ส่ง “วิชาภาพยนตร์” เข้าหลักสูตรโรงเรียนไทย เมื่อการ “ดูหนัง” ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ

ส่ง “วิชาภาพยนตร์” เข้าหลักสูตรโรงเรียนไทย เมื่อการ “ดูหนัง” ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ

ส่ง “วิชาภาพยนตร์” เข้าหลักสูตรโรงเรียนไทย เมื่อการ “ดูหนัง” ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ภาพยนตร์” กับ “การศึกษา” ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมคนละประเภทที่มีดีกรีความจริงจังต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่การศึกษาเป็นเรื่องที่เด็กทุกคนต้องเอาจริงเอาจัง ภาพยนตร์กลับเป็นขั้วตรงข้ามที่ถูกมองว่าเป็นความบันเทิงเบาสมอง ทั้งที่จริงแล้ว ภาพยนตร์มีอิทธิพลอย่างมากต่อเด็ก ด้วยภาพเคลื่อนไหวสีสันสวยงาม พร้อมเสียงและเพลงประกอบ ที่กระตุ้นความสนใจของเด็ก ก่อให้เกิดพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ รวมทั้งกระบวนการคิดและการเรียนรู้ นอกจากนี้ ความรู้สึกผ่อนคลายขณะชมภาพยนตร์ยังทำให้ร่างกายสดชื่น ทำให้สมองสามารถเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากคุณค่าในเชิงจิตวิทยาแล้ว ภาพยนตร์ยังทำหน้าที่ย่อเรื่องราวของโลกให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งคุณโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวไว้ว่า “หนังที่ทำดีจริงๆ เป็นศิลปะ มันก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ สะเทือนปัญญา เกิดความปีติ มองเห็นความเป็นจริง มองเห็นสัจธรรมของชีวิตและของโลก สำหรับผม หนังเปรียบเหมือนเป็นศาสนา หมายถึงเราใช้มันเป็นเครื่องมือในการสอนมนุษย์ได้”

 iStockphoto

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่โรงเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ รวมทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก จะให้ความสำคัญกับวิชาภาพยนตร์ และการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อการสอน ซึ่งส่งแรงกระเพื่อมให้บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์จัดตั้งแผนกผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษา สำหรับสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิชาต่างๆ เพื่อขายให้โรงเรียนโดยเฉพาะอีกด้วย แต่สำหรับประเทศไทย การใช้ภาพยนตร์ในการเรียนการสอนกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แม้ว่าในอดีตจะเคยมี “สื่อโสตทัศนศึกษา” ที่รวมถึงการสอนด้วยภาพเคลื่อนไหว แต่ก็ล้มเลิกไปเมื่อมีอินเตอร์เน็ตเข้ามา

 iStockphoto

“เด็กสมัยนี้ดูหนังเป็นก่อนพูด แต่ทำไมสิ่งที่อยู่กับเราตั้งแต่เด็กและมีอิทธิพลมาก จึงไม่มีการสอนในโรงเรียน อาจจะคิดว่าดูหนังไม่ต้องเรียนก็ได้ ซึ่งไม่จริง ผมก็เลยเกิดความคิดว่าจะลองเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุภาพยนตร์เป็นวิชาหนึ่ง” คุณโดมกล่าวถึงที่มาของการผลักดันให้บรรจุวิชาภาพยนตร์ในหลักสูตรการศึกษาไทย ซึ่งสืบเนื่องมาจากโครงการ “โรงหนังโรงเรียน” ที่เปิดให้โรงเรียน 70 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง พานักเรียนมาชมภาพยนตร์ โดยคุณโดมพบว่ายังมีเด็กเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสเรียนรู้ผ่านภาพยนตร์ และตั้งใจจะขยายประสบการณ์นี้ไปทั่วประเทศผ่านหลักสูตรการศึกษา

บรรยากาศกิจกรรมในโครงการโรงหนังโรงเรียน จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

เมื่อได้ศึกษาตัวอย่างจากโรงเรียนในต่างประเทศ ก็พบว่าการบรรจุวิชาภาพยนตร์ลงในหลักสูตรการศึกษาไทย สามารถทำได้ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. เป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรประถมศึกษา 2. เป็นวิชาเลือก โดยใช้ตำราวิชาภาพยนตร์และคู่มือครูที่จัดทำโดยหอภาพยนตร์ ซึ่งมีให้ดาวน์โหลด และ 3. ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในการสอนวิชาต่างๆ ในชั้นเรียน โดยจัดทำคู่มือสำหรับการใช้ภาพยนตร์หรือภาพเคลื่อนไหวในการสอนวิชาต่างๆ ซึ่งหอภาพยนตร์ก็จะจัดอบรมครูเพื่อให้สามารถใช้ภาพยนตร์ในการเรียนการสอน

“ผมอยากให้วิชาภาพยนตร์มีคุณค่าเทียบเท่ากับภาษาหนึ่ง พอเป็นภาษาก็ต้องเรียนหลักภาษา ตั้งแต่การเขียนพยัญชนะ ประสมอักษร สะกด รู้จักจำแนกประเภทของคำ แต่งประโยคได้ถูกต้อง ทำให้มีเหตุมีผล พอผสมได้คล่องแล้วจึงแต่งขึ้นมาให้สวยงามในรูปแบบร้อยแก้วหรือร้อยกรอง หนังก็เช่นกัน ต้องเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้น คือการถ่ายทำ มุมกล้อง การตัดต่อ สร้างเหตุผลการดำเนินเรื่อง ฉันทลักษณ์ของหนังก็มีหลายแบบ พวกนี้ต้องเรียน” คุณโดมอธิบายหลักการเรียนวิชาภาพยนตร์ในโรงเรียน

 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

นอกจากเรียนรู้โครงสร้างไวยากรณ์ของภาพยนตร์เช่นเดียวกับที่คุณโดมอธิบาย คุณก้อง ฤทธิ์ดี บรรณาธิการ Life Section หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ยังมองไกลกว่าทักษะการสร้างภาพยนตร์ โดยมองว่าวิชาภาพยนตร์ศึกษานั้นจะช่วย “ติดอาวุธ” ให้เด็กรุ่นใหม่มีสิ่งที่เรียกว่า Cineliteracy หรือความรู้เท่าทันข้อมูลภาพอันมหาศาลที่มาจากสื่อต่างๆ เข้าใจสารจากสื่อนั้น รวมทั้งสามารถประเมินคุณค่าของสารเพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

“ภาพเคลื่อนไหวมันมีหน้าที่หลายอย่าง กระบวนการที่จะมาสู่เรามันมีหลายอย่าง และเมื่อเราต้องเจอกับภาพเคลื่อนไหวเยอะๆ ทุกวัน เราต้องมี Cineliteracy คือการดูภาพออก เข้าใจภาพ เพราะฉะนั้น โรงเรียนจึงน่าจะมีวิชาภาพยนตร์เป็นวิชาเลือก เพื่อให้ดูภาพยนตร์หรือว่าภาพเคลื่อนไหวเป็น แยกแยะข้อมูลกับโฆษณาชวนเชื่อได้ เข้าใจภาษาภาพยนตร์นิดหน่อย ก็อาจจะเป็นทักษะที่ส่งเสริมระบบการเรียนการสอนได้” คุณก้องกล่าว

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

อย่างไรก็ตาม สำหรับวัฒนธรรมไทยที่มองว่าภาพยนตร์เป็นความบันเทิงและไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทั้งคุณโดมและคุณก้องเห็นตรงกันว่าต้องมีการ “ปรับทัศนคติ” กันเล็กน้อย โดยคุณก้องมองว่าภาพยนตร์ทำหน้าที่ได้มากกว่าการสร้างความบันเทิง ขณะที่คุณโดมถือว่าการปรับมุมมองดังกล่าวเป็นหน้าที่ของหอภาพยนตร์โดยตรง ทั้งการบรรจุวิชาภาพยนตร์ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจหน้าที่ที่หลากหลายของภาพยนตร์ รวมทั้งการฉายภาพยนตร์และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ได้ เช่นเดียวกับการสนทนาธรรม โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การสอนให้เด็กคิดเองเป็น เป็นครูของตัวเองให้ได้ โดยไม่ต้องมีใครบอกว่าดีหรือไม่ดี

“สำหรับผม ประโยชน์สูงสุดของหนังในฐานะเป็นศิลปะก็คือต้องส่งเสริมให้มนุษย์เกิดปัญญา ความดี ความงาม ความจริง เป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าหนังเรื่องไหนไม่ส่งเสริมให้เกิดปัญญา ดูแล้วก็โง่ หลง ไม่ควรเรียกว่าเป็นศิลปะ เป็นโฆษณาชวนเชื่ออะไรไป อุดมการณ์ของศิลปะควรจะทำให้มนุษย์เกิดปัญญา เห็นความเป็นจริงของโลก ของชีวิต เห็นสัจธรรม” คุณโดมสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook