เรียนยุคดิจิทัล ที่ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ "ตำราเรียน"

เรียนยุคดิจิทัล ที่ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ "ตำราเรียน"

เรียนยุคดิจิทัล ที่ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ "ตำราเรียน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

digitaltrump

อาจารย์โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย สอนนักเรียนยุคดิจิทัล ยกปัญหานอกตำรา ดึงความสนใจที่ไม่ใช่แค่เนื้อหา มาสร้างสรรค์ชิ้นงานรณรงค์เพศศึกษาจนกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์

ไม่น่าเชื่อว่า คำโดนๆ “ทนไม่ไหว ห้ามลืมใส่ถุง” กับภาพถุงยางอนามัย แรงๆ บนโปสเตอร์ ที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์จำนวนมาก จะเป็นฝีมือเด็กนักเรียนชั้นมัธยมชั้นปีที่ 3 ห้องเรียนสุขศึกษาโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

“วอยซ์ออนไลน์” ตามไปถึงห้องเรียนสุขศึกษา โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เพื่อดูการเรียนเพศศึกษาของ เด็กสมัยนี้ เป็นอย่างไร

เริ่มจาก เจ้าของผลงานโปสเตอร์ที่โลกออนไลน์ชื่นชมไอเดีย ที่สร้างสรรค์สะท้อนความรู้สึกของช่วงวัยได้อย่างลงตัว ทั้งหมดเป็นนักเรียนชายล้วนประกอบด้วย

 1

ด.ช. รอยอินทร์ ชุนหกิจ, ด.ช. ธนโชติ สุขชัย, ด.ช. พศิน แสวงสว่างอารมย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/4 

พวกเขาบอกว่า รู้สึกตกใจ ที่มีคนแชร์โปสเตอร์และพูดถึงผลในโลกออนไลน์จำนวนมาก เพราะนั่นเป็นแค่ผลงานในชั้นเรียนวิชาสุขศึกษาในโรงเรียน แต่ก็ดีใจมากเมื่อเห็นว่าสิ่งที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำได้รับความสนใจมากมายขนาดนี้

เด็กๆเล่าถึงเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นผลงานชิ้นนี้ เกิดจากโจทย์ของอาจารย์ ในชั้นเรียนเรื่องสถานการณ์วัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม โดยให้ผลิตเป็นโปสเตอร์รณรงค์ 1 ใบเพื่อวัดผลความเข้าใจต่อปัญหาดังกล่าว

หลังรับโจทย์ พวกเขาช่วยกันระดมความคิดเห็น แต่ข้อจำกัดของกลุ่มคือมีนักเรียนชายล้วนแต่ต้องทำเรื่องท้องไม่พร้อมจะทำอย่างไร จึงคิดว่าถุงยางอนามัยน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันที่ตรงไปตรงมาที่สุด ส่วนคำพูดแรงๆ โดน ๆทุกคนในกลุ่มช่วยกันคิดและผลิตเองทั้งหมด

“ เราช่วยกันค้นข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตถึงสถานการณ์ท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น จนรู้ว่าประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในเอเชียและอันดับ2ของโลก จนสกัดออกมาเป็นคำสั้นๆเพื่อสื่อสารบนโปสเตอร์ ”

สิ่งที่โลกออนไลน์สนใจน่าจะมาจาก ภาพถุงยางอนามัยที่ใส่โยเกิร์ต เพราะสื่อความหมายตรงไปตรงมา กับข้อความที่ว่า วัยรุ่นไทยได้ใส่ชุดคลุมท้อง ก่อนได้ใส่ชุดครุยรับปริญญา 

ส่วนวิธีการเรียนการสอนที่ทำให้ได้ผลงานสร้างสรรค์แบบนี้ อาจารย์ศรีรดา ดอกตาลยงค์ ผู้สอนวิชาสุขศึกษาประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า ไม่มีในตำราเรียนแต่หยิบยกปัญหาในสังคมมาถกเถียงร่วมกัน คือวิธีการที่ห้องเรียนสุขศึกษาโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยนำมาใช้ เพราะต้องยอมรับว่า ในโลกดิจิทัล ความสนใจของนักเรียน บางครั้งอาจไม่ใช่แค่เนื้อหาอย่างเดียว

 2

อาจารย์ศรีรดา ดอกตาลยงค์

อาจารย์ ศรีรดา จึงหยิบยกสถานการณ์ปัญหา วัยรุ่นท้องในวัยเรียน เพราะจากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีการเรียนการสอนเรื่องวัยเจริญพันธุ์ในชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ดังนั้นการทำกิจกรรมจะช่วยให้นักเรียนได้เข้าใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น

“การนำปัญหาสังคมขึ้นมาเป็นโจทย์ จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิด ส่วนการวัดผลการเรียนรู้ ได้กำหนดให้ทำโปสเตอร์เรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยเรียน เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ภายในรั้วสถานศึกษา”

 4

บรรยากาศภายในห้องเรียนวิชาสุขศึกษาของอาจารย์ศรีรดา

แม้ไม่ได้คาดหวังว่าสังคมจะให้ความสนใจมากมายขนาดนี้ แต่เมื่อนำโปสเตอร์ผลงานนักเรียน ไปเผยแพร่ยังเพจเฟซบุ๊กประจำภาควิชาฯ กลับเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์โดยเฉพาะแอดมินเพจดัง ที่มีผู้ติดตามหลักล้านแชร์นำผลงานไปชื่นชมในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการใช้คำที่สื่อความหมายได้ชัดเจน

 “ความคาดหวังแรกคือการวัดผลความเข้าใจของนักเรียน โดยใช้การทำโปสเตอร์วัดผลความรู้ 3 ด้าน คือ ด้านความรู้, ด้านทักษะ, และด้านคุณธรรมจริยธรรมซึ่งผลงานที่ออกมาถือว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่ดี” อาจารย์ ศรีรดา กล่าว

การปรับวิธีการเรียนการสอนในยุคที่สังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในฐานะอาจารย์เองต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอในฐานะผู้สอน และต้องก้าวตามให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อย่าหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook