นิทรรศการ "ภาพกราฟฟิก" ช่วยสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์

นิทรรศการ "ภาพกราฟฟิก" ช่วยสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์

นิทรรศการ "ภาพกราฟฟิก" ช่วยสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

voagrapphic

รูปภาพแนวกราฟฟิกจำนวนยี่สิบกว่าภาพ พร้อมกับคำบรรยาย ดึงดูดความสนใจของผู้คนที่เดินผ่านไปมาที่ Dupont Circle ในกรุงวอชิงตัน

รูปภาพแต่ละภาพและคำพูดประกอบจากผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กๆ ที่เป็นเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ทางเพศ และเป็นแรงงานทาส ท้าทายให้คนดูลองจินตนาการถึงความเลวร้ายในแต่ละวัน และความท้าทายที่เหยื่อเหล่านี้ต้องประสบ

Janine Tkach ผู้ชมนิทรรศการคนหนึ่ง กล่าวว่า รู้สึกเศร้าใจและพยายามข่มน้ำตา รูปภาพที่นำมาแสดงสร้างความสะเทือนใจ และตนเองรู้สึกขยะแขยงกับความเลวร้ายของการลักลอบค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาส

เธอบอกว่า งานนิทรรศการนี้ช่วยให้เธอตื่นตัวกับปัญหานี้และจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการใส่ใจกับเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ที่ตนเองบริโภค เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการใช้แรงงานทาสในการผลิต

ด้าน David นักท่องเที่ยวจากกรุงลอนดอน กล่าวว่า ตนเองรู้เกี่ยวกับปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์และแรงงานทาส แต่งานนิทรรศการนี้ช่วยให้เข้าใจปัญหานี้มากขึ้นกว่าเดิม เขากล่าวว่าเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์นี้ถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อผลิตสินค้าที่มีราคาถูก

Kay Chernush ช่างภาพระดับเจ้าของรางวัล เป็นผู้สร้างผลงานนิทรรศการภาพกราฟฟิกที่ประกอบขึ้นจากภาพของเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ที่เธอได้ถ่ายเอาไว้

Kay Chernush กล่าวว่า ตนเองได้สัมผัสกับปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ครั้งแรกผ่านการทำงานให้กับกระทรวงการต่างประเทศ ย้อนไปเมื่อปี 2005 เธอได้รับมอบหมายงานให้ไปทำงานที่ฮ่องกง มาเก๊า ประเทศไทย อินเดีย และอิตาลี เพื่อถ่ายภาพการลักลอบค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสในหลายๆ รูปแบบ

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ทำให้ Chernush หันไปทำงานร่วมกับหน่วยงานพัฒนาเอกชนที่ต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์หลายหน่วยงานในประเทศต่างๆ

งานนิทรรศการนอกสถานที่งานแรกที่ชื่อว่า “Bought and Sold” ออกแสดงในกรุงเฮกในปี 2009 และย้ายไปจัดแสดงในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศเนเธอแลนด์

Kay Chernush เจ้าของงานนิทรรศการ กล่าวว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นโครงการรณรงค์ต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาส “ArtWorks for Freedom” เธอกล่าวว่า เมื่อภาพถ่ายมีพลังในการสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวแก่ผู้ชม และยังช่วยเหยื่อเยียวยาทางจิตใจ จึงควรมีการนำศิลปะด้านอื่นๆ มาร่วมมีบทบาทในการต่อต้านปัญหานี้ด้วย

ศิลปินคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมในโครงการรณรงค์ต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์ผ่านงานศิลป์นี้ ต่างใช้สื่อศิลปะต่างๆ ตามสาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญ รวมทั้งการเต้นเพื่อแสดงเรื่องราวของเหยื่อที่ต้องฟันฝ่าความเจ็บปวดทรมานไปสู่การเยียวยาและฟื้นตัว

Erica Rebollar ผู้อำนวยการแห่ง Rebollar Dance กล่าวว่า ตนมองว่าศิลปะการเต้นช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความเข้าอกเข้าใจเหยื่อมากขึ้น ช่วยสร้างความรู้สึกเข้าอกเข้าใจต่อเรื่องราวของเหยื่อแต่ละราย ซึ่งเธอเชื่อว่านี่จะได้ผลทางจิตใจของผู้ชม มากกว่าการได้อ่านข้อมูลแห้งๆ เพียงอย่างเดียว

งานนิทรรศการเหล่านี้ได้จัดแสดงในเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองมาแล้วในหลายส่วนของโลก และงานนิทรรศการในกรุงวอชิงตัน ยังได้นำเสนอผลงานศิลปะฝีมือของเด็กๆ ที่เป็นลูกของคนงานต่างด้าว รวมทั้งผลงานผ้าห่มฝีมือประดิษฐ์ของเหยื่อที่รอดจากการลักลอบค้ามนุษย์อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีจัดแสดงประตูสีทอง 12 บาน ที่ถูกแปรสภาพมาจากประตูไม้เก่า ที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการตั้งต้นชีวิตใหม่ของเหยื่อ

Kay Chernush ศิลปินช่างภาพ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการ ArtWorks for Freedom คือสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์ เธอบอกว่าเราจะสามารถช่วยกันกำจัดปัญหานี้ให้หมดไปได้ภายในรุ่นอายุของคนเรา และคนทุกคนล้วนมีบทบาทในการต่อต้านปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook