คนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดาและสหรัฐฯ ต่อสู้เพื่อ “สิทธิ์ไว้ผมยาว”

คนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดาและสหรัฐฯ ต่อสู้เพื่อ “สิทธิ์ไว้ผมยาว”

คนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดาและสหรัฐฯ ต่อสู้เพื่อ “สิทธิ์ไว้ผมยาว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

cannadian

ทียา มาเรีย ลาร์จ (Tiya-Marie Large) หนึ่งในสมาชิกชนเผ่า Pheasant Rump Nakota Nation ในจังหวัด Saskatchewan ของแคนาดา ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกชายอายุ 8 ขวบ ไมลอน แม็คอาร์เธอร์ (Mylon McArthur) ร้องไห้หลังกลับมาจากโรงเรียน

เธอบอกว่าลูกชายปิดปากเงียบ ไม่ยอมบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แม้ว่าตนเองจะสัญญาว่าจะไม่โกรธก็ตาม

ลาร์จได้เข้าพบครูของลูกชาย โดยระหว่างการประชุมกับครู ลูกชายร้องไห้ และยอมรับว่าถูกเพื่อนในห้องเรียนรังแก เพราะตนเองไว้ผมยาวและถักเปีย

ครอบครัวของลาร์จเพิ่งย้ายไปอยู่ที่อัลเบอร์ต้า (Alberta) โดยไมลอนเป็นเด็กชายชนเผ่าพื้นเมืองเพียงคนเดียวในห้องเรียน ลาร์จ คุณแม่ของไมลอน กล่าวว่า ตนเองตัดสินใจให้ลูกชายตัดผมเพราะไม่ต้องการให้ลูกถูกเพื่อนรังแก เธอกล่าวว่ามีปัญหาเด็กวัยรุ่นชนเผ่าพื้นเมืองปลิดชีวิตตัวเองเพิ่มขึ้น

ไมลอน ตัดสินใจทำวิดีโอบนหน้าเฟสบุ๊คเพื่ออธิบายการตัดสินใจของตนที่จะตัดผม และได้ส่งข้อความไปให้เพื่อนนักเรียนและครูที่โรงเรียน วิดีโอของเขามีคนเปิดดูอย่างล้นหลาม

"เส้นผม" มีความสำคัญทางความเชื่อทางจิตวิญญาณและทางวัฒนธรรมของคนเผ่าที่สืบทอดผ่านขนบธรรมเนียม โดยลักษณะการไว้ผมจะต่างกันไปแล้วแต่เผ่า ไม่ว่าจะปล่อยให้ยาว ถักเปีย หรือผูกจุก

ชนเผ่าพื้นเมืองของอเมริกาเหนือส่วนมากถือว่า ผมยาว เป็นแหล่งที่มาของความเข้มแข็งและอำนาจ

แอล. จี. โมเสส (L.G. Moses) อดีตศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย โอกลาโฮม่า สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ กล่าวว่า ทรงผมของคนพื้นเมืองช่วยสร้างความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกบุคคล ความเป็นชาติพันธุ์และสังคมในประเทศต่างๆ

ตามนโยบายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มุ่งบังคับรวมเอาคนเผ่าพื้นเมืองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม รัฐบาลของสหรัฐฯ และของแคนาดา ได้เริ่มต้นมาตรการที่ศาสตราจารย์โมเสสเรียกว่า “การโจมตีทรงผมของคนเผ่าพื้นเมือง”

เขากล่าวว่า ผมยาวเป็นสัญลักษณ์ว่าคนมีความศิวิไลซ์หรือไม่ และน่าเศร้าที่ในความคิดของบรรดาครูและข้าราชการ ถือว่าคนไว้ผมยาวเป็นชาวอินเดียนแดง ซึ่งเป็นการเรียกที่แสดงความดูถูกดูแคลนต่อคนชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเอาไว้

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1870 เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางในแคนาดา และในสหรัฐฯ ได้โยกย้ายเด็กชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปในโรงเรียนกินนอนที่อยู่นอกเขตตั้งถิ่นฐานของคนพื้นเมือง เพื่อบังคับให้เด็กเลิกเรียนภาษาพื้นเมือง เลิกสวมเสื้อผ้าชนเผ่า และเลิกไว้ผมยาว แม้แต่ทุกวันนี้ โรงเรียนรัฐบาล เรือนจำ และสถานที่ทำงานจำนวนมาก ยังบังคับให้คนพื้นเมืองอเมริกันตัดผม

คอนราด อีเกิ้ล เฟธเธอร์ ชาวเผ่า Sicangu Lakota ที่อาศัยในโรสบัด เรเซอร์เวชั่น (Rosebud Reservation) ในรัฐเซาท์ ดาโกต้า เล่าถึงประสบการณ์ตอนทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียว่า ตนเองต้องการไว้ผมยาว แต่ผิดกฎระเบียบของทางบริษัท และเขาได้ขอให้ผู้นำทางความเชื่อจากเผ่าตนเองเข้าไปอธิบายกับบริษัทว่า ทำไมการไว้ผมยาวมีความสำคัญต่อคนเผ่าพื้นเมือง แต่ทางบริษัทปฏิเสธที่จะอนุญาตให้เขาไว้ผมยาว

ต่อมาทางบริษัทได้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่ออนุญาตให้ชายที่ไม่มีเชื้อสายชนเผ่าพื้นเมืองสามารถไว้เคราได้ อีเกิ้ล เฟธเธอร์ จึงได้ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากหน่วยงานแห่งหนึ่งและชนะความ มีสิทธิ์ที่จะไว้ผมยาวได้

ด้านไมเคิล ลิงค์เลทเทอร์ (Michael Linklater) ชาวเผ่า Nehiyaw จาก Thunderchild First Nation ในจังหวัด Saskatchewan ประเทศแคนาดา กล่าวว่า เขาเคยถูกรังควานในตอนเป็นเด็ก เพราะไว้ผมเปีย

สองปีที่แล้ว หลังจากลูกชายของเขาสารภาพว่าถูกรังแก ลิงค์เลทเทอร์ตัดสินใจจัดการกับปัญหานี้ ในตอนต้นปี ค.ศ. 2016 เขาเริ่มใช้เฟสบุ๊คเพจ เพื่อสร้างความตื่นตัวแก่เรื่องนี้ โดยใช้ชื่อว่า Boys With Braids หรือ “เด็กผู้ชายผมเปีย”

เขากล่าวว่า จำเป็นต้องมีสื่อกลางในการสร้างความภาคภูมิใจของคนหนุ่มสาวชนเผ่าพื้นเมือง ให้โอกาสพวกเขาในการแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกและความตื่นตัว เขาแสดงความหวังว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จะช่วยหยุดยั้งการรังแกเด็กชายชนเผ่าพื้นเมืองที่ไว้ผมยาวได้

หน้าเฟสบุ๊คเพจ “Boys With Braids” ได้รับความนิยมแพร่หลายจากแคนาดา มายังสหรัฐฯ เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเด็กชายผมเปียขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย มิชิแกน นิว เม็กซิโก และ เซาท์ ดาโกต้า รัฐเหล่านี้ในสหรัฐฯ ล้วนแต่มีประชากรชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันจำนวนมาก

เด็กชายไมลอนกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ตั้งแต่ตัดผมเมื่อ 3 เดือนก่อน ตนเองไม่ถูกเพื่อนที่โรงเรียนรังแกแล้ว แต่วันนี้ เขาได้ตัดสินใจว่าตนเองจะปล่อยให้ผมยาวและไม่กลัวว่าใครจะรังแกอีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook