เอฟบีไอ เตือน “ของเล่น” อาจเป็นเครื่องโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว

เอฟบีไอ เตือน “ของเล่น” อาจเป็นเครื่องโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว

เอฟบีไอ เตือน “ของเล่น” อาจเป็นเครื่องโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

toy

สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ ออกมาเตือนว่า ของเล่นที่เด็กๆได้รับในวันคริสต์มาสหรือวันปีใหม่นั้น อาจกลายเป็นฝันร้ายสำหรับคุณได้ เพราะนี่อาจเป็นอุปกรณ์ให้เหล่าแฮกเกอร์เข้ามาล้วงข้อมูลส่วนตัวกันถึงในบ้านได้

เอฟบีไอ ไม่ได้ระบุว่า ของเล่นประเภทใดหรือจากบริษัทใดที่มีความเสี่ยง แต่ให้คำจำกัดความรวมๆว่า ของเล่นที่มีไมโครโฟน กล้อง และระบบติดตามหรือระบุพิกัด เป็นคุณสมบัติของเล่นที่เสี่ยงต่อการถูกเจาะข้อมูลและระบบความปลอดภัยของเด็กๆและครอบครัวคุณได้

ของเล่นที่มีความเสี่ยงอาจจะเป็นตุ๊กตาพูดโต้ตอบกับเด็ก หรือแท็ปเล็ตเพื่อการเรียนรู้ที่ดูไร้พิษสง เนื่องจากของเล่นเหล่านี้อาจหลุดรอดสายตาจากแผนกตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อให้วางขายให้ทันช่วงคริสต์มาสและปีใหม่

อย่างไรก็ตาม ใครที่ซื้อของเล่นสำหรับลูกหลานไปแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าของเล่นนั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเทคโนโลยี แนะนำวิธีง่ายๆให้ห่างไกลจากการถูกโจรกรรมข้อมูล จากของเล่นหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใกล้ตัว

1. ค้นหาข้อมูลของขวัญหรือของเล่นต้องสงสัย – คำแนะนำจาก เบห์นัม ดายานิม (Behnam Dayanim) ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของ Paul Hasting Law ก่อนแกะกล่องของเล่นหรือแก็ตเจ็ตที่ได้มาในวันคริสต์มาส สละเวลาอันมีค่า ค้นหาเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสินค้านั้นๆ เข้าไปที่ Privacy Policy หรือ นโยบายด้านความเป็นส่วนตัว ถ้าไม่มีให้โทรศัพท์ไปสอบถามโดยตรง

อีกวิธีง่ายๆ คือ อ่านรีวิวหรือคำวิจารณ์ถึงสินค้าเหล่านั้นบนอินเตอร์เน็ตก่อนแกะกล่อง ถ้าพบว่ามีความเห็นที่สุ่มเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในการใช้สินค้าเหล่านั้น จะช่วยในการตัดสินใจได้ว่าจะเก็บไว้หรือเอาไปคืนดีหรือไม่

2. เพิ่มความปลอดภัยให้ Wi-Fi ที่บ้าน –หากของเล่นนั้นต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ควรยกระดับความปลอดภัยของอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ในบ้าน ด้วยการตั้งรหัสเข้าใช้อินเตอร์เน็ตให้ยากขึ้น และไม่ควรเชื่อมต่อของเล่นอิเล็กทรอนิกส์กับอินเตอร์เน็ตสาธารณะ และหากของเล่นสามารถตั้งรหัสได้ก็ควรทำเพื่อความปลอดภัย

3. ปิดอุปกรณ์ทุกครั้งเมื่อไม่ใช้ – อลัน บริลล์ (Alan Brill) ผู้บริหารฝ่ายความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ของบริษัท Kroll บอกว่า นี่เป็นวิธีที่ง่ายและจำเป็นในการปิดและถอดปลั๊กอุปกรณ์เมื่อไม่ใช้ เพื่อปิดระบบการเก็บข้อมูลออนไลน์จากกลุ่มไม่พึงประสงค์ และถ้าอุปกรณ์หรือของเล่นนั้นมีกล้อง ควรใช้ผ้าคลุมหรือเทปขุ่นเล็กๆปิดกล้องไว้เมื่อไม่ใช้ ส่วนอุปกรณ์ที่มีไมโครโฟน ควรเก็บในที่ที่เสียงเข้าไม่ถึงหรือยากต่อการเก็บเสียงได้

4. ลงชื่อเข้าใช้อุปกรณ์หรือของเล่นไฮเทคได้ แต่อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด! – บางครั้งของเล่นเหล่านี้จะใช้การลงทะเบียนสำหรับเข้าใจและอัพเดทซอฟต์แวร์ ซึ่งต้องขอข้อมูลส่วนตัวคุณเอาไว้ เช่น วันเกิดของลูก ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่วันเดือนปีเกิดจริงๆ เพราะการปิดบังหรือบิดเบือนข้อมูลสำคัญนี้ไม่ได้มีผลทางกฏหมายใดๆ กับคุณ

5. ระมัดระวังอยู่เสมอ – ลิซ บราวน์ (Liz Brown) อาจารย์ด้านกฏหมายธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีและกฏหมายความเป็นส่วนตัวจาก Bentley University รัฐแมตซาชูเสตส์ บอกว่า ควรกำชับบุตรหลานว่าอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนอื่นเวลาเล่นของเล่นหรือเกมต่างๆเป็นอันขาด และใช้โอกาสนี้ตรวจสอบการสนทนาของบุตรหลานเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้ส่งข้อมูลส่วนตัวกับเพื่อนๆหรือคนแปลกหน้าระหว่างเล่นเกม ขณะที่ควรลบข้อมูลที่บันทึกไว้ในของเล่นที่มีไมโครโฟนหรือกล้องถ่ายรูป เพื่อความปลอดภัยในอนาคต

6. รายงานปัญหาข้อมูลรั่วไหลจากของเล่นหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ – เอฟบีไอแนะว่า หากคุณพบว่ามีการเจาะข้อมูลโดยแฮกเกอร์หรือสิ่งไม่ชอบมาพากลที่เข้าข่าย อย่านิ่งเฉยกับเรื่องนี้ รีบติดต่อไปที่ ศูนย์ร้องเรียนปัญหาอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ต Ic3.gov ของทางเอฟบีไอโดยตรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook