"สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ" แค่สนุกยังไม่พอ แต่ขอให้เติบโตบนโลกความจริง
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัว 3 ต้นแบบ ‘สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ’ หวังให้เด็กอายุ 6 - 14 ปี ออกจากหน้าจอมาใช้ชีวิตบนโลกความเป็นจริง
ต้นแบบนวัตกรรม ‘สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ’ เป็นผลงานออกแบบที่ต่อยอดมาจากโครงการ ‘แอคทีฟ เพลย์’ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งต้องการค้นหาคำตอบของปัญหาว่า “ทำไมเด็กไม่ออกมาเล่น?” โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งประกอบด้วยการเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่ ก่อนนำมาแปลผลเป็นโจทย์ และข้อกำหนด เพื่อออกแบบสนามเด็กเล่นที่ตอบสนองความต้องการของเด็กๆ อย่างแท้จริง
ทุกขั้นตอนในกระบวนการสร้างสรรค์ต้นแบบเกิดจากความร่วมมือของผู้คนในชุมชนฮารูณ ชุมชนโปลิศสภา เด็กๆ และคณะครูจากโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนวัดสวนพลู โรงเรียนวัดม่วงแค โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม และผู้ปกครองกว่า 500 คน
ด้านวัตถุประสงค์ของ ‘สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ’เน้นกระตุ้นการเรียนรู้ และการพัฒนาสมรรถภาพด้านร่างกายให้กับเด็กวัย 6 - 14 ปี ทั้งในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และบ้าน โดยเริ่มนำร่องทดสอบบริเวณย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง ก่อนพัฒนาต่อไปตามชุมชนอื่นๆ ในอนาคต แบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
โค-เพลย์อิง เพลย์กราวน์ (Co-Playing Playground) การปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เอื้อต่อการเล่นร่วมกันของเด็ก และเยาวชนในชุมชน โดยเน้นการออกแบบในลักษณะที่เด็กเห็นแล้วอยากเล่น อยากขยับตัว อยากออกแรง อย่าง ‘บ้านไม้ของเล่น’ ที่ถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนวิ่งออกกำลังแบบวงล้อ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อขา และการทรงตัว โซนชู้ตบาสเกตบอลให้ลงห่วง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อแขน ที่ออกแบบมาใน 2 ระดับความสูง เพื่อรองรับการเล่นสำหรับเด็กโต และเด็กเล็ก ฯลฯ
แอคทีฟ เลิร์นนิง เพลย์กราวน์ (Active Learning Playground) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ของครูผู้สอนที่เหมาะสมในแต่ละวิชา โดยเน้นการเรียนรู้ในในรูปแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active Learning) ที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุก มีความกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการมีพัฒนาการของสมองที่โลดแล่นอย่างต่อเนื่อง อาทิ สายรัดข้อมือแก้โจทย์คณิตคิดเร็ว ที่ออกแบบให้มีช่องพลาสติกใส สำหรับใส่คำตอบหรือโจทย์คำนวณ ที่มาพร้อมกับสีสันสดใส และไม่ระคายผิว ฯลฯ
เฮาส์โฮลด์ แฮ็ค (Household Hack) การประยุกต์ใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่ทำให้เรื่องงานบ้านกลายเป็นการเล่นที่สนุกสนาน อาทิ ถังขยะซุปเปอร์ชู้ต การฝึกกระตุ้นกล้ามเนื้อขา จากการกะน้ำหนักเท้าเพื่อเหยียบฝาถังให้เปิด พร้อมกับโยนวัตถุบนฝาให้ลงปากท่อที่ติดไว้ ไม้กวาดไดรฟ์กอล์ฟ การกระตุ้นกล้ามเนื้อแขนผ่านการกวาดลูกกอล์ฟให้ลงหลุม บนที่ตักขยะ ฯลฯ
“ทั้ง 3 ต้นแบบพัฒนามาให้เหมาะกับการเรียนรู้ และพัฒนาสมรรถภาพด้านร่างกายของเด็กวัย 6 - 14 ปี เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ทั้งในพื้นที่สาธารณะในชุมชน โรงเรียน และบ้าน โดยเริ่มนำร่องทดสอบในย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และครูในพื้นที่กว่า 250 คนจาก 2 ชุมชน 4 โรงเรียน ควบคู่ไปกับการใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบบริการ” กิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กล่าวในพิธีเปิด 3 นวัตกรรมสนามเด็กเล่นต้นแบบ
นอกจากนั้น ในอนาคต ต้นแบบนวัตกรรม ‘สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ’ จะถูกขยายผลไปยังชุมชน และโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป โดยทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบต้องการให้โครงการฯ ดังกล่าวสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กๆ ผู้ปกครอง และครู เห็นคุณค่าของการ ‘เล่น’ และการมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งแฝงข้อคิดในเรื่องการแบ่งปัน ความสามัคคี และความมีวินัย
ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาหนึ่งที่พบมากในยุคปัจจุบันคือ ผู้คนเคลื่อนไหวกันน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ และเยาวชน ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งกันมากขึ้น เนื่องจากหันไปสนใจกับสื่อ และอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าเพื่อนรอบข้าง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
“เราต้องการดึงเด็กๆ ออกจากหน้าจอสู่การใช้ชีวิตบนโลกความเป็นจริง ใช้ชีวิตกับคนรอบข้างมากขึ้น เพราะตามหลักความเป็นจริงแล้ว เด็กในช่วงวัย 6 – 14 ปี ควรทำกิจกรรมทางกายเป็นอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ซึ่งต้นแบบนวัตกรรมที่ทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบพัฒนาขึ้น ถือเป็นหนึ่งในทางออกที่สำคัญช่วยให้ทั้งเด็ก เยาวชนรุ่นใหม่ และผู้ปกครอง ได้กลับมาเห็นความสำคัญของการเล่นอย่างมีคุณภาพอีกครั้งหนึ่ง” ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวเสริม