ธุรกิจฟื้นฟูป่าและดินเสื่อมคุณภาพ ทำกำไรในระยะยาว
บริษัท แลนด์ ไลฟ์ คัมปานี (Land Life Company) และบริษัท เฟรช โคสต์ แคปปิตอล (Fresh Coast Capital) ร่วมปลูกต้นไม้เพื่อดูดมลพิษในอากาศ
บริษัทเหล่านี้ล้วนแต่มุ่งทำรายได้จากการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและดินเสื่อมสภาพเรื่องราวของบริษัทเหล่านี้ถูกกล่าวถึงในรายงานชิ้นใหม่ของสถาบัน World Resources Institute เรื่อง "The Business of Planting Trees" หรือ “ธุรกิจการปลูกต้นไม้”
โซเฟีย ฟารุกกิ (Sofia Faruqi) หัวหน้าทีมผู้ร่างรายงานของสถาบันแห่งนี้กล่าวว่า รายงานชิ้นนี้ถือเป็นการศึกษาธุรกิจหวังผลกำไรจากการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและที่ดินทางการเกษตรชิ้นแรก
ฟารุกกิ กล่าวว่า ที่ดินจำนวนมากทั่วโลกเสื่อมสภาพเพราะต้นไม้ถูกตัดโค่น ดินพังทลาย แต่มีความต้องการใช้ที่ดินที่เสื่อมสภาพนี้เพื่อเลี้ยงปากท้องประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จำเป็นต้องกำจัดมลพิษทางอากาศและน้ำ ตลอดจนต้องมีต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับแก๊สเรือนกระจก
เธอกล่าวว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้สัญญาว่าจะสนับสนุนเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและสภาพดิน
ฟารุกกิ กล่าวว่าตอนนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้สัญญาแล้วว่าจะฟื้นฟูพื้นที่ป่าและดินที่เสื่อมสภาพทั่วโลกซึ่งมีขนาดเท่ากับแอฟริกาใต้ แต่ตนเองไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน
ฟารุกกิและเพื่อนร่วมงานวิจัย ได้เริ่มเสาะหาบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและสภาพที่ดินเพื่อหวังผลกำไร รายงานนี้เป็นเหมือนข้อแนะนำแก่บรรดานักลงทุนที่อาจจะลังเลที่จะลงทุนในธุรกิจด้านนี้ แต่ฟารุกกิกล่าวว่า นี่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่นักลงทุนยังไม่ค่อยรู้จักกันนัก
รายงานชิ้นนี้ชี้ถึงรูปแบบของการทำธุรกิจนี้ไว้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ผืนใหญ่หลายๆ ผืน แต่บริษัท โคมาซา (Komaza) ในเคนยา กลับปลูกต้นไม้ในพื้นที่ดินขนาดเล็กหลายพันแห่งด้วยกัน
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายบริษัท อาทิ บริงค์แมน กรุ๊ป (Brinkman Group) ที่ทำธุรกิจปลูกต้นไม้ทดแทนป่าไม้ที่ถูกตัดในพื้นที่ป่าแห่งต่างๆ ในแคนาดา มานานหลายสิบปีแล้ว
เดอร์ก บริงค์แมน (Dirk Brinkman) ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า ทางบริษัทเพิ่งเริ่มตัดไม้ที่มีมูลค่าสูงทางการค้า และเป็นป่าปลูกอย่างยั่งยืนในอเมริกากลาง ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ทางบริษัทเป็นผู้ปลูกเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
บริงค์แมน กล่าวว่า รายได้จากการลงทุนปลูกต้นไม้นี้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ และบริษัททำกำไรได้จริง เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาในการพิสูจน์เรื่องนี้
ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะทำกำไรได้ อาจเป็นสาเหตุให้นักลงทุนหลายคนไม่ต้องการทำธุรกิจนี้ และในหลายประเทศที่มีปัญหาสภาพป่าและดินเสื่อมคุณภาพ มักจะประสบกับปัญหาด้านการบริหารประเทศของรัฐบาล และขาดความชัดเจนเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน
งานฟื้นฟูป่าและดินเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และขณะนี้ มีบริษัทเพียง 5 ใน 14 บริษัทเท่านั้นในรายงานชิ้นนี้ ที่เปิดเผยถึงกำไรที่ได้รับ
มุสฟิก มูบารัค (Mushfiq Mobarak) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) กล่าวว่า บรรดานักลงทุนอาจต้องการได้รับข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จมากกว่านี้ ก่อนที่จะตัดสินใจกระโดดเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้
เขากล่าวว่าตนเองดีใจที่เห็นคนนำแนวคิดนี้ไปทำธุรกิจจริงจัง อย่างไรก็ตาม ตนเองอยากเห็นก้าวย่างต่อไปในการเก็บข้อมูลทางตัวเลขเพิ่มขึ้น และเขาบอกว่า สำหรับบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจนี้สำเร็จ พื้นที่เสื่อมโทรมทั่วโลกน่าจะถือเป็นโอกาสขนาดยักษ์ในการทำธุรกิจนี้