คุยกับ “กิตติพล สรัคคานนท์” ว่าด้วยความหมายของ “รางวัลปีศาจ”
ในวันที่คำว่า “วรรณกรรม” เปลี่ยนความหมายจากงานเขียนที่มีเนื้อหาจริงจัง มีไว้เพื่อส่งประกวดและเชิดชูขึ้นหิ้ง กลายเป็นเรื่องเล่าหลากหลายรูปแบบที่โลดแล่นอยู่ได้ทั้งบนหน้ากระดาษและหน้าจอคอมพิวเตอร์ ประกอบกับสไตล์การอ่านของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากในอดีต แต่รางวัลทางวรรณกรรมที่เป็นความฝันอันสูงสุดของนักเขียนหลายคนกลับไม่ได้เติบโตตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อำนาจการพิจารณาคัดเลือกยังคงอยู่ในมือของคณะกรรมการเพียงไม่กี่คน และมุ่งเน้นอยู่แค่ผลงานวรรณกรรมรูปแบบเดิมๆ ที่ดูจะไม่สามารถเข้าถึงผู้อ่านได้อีกต่อไป
เมื่อวิถีแบบเก่าไม่ตอบโจทย์ การมอบรางวัลให้แก่ผลงานทางวรรณกรรมจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและเปิดพื้นที่ให้กับงานแนวใหม่ใช่หรือไม่ มาฟัง “กิตติพล สรัคคานนท์” ผู้คร่ำหวอดในวงการวรรณกรรม เจ้าของสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และสำนักพิมพ์วิชาการอย่าง Illuminations รวมทั้งเป็นเจ้าของร้านหนังสือ Books & Belongings ผู้ซึ่งจุดประกายความเปลี่ยนแปลงในวงการวรรณกรรม ด้วยรางวัลแนวใหม่ที่มีชื่อน่าพิศวงว่า “รางวัลปีศาจ”
“เวลาเราพูดถึงวรรณกรรม เมื่อก่อนเราจะนึกถึงงานที่ส่งประกวดและได้รางวัลซีไรต์ ส่วนวรรณกรรมยอดนิยมหรือวรรณกรรมตาหวาน จะไม่นับอยู่ในประเภทของวรรณกรรม แต่ในปัจจุบัน นิยามของวรรณกรรมมันไม่ใช่แค่หนังสือที่จริงจังอย่างเดียวแล้ว มันมีงานเขียนอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องเล่าในพื้นที่ใหม่ๆ ดังนั้น เวลาพูดถึงวรรณกรรมไทย ผมคิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น สถานะของวรรณกรรมไทยก็จะมีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะมันมีสื่อชนิดใหม่ๆ เข้ามา” คุณกิตติพลเริ่มปูพื้นด้วยสถานการณ์เกี่ยวกับวงการวรรณกรรมของไทย
“ตลาดหนังสือเองก็เปลี่ยน คือความน่าสนใจของหนังสือยุคใหม่มันมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเนื้อหามันยากขึ้นอย่างชัดเจน หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เมื่อก่อนเขียนแล้วพิมพ์ไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้เขียนแล้วพิมพ์ได้ ผู้อ่านก็ฉลาดขึ้น รู้อะไรหลายอย่างมากขึ้นชัดเจน และไม่ได้แสวงหาความบันเทิง แต่แสวงหาสิ่งที่บันเทิงด้วยและก็ทำให้พวกเขาได้คิดด้วย หรือว่ามันเกิดความบันเทิงเวลาที่ได้คิดหรือทำความเข้าใจอะไรบางอย่าง อีกด้านหนึ่งคือลักษณะแพ็กเกจ หนังสือที่อ่านยากๆ ทุกวันนี้มีหีบห่อที่สวยงาม มีการออกแบบที่คิดมาหมดแล้ว แล้วหนังสือที่เราคิดว่าจะพิมพ์อย่างไรก็ได้ออกมาขาย อาจจะขายไม่ได้แล้ว”
“นอกจากนี้ การอ่านหนังสือกระแสหลักทั่วไป อย่างนิตยสารก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง งานวรรณกรรมซึ่งแต่ก่อนมันน้อยอยู่แล้ว มันก็เลยเด่นขึ้น ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทักษะการโปรโมตตัวเองของนักเขียนในปัจจุบันก็เก่งขึ้น ก็ทำให้ถูกมองเห็นมากขึ้นด้วย”
รางวัลปีศาจ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รูปแบบงานวรรณกรรม รวมทั้งตลาดวรรณกรรมหมุนไปตามวงจรของโลก แต่รางวัลทางวรรณกรรมยังคง “แช่แข็ง” อยู่ในขนบเดิมๆ ดังนั้น คุณกิตติพลและเพื่อนๆ จึงคิดจัดตั้งรางวัลทางวรรณกรรมขึ้นใหม่ในชื่อว่า “รางวัลปีศาจ” ที่พร้อมจะหลอกหลอนโลกวรรณกรรมยุคเก่าที่ไม่มีการพัฒนา ในฐานะรางวัลที่จัดตั้งขึ้นโดยประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชน และสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้เขียนด้วยวิธีการรับรางวัลที่เสมอภาค
“มันมาจากคำถามง่ายๆ เลย ว่า ปกติรางวัลใดๆ ก็ตามที่มีเกียรติ รางวัลที่เรารู้สึกว่าเราภูมิใจที่จะรับ ส่วนใหญ่แล้วหรือแทบทั้งหมดมันถูกผูกติดกับสถาบันหรืออะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถเดินตัวตรงเข้าไปรับได้ แต่ต้องค้อมตัวเข้าไปรับ ผมรู้สึกอึดอัดว่าทำไมงานสร้างสรรค์ทั้งปวงมันถึงไม่สามารถหลุดออกจากพิธีการที่ทำให้เราเหมือนถูกกดลงไป หรือว่าเราต้องหมอบราบลงไปเพื่อรับ ผมว่ามันไม่ศิวิไลซ์เท่าไร”
“ถึงคุณจะมีจิตใจที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่พอเข้าไปอยู่ตรงนั้นคุณทำอะไรไม่ได้เลย คุณกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบศักดินาตรงนั้นไปโดยปริยาย นี่คือจุดเริ่มต้นของรางวัลปีศาจที่เราสามารถสร้างรางวัลของประชาชนคนสามัญ ที่ผู้รับเองก็รู้สึกว่ามันโอเคสำหรับเขา และไม่ได้มีเกียรติน้อยไปกว่ารางวัลที่มอบโดยบุคคลสำคัญทั้งหลาย แต่การที่จะมีแต่รางวัลที่ตัดเอาพิธีกรรมออกไป และตัดความสัมพันธ์ที่สูงต่ำเหลื่อมล้ำไม่เท่ากันออกไปเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เราก็ต้องการงานที่มีอะไรที่น่าสนใจด้วย” คุณกิตติพลกล่าวเสริม
นอกจากรางวัลที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อ “กวน” ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการ ชื่อของรางวัลก็มีลักษณะที่ก่อกวนไม่แพ้กัน โดยที่ผ่านมาคุณกิตติพลได้ให้สัมภาษณ์ว่าส่วนหนึ่งของรางวัลปีศาจ มีที่มาจากนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งเป็นเรื่องราวของ “สาย สีมา” ทนายความลูกชาวนาที่มีแนวคิด “สั่นคลอน” ค่านิยมของชนชั้นสูงรุ่นเก่า และถูกขนานนามว่าเป็น “ปีศาจ”
“ผมคิดว่าปีศาจที่เราแต่ละคนคิดอาจจะไม่เหมือนกัน ปีศาจของผมก็มีส่วนหนึ่งที่มาจากนวนิยายของคุณเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งเป็นปีศาจที่ผมประทับใจมากเพราะว่ามันมีลักษณะที่ปลุกเร้าเรา มันเป็นการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เพราะปีศาจคือสิ่งที่คนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงมองเห็น หรือคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงเห็นสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก เขาก็เรียกว่าปีศาจ ซึ่งผมคิดว่าชื่อปีศาจมันสอดคล้องกับความคิดของตัวเองที่อยากจะสร้างอะไรบางอย่าง และเราต้องการที่จะเปลี่ยนอะไรบางอย่าง”
Gettyimages
“อีกด้านหนึ่งที่ผมคิดมาก่อนที่จะคิดถึงนวนิยายของคุณเสนีย์ ผมคิดถึง Spectre ซึ่งเป็นปีศาจของมาร์กซ์ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เราเห็นประโยคแรกที่ว่า ‘ปีศาจตนหนึ่งยังคงหลอกหลอนทั่วทั้งทวีปยุโรป – ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์’ ก็สงสัยว่าทำไมต้องเป็นปีศาจ มันเป็นสิ่งที่คนไม่เข้าใจ แต่จริงๆ แล้วถ้าได้เข้าใจจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องไปให้ถึงในหลายๆ เรื่องด้วยซ้ำ ทำให้รู้สึกว่ารางวัลนี้ไม่ใช่แค่ชื่อที่ฟังแล้วฉีกออกจากชื่อทั่วไป”
“แต่พอทำงานมันไม่ได้มีผมคนเดียว คนอื่นอาจจะมองแตกต่างออกไป อาจารย์บางท่านที่เข้ามาก็บอกว่าเขาชอบชื่อนี้เหมือนกัน เพราะคำว่าปีศาจออกเสียงคล้ายคำที่แปลว่า “เขียน” ในภาษาโปลิชหรือภาษาตระกูลสโลวัก ดังนั้นปีศาจก็สอดคล้องกับความเป็นการเขียนด้วย ผมว่ามันดี ความหมายในนิยายของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ดี มันก็เลยเป็นชื่อที่แข็งแรงในตัวของมัน”
นอกเหนือจากการลดความเหลื่อมล้ำจากพิธีการ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านแนวคิดและเนื้อหาของผลงาน ซึ่งคณะกรรมการของรางวัลปีศาจต่างเห็นตรงกันว่าผลงานที่เข้าประกวดนั้นจะต้องมีความแตกต่างจากเดิม
“จุดยืนสำคัญของเราก็คือ เราไม่เอาการที่บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่นี้มันดีแล้ว เราสนใจลักษณะแนวคิดที่ท้าทาย เป็นเชิงก้าวหน้า ทั้งโดยเนื้อหาและรูปแบบวิธีการ เราต้องการทำหน้าที่ของนักเขียนคือไม่ย่ำอยู่กับที่ ไม่ย้อนรอยสูตรสำเร็จ”
“แต่ในทางกลับกันก็คือ เราก็สนับสนุนคนที่ไม่ได้เป็นนักเขียนอาชีพ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียน แต่เราต้องการผู้ที่เล่าเรื่องออกมา มันก็มีช่องว่างหรือพื้นที่บางอย่างที่เราเปิดให้เขาเข้าร่วมด้วย นี่ก็คือจุดแตกต่างที่เราพยายามสร้างขึ้น”
ความแตกต่างของรางวัลปีศาจอีกอย่างหนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะกรรมการคัดเลือกและกรรมการตัดสิน รวมทั้งการระดมทุนเพื่อมาช่วยสนับสนุนรางวัลนี้ และในขณะที่รางวัลอื่นๆ มักจะไม่เปิดเผยความคิดเห็นของคณะกรรมการที่มีต่อผลงานแต่ละเรื่อง รางวัลปีศาจกลับเลือกที่จะเปิดเผยความคิดเห็นของกรรมการ นอกจากนี้ กรรมการแต่ละคนจะไม่ทราบชื่อผู้เขียน เพื่อให้มุ่งตัดสินที่ตัวผลงาน และลดอคติเมื่อทราบชื่อของผู้เขียน โดยจะคัดเลือกผลงานต้นฉบับ 10 ชิ้นเข้าสู่รอบ Longlist ก่อนที่จะคัดเลือกอีกครั้งเพื่อเข้าสู่รอบ Shortlist จำนวน 4 เล่ม ที่จะได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งในรอบ Shortlist นี้ จะมีการเปิดเผยชื่อเจ้าของผลงานเพื่อเป็นช่องทางในการโปรโมตต่อไป และผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 200,000 บาทด้วย
“สำหรับการตัดสิน ในฐานะที่ผมเป็นกรรมการคัดเลือกด้วย ผมคิดว่าเกณฑ์ที่เป็นการชี้วัดตัดสินจริงๆ ก็คือการโหวตในบรรดาคณะกรรมการทั้งหมด แต่การที่เราจะโหวตให้งานจำนวนหนึ่งผ่านไปได้ มันต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแล้วก็ชี้แจงหรือถกเถียงกันด้วยเหตุผล พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยนั่นแหละ” คุณกิตติพลกล่าว
Books & Belongings
เนื่องจากรางวัลปีศาจเป็นรางวัลที่เปิดกว้างเพื่อรับผลงานทุกรูปแบบ ทำให้คุณกิตติพลเองยังไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ว่าผลงานที่จะได้รับการตีพิมพ์ต้องเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เขาคาดการณ์และอยากจะเห็นคืองานทดลองที่มีความแตกต่าง แม้จะไม่สมบูรณ์แบบตามขนบงานวรรณกรรมทั่วไปก็ตาม
“ผมอยากให้พื้นที่กับงานบางประเภทที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบมาก แต่มันเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจ เช่น เป็นเรื่องเล่าของคนทั่วไปที่ประสบกับเรื่องที่รุนแรงในชีวิตมา คือเป็นเรื่องจริงสำหรับเขาและเขาก็มีศิลปะในการเล่าประมาณหนึ่ง แต่ไม่ได้เยอะมาก เรารู้สึกว่างานพวกนี้มันไม่มีพื้นที่สำหรับการประกวดเท่าไร เพราะว่าเอาแค่พิมพ์เป็นเล่มก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันไม่สมบูรณ์ แต่เราก็อยากให้มีงานประเภทนี้เข้ามา”
“ที่ต้องบอกว่าเป็นนวนิยายเพราะว่าความเป็นนวนิยายมันให้อิสระพอสมควร ดังนั้นแปลว่าคุณอาจจะเขียนเป็นบทสนทนาก็ได้ เช่น นั่งคุยกันทั้งเรื่อง 30 – 40 หน้า ถ้ามันน่าสนใจ หรือมีประเด็นที่น่าสนใจ งานพวกนี้ก็เข้าข่าย หรือบางทีเป็นเหมือนบทละคร เป็นเหมือนบทกวีขนาดยาวที่มันเล่าเรื่องยาวๆ ก็ส่งเข้ามาได้ หรือบางทีเป็นเรื่องเล่าคล้ายเว็บไซต์พันทิป แต่มีประเด็น อาจจะ 30 – 40 หน้า อาจจะสั้นกว่าการเป็นนวนิยายทั่วไป แต่มันมีความน่าสนใจสำหรับผม ผมก็โอเค แต่กรรมการท่านอื่นก็ต้องมีเกณฑ์ชี้วัดของเขา”
นอกจากกรรมการที่เป็นประชาชนทั่วไป รางวัลปีศาจยังรวมเอาผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายวงการ ทั้งนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และบรรณาธิการ ที่ล้วนแต่เป็นหนอนหนังสือ มาร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วริตตา ศรีรัตนา จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก้อง ฤทธิ์ดี คอลัมนิสต์และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โช ฟุคุโทมิ นักแปลและอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวญี่ปุ่น ที่มีความรู้ด้านภาษาและวรรณกรรมไทย และพิพัฒน์ พสุธารชาติ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ความคิด และสิ่งหนึ่งที่คุณกิตติพลยืนยันก็คือ “กรรมการแต่ละคนจะไม่รับคำสั่งจากใครนอกจากตัวเอง”
Books & Belongings
ในฐานะที่เป็น “รางวัลของประชาชน” นอกจากการเป็นรางวัลที่ผู้คนตั้งตารอและคุ้มค่ากับการรอคอย ด้วยผลงานที่คัดเลือกมาเป็นอย่างดี คุณกิตติพลยังคาดหวังว่าจะได้เห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลงานเข้ามาประกวด การเข้าร่วมเป็นกรรมการ และการระดมทุน ส่วนสิ่งที่ประชาชนจะได้รับกลับไปนั้นก็ถือว่ามีคุณค่ามากทีเดียว
“ปลายทางที่เราตั้งธงไว้ก็คือ 4 เล่มที่เข้ารอบจะได้พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ และนักเขียนจะได้ค่าตอบแทนตามมาตรฐานของนักเขียนทั่วไป ผมคิดว่ากระบวนการนี้ นอกจากจะเป็นการประกวดแล้ว ยังทำให้เกิดทิศทางวรรณกรรม เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีงานแปลกๆ มาให้ทุกคนได้อ่าน เป็นงานที่ถ้าส่งไปสำนักพิมพ์อาจจะไม่ได้รับการยอมรับแบบนี้”
“รางวัลนี้ก็จะการันตีว่าผู้อ่านจะมีงานที่ดี มีความน่าสนใจ และมีมาตรฐานทางวรรณกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วก็คงได้อะไรหลายๆ อย่างจากกระบวนการตัดสิน กระบวนการพูดคุย มันอาจจะไม่มีอะไรที่แจกเป็นน้ำเป็นเนื้อ แต่ว่าอย่างน้อยคงจะมีอะไรให้เขาได้อ่านอีกจำนวนหนึ่ง และผมคิดว่ามันมากกว่าที่พวกเขาจะได้รับคือพวกเขาได้ให้ เพราะสำหรับผม ผมรู้สึกว่ามันเป็นการระดมทุนเพื่อสร้างอะไรสักอย่าง ผมมองว่ามันเป็นปฏิบัติการทางการเมืองด้วยเหมือนกัน ทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงพลังของพวกเขาเอง ว่า ทุกคนก็สามารถทำได้” คุณกิตติพลสรุป
รางวัลปีศาจจะเปิดรับพิจารณาผลงานนวนิยายที่ไม่จำกัดความยาว รูปแบบ และวิธีการนำเสนอ โดยต้นฉบับจะต้องเป็นภาษาไทย และไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ผู้สมัครสามารถส่งผลงานในรูปแบบ PDF หรือต้นฉบับพิมพ์ขนาด A4 ส่วนกำหนดการเบื้องต้นจะปิดรับต้นฉบับในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561 และจะประกาศรางวัลในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561 โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ http://spectreprize.org/ หรือแฟนเพจ “รางวัลปีศาจ”