ถอดรหัส "พลเมืองเน็ต" ของเด็กๆ เจเนอเรชั่นอัลฟ่า

ถอดรหัส "พลเมืองเน็ต" ของเด็กๆ เจเนอเรชั่นอัลฟ่า

ถอดรหัส "พลเมืองเน็ต" ของเด็กๆ เจเนอเรชั่นอัลฟ่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

istock-679094428

ด้วยเจเนอเรชั่นอัลฟ่าเกิดมาในช่วงที่สื่อดิจิทัลมีพลังอันมหาศาล ทำให้การปลูกฝังเรื่อง 'พลเมืองดิจิทัล' กำลังกลายเป็นวาระเร่งด่วน และต้องเริ่มเปิดหลักสูตรกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเลยทีเดียว

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า (Generation Alpha) หรือประชากรที่เกิดระหว่างปี 2010-2024 กำลังคลานเตาะแตะ และมีสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตเป็นของเล่นชิ้นแรก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พวกเขาจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยี พร้อมเปิดรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ และกุมอำนาจการเปลี่ยนแปลงโลกในศตวรรษหน้าเอาไว้

ข้อมูลจากคอมมอน เซนส์ มีเดีย (Common Sense Media – CSN) องค์กรด้านการศึกษา และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปลอดภัยสำหรับเด็กระบุว่า อัตราเฉลี่ยของการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ เพิ่มสูงขึ้นจาก 15 นาที/วัน เมื่อปี 2013 เป็น 48 นาที/วัน ในปี 2017 ที่ผ่านมา

นอกจากนั้น โลกในปี 2025 จะมีจำนวนประชากรเจเนอเรชั่นอัลฟ่ามากถึง 2,000 ล้านคน และแน่นอนว่า พวกเขาเติบโตท่ามกลางการปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ทำให้ประเด็นการเป็นพลเมืองบนสังคมออนไลน์ที่มีความรับผิดชอบ และพร้อมสร้างสรรค์เรื่องราวดีๆ คือสิ่งที่หลายๆ ครอบครัวหันมาใส่ใจ และปลูกฝังลูกที่อายุไม่ทันครบ 10 ขวบ ให้คุ้นชินกับการเป็นพลเมืองดิจิทัลทั้งทางด้านความรู้ และจิตสำนึก เพื่อจะได้ไม่ต้องมา ‘รับผิด’ กับ ‘ปัญหา’ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อภายหลัง

ปัจจุบันเด็กฟันน้ำนมกำลังใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ และการสื่อสารแบบกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้กระแสความคิดเรื่องพลเมืองดิจิทัลค่อยๆ ดึงดูดโมเมนตัมในห้องเรียน และบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ และมันไม่ใช่แค่กระแสวูบวาบเท่านั้น เห็นได้จากหลายต่อหลายโรงเรียนในสหรัฐฯ หรือประเทศไทยเอง ก็เริ่มพากันสร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับนักเรียนในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นพื้นฐานไปยันขั้นสูง

ไมค์ ริบเบิล (Mike Ribble) ที่ปรึกษาของเอดเทค ไดเจสต์ (EdTech Digest) ที่คอยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ให้คำนิยามกับ ‘พลเมืองดิจิทัล’ เอาไว้ว่า

“มันเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่เหมาะสม และพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีด้วยความรับผิดชอบ ตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลสารสนเทศดิจิทัล ความปลอดภัยในการสื่อสาร ไปจนเรื่องมารยาท”

สำหรับประชากรเจเนอเรชั่นก่อนๆ การเรียนรู้พฤติกรรมการสื่อสาร และจริยธรรมดิจิทัล อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเรียนการสอนให้เด็กๆ เป็นพลเมืองดิจิทัลมีความสำคัญมากแบบยากปฏิเสธ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับบรรดาอัลฟ่ารุ่นใหม่ๆ โดยนักการศึกษา และผู้ปกครองมุ่งเน้นไปที่การมองหาวิธีใหม่ๆ ในการสอนสร้างการเป็นผู้นำดิจิทัล และเอาใจใส่พลเมืองดิจิทัลมากขึ้น เพื่ออนาคตพวกเขาจะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์

aw1hz2uvmjaxoc0wms85mzhizmu5m

การเรียนรู้ในโลกอนาคต

การเตรียมความพร้อมให้เด็กเล็กๆ ในเจเนอเรชั่นอัลฟ่า ทางโรงเรียนควรเริ่มต้นจากพัฒนาหลักสูตรการเป็นพลเมืองดิจิทัลให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นเสียก่อน เพื่อเด็กๆ จะได้รู้จักวิธีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัย และรับผิดชอบ โดยจุดมุ่งหมายคือ ช่วยให้นักเรียนกล้าตัดสินใจเชิงจริยธรรม และการกระทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นด้านบวกบนโลกดิจิทัล

เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน สตาร์ทอัพเนียร์พอด (Nearpod) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารสื่อการเรียนการสอน จับมือกับคอมมอน เซนส์ มีเดีย เปิดหลักสูตรการเป็นพลเมืองดิจิทัล โดยสอนกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมปลาย หัวข้อเน้นความรู้ด้านสื่อความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ต การกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต การสื่อสารแบบดิจิทัล อัตลักษณ์ทางออนไลน์ และลิขสิทธิ์ทางความคิดสร้างสรรค์

สอดคล้องกับข้อมูลบนเว็บไซต์ของเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม (The World Economic Forum) ที่ชี้ให้เห็นว่า ทักษะที่เด็กรุ่นใหม่ควรเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพลเมืองดิจิทัลมีอยู่ 8 ประการ ได้แก่

1. อัตลักษณ์ของพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen Identity) เนื่องจากการเติบโตเป็นพลเมืองดิจิทัลคุณภาพ เด็กๆ มีความรู้เรื่องการสร้างอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองทั้งบนโลกออนไลน์ และโลกความจริง 

2. การจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management) ความสามารถในควบคุมตัวเอง และรู้จักแบ่งเวลาในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

3. การรับมือกับการกลั่นแกล้ง (Cyberbullying Management) รับมือกับการคุกคามข่มขู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างชาญฉลาด 

4. การรักษาความปลอดภัยในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management) รู้จักป้องกันข้อมูลด้วยการสร้างระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็ง และป้องกันการโจรกรรมข้อมูล หรือการโจมตีออนไลน์

5. การรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) จัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์ เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัว

6. การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ความสามารถวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้

7. ร่องรอยบนโลกออนไลน์ (Digital Footprints) เข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตในโลกดิจิตอลว่า สิ่งที่ตนเองทิ้งเอาไว้บนโลกดิจิทัลเป็นร่องรอยที่สามารถส่งผลกระทบกับชีวิตภายหลังได้ ดังนั้น ควรเข้าใจผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดูแลชีวิตบนโลกดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ

8. ความเอาใจใส่ทางดิจิทัล (Digital Empathy) มีความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นบนโลกออนไลน์ และแสดงน้ำใจอย่างเหมาะสม

สำหรับคนรุ่นก่อน เทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อดิจิทัลอาจดูเป็นทักษะเฉพาะเจาะจง แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นความสามารถหลักของคนรุ่นใหม่ ซึ่งช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน นั่นเป็นเหตุผลที่ทักษะพลเมืองดิจิทัลกลายมาเป็นส่วนสำคัญของการศึกษา เพราะหากไม่มีโปรแกรมการศึกษาเรื่องพลเมืองดิจิทัลที่ครอบคลุม การเข้าถึงเทคโนโลยีจะกระจายไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความไม่คล่องตัวทางเศรษฐกิจ

“เด็กๆ ทุกคนกำลังสนุกกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อยู่ในมือของพวกเขาแบบ 24 ชั่วโมง 7 วัน และคุณครูอาจไม่เคบทราบเลยจริงๆ ว่ามันมีการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้นทางอินเทอร์เน็ต และการสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์” กูยโด คาวาลสกายส์ (Guido Kovalskys) ผู้ร่วมก่อตั้งเนียร์พอด กล่าว

ปัจจุบันครูในสหรัฐฯ มากกว่า 228,000 คน ดาวน์โหลดเอกสารโครงการพลเมืองดิจิทัลในปี 2016 ซึ่งพาดหัวตัวหนาบนเอกสารหน้าแรกว่า “เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่โรงเรียนต้องพัฒนาพลเมืองดิจิทัลในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว” มาประกอบการสอนแล้ว และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติของกรุงวอชิงตันผ่านกฎหมายการเป็นพลเมืองดิจิทัล เพื่อผลักดันการรวมกลุ่มของผู้ใช้งาน และบูรณาการนวัตกรรม โดยร่างพระราชบัญญัติกำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องมีการศึกษาด้านสื่อดิจิทัล เกี่ยวกับการรับรู้ การใช้เทคโนโลยีอันปลอดภัย และการเป็นพลเมืองดิจิทัล

“นักเรียนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับยุคออนไลน์ที่พวกเราทุกคนอาศัยอยู่” มาร์โก ลัยส์ (Marko Liias) วุฒิสมาชิกของกรุงวอชิงตัน กล่าว

aw1hz2uvmjaxoc0wms9iognlnwjim

ความเป็นผู้นำแบบดิจิทัล

เมื่อเดือนมิถุนายน 2017 หนังสือ Social LEADia ผลงานของเจนิเฟอร์ คาซา-ทอดด์ (Jennifer Casa-Todd) เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เนื้อหากระตุ้นการเรียนการสอนให้พลเมืองดิจิทัลกลายเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลในอนาคต โดยเธอเน้นว่า นักการศึกษาควรแนะนำให้นักเรียนใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ด้วยความรับผิดชอบ และอุตสาหะ

“เมื่อเรามอบโอกาสให้นักเรียนได้เป็นผู้นำดิจิทัลในโรงเรียน เราสามารถช่วยพวกเขาพัฒนาทักษะ และพวกเขาจะกลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก ซึ่งมันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเชื่อมต่อ” คาซา-ทอดด์ เขียนในหนังสือ

แพลตฟอร์มปลอดภัยสำหรับเด็ก

ยูทูบ คิดส์ (YouTube Kids) เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 หลังจากต้องเผชิญหน้ากับคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวิดีโอไม่เหมาะสมกับเด็ก เพราะแพลตฟอร์มไม่สามารถตรวจสอบเนื้อหาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างน่าสนใจคือ แพลตฟอร์มวิดีโอเจลลีส์ (Jellies) นำเสนอเนื้อหาของเด็ก และแทนที่จะแฝงโฆษณา หรือวิดีโอทางการค้า เจลลีส์สร้างรายได้ด้วยค่าสมัครสมาชิกรายเดือนที่ 4.99 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 160 บาท

เมื่อเดือนที่แล้ว เฟซบุ๊กก็เพิ่งเปิดตัวเมสเซนเจอร์ คิดส์ (Messenger Kids) เป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความเวอร์ชันใหม่ที่ออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเล็กๆ ให้กับเด็กๆ อายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่มีเนื้อหาโฆษณา หรือค่าใช้จ่าย แต่จะทำงานภายใต้การกำกับดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเหมาะสมตั้งแต่เด็กปฐมวัย

อย่างไรก็ตาม รายงานการวิจัยของอีมาร์เก็ตเตอร์ (eMarketer) ระบุว่า ค่าโฆษณาดิจิทัลในกลุ่มเด็กจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2019 เพราะแอปพลิเคชันของเด็กๆ มีปริมาณมากขึ้น แต่มันกลับปราศจากโฆษณา เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ดังนั้น แบรนด์สินค้าต่างๆ ควรทราบว่า มันกำลังก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ เกี่ยวกับการนำเสนอข้อความเชิงพาณิชย์ หรือการยกเลิกวิดีโอ ดังนั้น ถึงเวลามองหาวิธีที่สร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งได้รับอนุญาต และมอบความรู้ไปในเวลาเดียวกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook