รู้จัก “จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด

รู้จัก “จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด

รู้จัก “จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

_d3m9544

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการวรรณกรรมไทยที่ดูซบเซากลับมีสีสันขึ้นอีกครั้ง จากการประกาศผลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “รางวัลซีไรต์” ที่ในปีนี้ ผลงานที่คว้ารางวัลนี้ไปก็คือรวมเรื่องสั้น “สิงโตนอกคอก” ที่ไม่เพียงแต่ชนะใจกรรมการด้วยเนื้อหาที่ลึกซึ้งภายใต้การนำเสนอด้วยรูปแบบแฟนตาซี แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือตัวของนักเขียน “ลี้ - จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” ที่มีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น เธอคือใคร และโลกของเธอเป็นอย่างไรจึงสามารถสร้างผลงานอันโดดเด่นจนเอาชนะใจกรรมการซีไรต์ได้ มารู้จักตัวตนของเธอกัน

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนซีไรต์ประจำปี 2017Amarinbooksจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนซีไรต์ประจำปี 2017

“มีคนถามเหมือนกันว่าตอนประกาศผลเราทำอะไรอยู่ ส่วนใหญ่เราจะไม่ได้รออยู่ พฤติกรรมของเราจะสะท้อนออกมาเลยว่าเราไม่ได้คาดหวังและไม่ได้คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็ค่อนข้างแปลกใจ ตอนนี้ก็เหมือนโดนสื่ออัดเยอะ กลายเป็นค่อนข้างเหนื่อย ยังไม่รู้สึกนิ่งแล้ว ‘อืม...ดีจัง’ เหมือนตอนนี้ยังฝุ่นตลบอยู่ วุ่นวายมาก” ลี้กล่าวถึงความรู้สึกนับตั้งแต่ทราบผลการประกวด หลังจากที่ทางสำนักพิมพ์ส่งผลงานรวมเรื่องสั้น “สิงโตนอกคอก” เข้าสู่สนามใหญ่ของนักเขียนอย่างรางวัลซีไรต์ โดยที่เธอเองก็ไม่ทราบมาก่อน

“เรารู้แค่ว่าเรามีผลงานตีพิมพ์กับทางแพรว และก็รู้ว่ามันมีการประกวดซีไรต์ ก็รู้สึกว่าเขาคงไม่ส่งให้เพราะเรายังเด็ก มารู้ตอนที่ประกาศรายชื่อหนังสือที่ส่งซีไรต์และมีชื่อผลงานของเราด้วย เพื่อนๆ เป็นคนบอก”

Amarinbooks

“จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” หรือ “ลี้” เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2535 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นลูกสาวคนที่ 4 ของครอบครัว เธอเรียกตัวเองว่าเป็น “เด็กเนิร์ด” ด้วยผลการเรียนเฉลี่ย 4.00 และชีวิตส่วนใหญ่ที่มีแต่การเรียนกับหนังสือ ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนกับเด็กชาวกรุงเทพฯ ทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเธอแตกต่าง นั่นคือ “การย้ายบ้าน”

“ตอนเกิดลี้อยู่สมุทรปราการ เรียนอยู่แถวนี้ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ แล้วพออายุ 12 ปี เราย้ายกลับไปบ้านเดิมของแม่ทางภาคเหนือ”

“ปัญหาคือตอนนั้นเราย้ายบ้านบ่อยมากแล้วก็ยังไม่มีบ้านที่ทุกคนพอใจ ก็จะมีการย้ายไปย้ายมาพอสมควร ซึ่งมันก็ส่งผลบางอย่างกับตัวเรา เราไม่รู้จะกลับไปที่ไหน เราอยู่โรงเรียนก็อยู่หอ พอปิดเทอมเรากลับไปบ้านหลังนี้ พออีกเทอมเราก็กลับไปบ้านอีกหลัง มันไม่ใช่ความรู้สึกว่ากลับบ้านไปที่ที่เราเคยอยู่ มันก็ทำให้เรางงๆ นิดหนึ่ง เราก็ไม่ได้แก้ปัญหาความงงนี้ค่ะ มันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นและเราก็แค่อยู่ไปกับมัน เราก็ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น”

ในการเดินทางที่ไม่จบสิ้นของชีวิตวัยเด็ก ลี้เริ่มมีเพื่อนที่เรียกว่า “หนังสือ” เมื่อเธอมีอายุเพียง 6 ปี

“หนังสือเล่มแรกอ่านตอนเด็กมาก น่าจะ ป. 1 เป็นเรื่องแปล ชื่อเรื่อง ‘เพื่อนประหลาดในตู้เย็น’ เล่าเรื่องประมาณว่าเธอรู้ไหมว่าทำไมเวลาเปิดตู้เย็นถึงมีไฟติดทันที ก็เพราะว่ามีภูตตัวเล็กๆ อยู่ในตู้เย็น พอเธอเปิดตู้เย็น ภูตก็จะรีบไปเปิดไฟให้ อันนี้เป็นเรื่องแรกในชีวิตที่อ่าน ความจริงมันไม่ได้ส่งผลอะไรกับงานเขียน เพราะว่าเราอ่านหนังสือเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่ก็ทำให้เราได้อ่านหนังสือเด็กเพิ่มอีกเรื่อยๆ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ค่อนข้างชอบ เพราะว่าเขาเขียนพล็อตมาดี” ลี้เล่าเรื่องย่อๆ ของหนังสือเล่มแรกในชีวิต

Amarinbooks 

ด้วยความคุ้นเคยกับหนังสือทั้งวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล ประกอบกับกระแสนวนิยายแนวแฟนตาซีที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ขณะนั้น ทำให้ลี้ในวัย 12 ปี เริ่มสนใจที่จะเขียนนวนิยายของตัวเองขึ้นมา

“เราเริ่มเขียนตั้งแต่อายุ 12 ปีค่ะ เขียนเรื่องแนวผจญภัยในดินแดนเวทย์มนตร์ เพราะตอนนั้นเราอ่านหนังสือไทยและหนังสือแปลเยอะ แล้วพอดีมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีหนังสือที่เด็กไทยเขียนแนวแฟนตาซีออกมา ทำให้เราสนใจเขียนหนังสือขึ้นมา ก็คือเราเห็นว่าไม่ได้มีแค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เขียนหนังสือ เราก็เลยเริ่มเขียนบ้าง” ลี้เล่าให้ฟังถึงที่มาของการเขียนหนังสือแบบไม่แคร์อายุ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลี้พัฒนาผลงานของตัวเองเข้าสู่แนว “ชายรักชาย” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “นิยายวาย”

“สมัยก่อนเราชอบอ่านการ์ตูน แล้วมันจะมีแนวนี้มาจากญี่ปุ่น เราก็ชอบงานแนวนี้ คลุกคลีกับเพื่อนที่ชอบแนวนี้มาตลอด แล้วเราก็เลยเขียนงานแนวนี้มาด้วย ในบอร์ดหรือเว็บไซต์ แต่คนอ่านของเราก็ไม่ได้เยอะ ซึ่งก็เขียนมานานแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เพราะตอนนั้นวัฒนธรรมนี้ยังไม่ขึ้นมาบนดิน เดี๋ยวนี้ได้รับการยอมรับแล้ว ก็ได้รับการตีพิมพ์ในที่สุด”

Amarinbooks

แม้ว่านวนิยายโรแมนติกแบบชายรักชายจะดูไม่ค่อยเข้ากันกับงานวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเข้มข้น จริงจัง อย่างสิงโตนอกคอก แต่ลี้กลับวาง “เส้นเรื่อง” ของผลงานทั้งสองประเภทของเธอไว้ให้คู่ขนานกันไป ขณะเดียวกัน ผลงานทั้งสองแบบก็ยังคงสะท้อนภาพสังคมไปด้วย

“ความจริงก็ทำงานสองแนวควบคู่กันไป โดยงานวรรณกรรมเริ่มจากการที่ลี้เริ่มส่งผลงานไปประกวดที่แรกคือ Sofa Publishing ที่รับเรื่องสั้นสยองขวัญทุกปี ก็ลองส่งดู พอได้รับรางวัลเราก็อยากจะประกวดอีก ก็ส่งเรื่องเข้าประกวดเรื่อยๆ ออกจากเรื่องผีก็มาเป็นเรื่องสะท้อนสังคมต่างๆ จนกระทั่งเริ่มมาทำงานวรรณกรรมอย่างเต็มตัว”

“งานสะท้อนสังคมหรือหนังสือซีไรต์เล่มแรก ของเราเองก็ไม่ได้มีเนื้อหาจริงจังมาก ก็จะอ่านง่ายพอสมควร และงานวายของเราก็จะมีส่วนที่พูดถึงสังคมอยู่เหมือนกัน พูดถึงความแตกต่าง ความสัมพันธ์ในครอบครัว นวนิยายทุกแนวก็จะพูดถึงชีวิต และที่ลี้เขียนถึงชีวิตก็อาจจะเป็นเพราะว่านิยายมันต้องพูดถึงชีวิตอยู่แล้ว”

“ที่จริงเด็กรุ่นใหม่ก็สนใจสังคมเยอะนะ และสังคมก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจ สภาพสังคมตอนนี้ไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้คนอายุต่ำกว่า 18 ปี สนใจการเมือง เราก็สนใจการเมืองได้ และมันก็จะมีสภาพสังคมที่ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลไหน มันมีจุดที่ควรถูกนำมาถกเถียง และมันก็มีการถกเถียงมากมายในอินเตอร์เน็ต เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากที่เข้ามาตรงนี้ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้ใหญ่” ลี้กล่าว

Amarinbooks 

ขณะนี้ลี้สร้างผลงานเขียนทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายชายรักชาย ภายใต้นามปากกา “ร เรือในมหาสมุท” และ “ald_aruza” ซึ่งผลงานทั้งหมดมีที่มาจากสมุดบันทึกหลายเล่มที่เธอใช้ “สะสมแรงบันดาลใจ” ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา จนถึงปัจจุบัน

“ส่วนใหญ่เวลาเดินทางไปไหนแล้วเห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจ ลี้จะพกสมุดแล้วก็จะจดเก็บไว้ก่อน เก็บไว้เยอะๆ เวลาที่เราอยากได้แรงบันดาลใจก็จะเอาสมุดพวกนี้มาเปิดดู แล้วเอาความคิดเก่าๆ มาต่อยอด เป็นการสะสมแรงบันดาลใจไว้ ตอนนี้ก็มีหลายเล่ม บางเล่มก็ไม่ได้มาเปิดดูเลย ทำแบบนี้มานาน ตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย ความจริงตอนเรียนชั้นมัธยมก็มีสมุด แต่ความคิดตอนมัธยมมาเขียนตอนนี้มันก็ไม่ค่อยเข้ากันแล้วค่ะ แต่ตอนมัธยมลี้ชอบวาดรูป ก็วาดการ์ตูนเก็บไว้”

“ส่วนวิธีการคิดงานแต่ละเล่มจะต่างกัน ลี้จะมีโจทย์กำหนดไว้ แล้วก็พยายามสร้างเรื่องที่ตอบสนองกับโจทย์นั้น สำหรับหลักในการทำงาน ลี้นับถือความมีวินัยนะคะ เราจะบอกตัวเองว่าเราต้องมีวินัย มีความตรงต่อเวลา เพราะถ้าต้นฉบับเราช้า แต่กำหนดวางจำหน่ายเหมือนเดิม ทางกองบรรณาธิการก็จะต้องมาเร่งตรวจปรู๊ฟ เร่งกราฟิก เร่งโรงพิมพ์ เราช้าคนเดียวก็มีคนเดือดร้อน บางคนอาจจะต้องทำโอที มีคนอยู่ดึกตั้งหลายคน เพราะฉะนั้นการมีวินัย การตรงต่อเวลา การรักษาคำพูด เป็นสิ่งที่ลี้ให้ความสำคัญค่ะ

Amarinbooks

สำหรับแผนการในอนาคต นักเขียนอาชีพอย่างลี้ก็ยังตั้งใจว่าจะทำงานเขียนต่อไป ทั้งวรรณกรรมชายรักชายและวรรณกรรมทั่วไป แต่สำหรับการเป็น “นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด” อุปสรรคสำคัญในอนาคตที่ลี้จะต้องรับมืออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงกำลังรออยู่ข้างหน้าแล้ว

“เราเป็นคนค่อนข้างคิดลบ แล้วก็ค่อนข้างกังวล ด้วยความที่เราอายุน้อยด้วย ก็เครียดเยอะเหมือนกัน คือเรารู้สึกว่าแรงสะท้อนจากสังคมมันต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหัวข้อใดก็ตามสังคมเรามันต้องมีแรงสะท้อน ทำให้เรากลัวว่าจิตใจของเราจะไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับ เหมือนเรายังไม่มีวิธีที่ดีพอที่จะรับมือกับมัน แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว เราก็พยายามหาวิธีเพื่อให้เรารับมือและอยู่กับมันให้เรารู้สึกว่ารับมือได้

 และในฐานะนักเขียนรุ่นพี่ ลี้ก็ได้ฝากกำลังใจถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเป็นนักเขียน ทั้งเรื่องการเตรียมตัวและโอกาสต่างๆ ที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ

“การจะเขียนต้นฉบับ สมมติว่าเรามีความรู้สึก มีเรื่องราวที่อยากจะเล่าแล้ว มันไม่ต้องเตรียมตัวนะ เขาก็คงจะพรั่งพรูออกมาเอง ตอนเริ่มเรื่องมันไม่ยาก แต่ระหว่างทางที่จะต้องเขียนให้จบเรื่อง มันต้องใช้ความอดทน ความต่อเนื่อง ก็อยากให้ไม่ละความพยายาม และมีวินัย นอกจากนี้ ตอนนี้ก็มีเวทีเยอะ มีพื้นที่เยอะ ไม่ว่าจะเขียนวรรณกรรม แนวแมส นิยายรัก มีพื้นที่อะไรต่างๆ เยอะมากกว่าสมัยก่อน แม้ว่าเขาจะมองว่าสิ่งพิมพ์มันซบเซา แต่เรามีพื้นที่ใหม่มากกว่าสมัยก่อน ที่เปิดรับและทำให้เด็กอายุน้อยมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย”

“ตอนนี้ทุกคนยังมีโอกาส ก็ขอให้ทำสิ่งที่อยากทำให้เต็มที่” ลี้สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook