสนมกันนะ แต่เป็นเรื่องปกติของที่เมืองจีนในชั่วโมงเร่งรีบ ซึ่งในความเป็นจริง ดูเหมือนจะรีบตลอดเวลา
15.การแซงคิวเป็นเรื่องปกติ
การถูกคนจีนเหยียบเท้า เดินชน ผลัก ทั้งขณะเดิน โหนรถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือแม้กระทั่งเข้าลิฟต์ โดยเฉพาะ “การแซงคิว” ขอให้ทุกคนมีความอดทนอดกลั้น และเข้าใจนิสัยของคนจีน เพราะพวกเขาถือว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่มีใครใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากจำนวนประชากรจีนค่อนข้างเยอะ และทุกคนต้องเร่งรีบต่อเวลา ดังนั้น การกระทบกระทั่ง การชนกัน ถือเป็นเรื่องปกติของที่นี่ และมักจะไม่มีคำขอโทษออกมา แต่ถ้าหากเราส่งเสียงโวยวายออกมาสักนิด และแสดงตัวว่าเป็นชาวต่างชาติ คนจีนส่วนใหญ่ก็จะรีบขอโทษเราโดยทันที
16.กับดักระเบิด “น้ำลาย”
บนทางเดิน หากได้ยินเสียงชาร์จพลัง มาแต่ไกลให้รีบเดินเลี่ยงทันที มิเช่นนั้น อาจจะโดนกับดักระเบิด การถ่มน้ำลายของคนจีน ถือเป็นเรื่องปกติที่เรามักพบเห็นกันทั่วไป แต่ในปัจจุบัน จากการสังเกต การถ่มน้ำลายเริ่มน้อยลง(เล็กน้อย)
17.คนจีนชอบคนไทย
คนจีนส่วนใหญ่ ชอบคนไทย ดาราไทย สินค้าไทย สถานท่องเที่ยวไทย ดังนั้นไม่ใช่เรื่องยากที่จะผูกมิตรกับคนจีน และเมื่อคนจีนรู้ว่าเราเป็นคนไทย มักทักทายเราด้วย “สวัสดีค่ะ” ไม่ว่าคนจีนที่พูดจะเป็นหญิงหรือชาย เนื่องจากไม่ทราบความแตกต่างระหว่าง “ค่ะ” กับ “ครับ”
และอย่าแปลกใจ เมื่อคนจีนทำหน้าตาสงสัยและจ้องมาทางเราอย่างไม่แคร์สื่อ เมื่อได้ยินเราพูดภาษาไทย และคำถามที่ตามมาก็คือ “คุณเป็นคนชาติไหน?” “เกาหลี ใช่ไหม?” เพราะที่เมืองจีน คนเกาหลีเยอะมาก พอเห็นคนเอเชีย ก็ทึกทักว่าเกาหลีไว้ก่อน หรือถ้าใครที่มีเชื้อสายจีน ก็จะโดนมองว่าเป็นคนจีนไปโดยปริยาย อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนมักเจอ เมื่อเราบอกไปว่าเป็นคนไทย จะมีคำถามตามมาว่า “ไถวัน –ไต้หวัน ใช่ไหม?” ต้องย้ำหลายรอบกว่าจะเข้าใจว่า ประเทศเราน่ะ Thailand Not Taiwan
18. “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
การเรียน การใช้ชีวิตที่เมืองจีน ต้องยึดถือคติ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยเฉพาะการเรียน จะไม่มีการจ้ำจี้จ้ำไชแบบที่เมืองไทย หากเรามีข้อสงสัยอะไร ต้องการรู้อะไร เราต้องถาม ไม่ควรอาย เพราะหากเราไม่ถาม ก็จะไม่มีใครบอกเรา
ทำใจไว้เผื่อเลยว่า เราอาจจะเจอวัฒนธรรมแบบจีนจีน ที่เวลาเราถามอะไรไป จะเจอกับความเงียบงัน โดยเฉพาะผ่านทางข้อความ
เตรียมใจไว้สำหรับการบอกเรื่องสำคัญล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการให้แน่ใจจริง ๆ เพราะที่เมืองจีนมีคติประจำใจ “การรักษาหน้า” คือจะกลัวเสียหน้าเมื่อบอกผิด และกลัวว่าหากปฏิเสธไปตรง ๆ ว่าไม่รู้ จะทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึก ดังนั้น สำหรับคนจีนการเงียบคือสิ่งที่ดีที่สุด
19.ไปท่องเที่ยวบ้าง
สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองจีน มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งท่องเที่ยวแนวประวัติศาสตร์ แนวธรรมชาติ แนวสมัยใหม่ ดังนั้นอย่ามัวเรียนอย่างเดียว ควรเดินทางท่องเที่ยว หาประสบการณ์ใหม่ในเมืองจีนบ้าง โดยเฉพาะการเป็นนักศึกษา เราสามารถใช้บัตรนักศึกษาลดราคาได้ แต่บางแห่ง จะไม่ลดราคาให้ หากเราเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท/เอก
20.คุณอาจตกหลุมรักประเทศนี้
สภาพความเป็นอยู่ในเมืองจีน ไม่ได้แย่ เหมือนที่หลายคนคิด ภายในตัวเมืองและย่านมหาวิทยาลัย ค่อนข้างมีระเบียบและสะอาด เพราะจะมีเจ้าหน้าที่คอยทำความสะอาดตลอด รวมถึงเทศกิจที่มักจะตรวจตรา คอยไล่พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ อยู่เป็นประจำ ความปลอดภัยมากพอสมควร มีกล้องวงจรปิดตามท้องถนนและสถานที่ต่างๆ รวมถึง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ คอยตรวจตรายามค่ำคืน
จากประสบการณ์ มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่พอมีโอกาสมาเรียนที่เมืองจีน ก็มักตกหลุมรักเมืองจีน (และคนจีน) และกลับมาที่เมืองจีนอีกหลายครั้ง