เปิดใจประธานเชียร์ "งานบอลจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์" เบื้องหลังความปัง ส่งแนวคิดกลับสู่สังคม
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ที่ผ่านมาเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 นั้นต้องบอกก่อนเลยว่าเป็นอีกงานหนึ่งของเหล่าเยาวชนไทยที่ใครๆ ก็ต้องรู้จักเป็นอย่างดี เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในความสามัคคี เสียสละ และการแสดงออกในแนวคิดของนิสิต นักศึกษาไทย ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ในปัจจุบัน ที่สื่อและเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลอย่างแพร่หลายจนน่าจับตามอง
งานบอลประเพณีปีนี้ดูมีชีวิตชีวาและครึกครื้น หลังจากห่างหายไปหนึ่งปี เรียกได้ว่ากลับมาอย่างยิ่งใหญ่และตามความคาดหมายของใครหลายๆ คน
ซึ่งบุคลากรในงานมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานให้ประสบความสำเร็จได้ วันนี้ทาง Sanook! Campus จะพาไปทำความรู้จักและเปิดใจกับบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็น "เยาวชนยุคใหม่" ที่เข้ามารับหน้าที่และขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพอย่างมาก คนเหล่านี้คือเหล่าประธานเชียร์ผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งทางฝั่งจุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์ ที่สามารถสร้างสีสันและคงเสน่ห์ของงานบอลประเพณีนี้ไว้อย่างสวยงาม และทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ
นายรักษ์พศิน กวินปฐมวงศ์ (บุ๋นบุ๋น) คณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานเชียร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 72
กว่าจะมาเป็นประธานเชียร์... ต้องมีการคัดเลือก 3 ครั้ง ทั้งข้อเขียนความรู้เกี่ยวกับงานบอล และสัมภาษณ์ต่อในทันที เป็นการสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องการเป็นผู้นำ การแก้ปัญหาต่างๆ พอได้รับตำแหน่งประธานเชียร์ต้องดูแล สแตนด์เชียร์ในด้านของคนนำเชียร์ ประสานงานกับทางฝั่งพาเหรด เพื่อให้การแปรอักษรและการเล่นคำต่างๆให้สอดคล้องกัน รวมถึงการตอบโต้การแปรอักษร คิดคำต่างๆ เผื่อให้ออกมา "ว้าว" และเป็นที่สนใจ
ส่วนในเรื่องของขบวนล้อการเมืองนั้น ปกติฝั่งธรรมศาสตร์จะล้อการเมืองของเขาเป็นปกติอยู่แล้วอย่างที่เราทราบกัน แต่ปีนี้จุฬาฯ ก็ล้อการเมืองด้วยเหมือนกัน คือปกติจุฬาฯ จะไม่เล่นอะไรแบบนี้ และทุกคนจะไม่จับจ้องจุฬาฯ แต่ไปจับจ้องธรรมศาสตร์ซะมากกว่า ทำให้ปีนี้จุฬาฯ เลยจัดเต็มเล่นเต็มที่เหมือนกัน ทุกคนเลยมองว่าปีนี้เราสามารถออกมานอกกรอบได้
มุมมองของการล้อการเมือง "บุ๋นคิดว่า มันคือสีสันนะ ไม่ได้มองว่าเป็นการทำร้ายใคร เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศก็รู้อยู่แล้วและมองภาพเดียวกัน เราแค่ทำมันออกมาเป็นรูปธรรม เอาคำพูดของทุกๆ คนมาแสดงออก ไม่ได้คิดเองเออเอง สะท้อนภาพของทุกคนออกมาให้เห็นแค่นั้นเอง ซึ่งก็ส่งผลต่อคนภายนอก เขาก็ได้เห็นความคิดของเยาวชน ซึ่งนิสิต นักศึกษา เป็นตัวแทนของเยาวชนรุ่นปัจจุบัน ที่เราไม่ได้เรียนเพียงอย่างเดียว แต่เรามองสังคม ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองเหมือนทุกคน ว่านี่คือสิ่งที่เราใส่ใจ และรู้ว่ามันคือปัญหาที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันแก้ เพราะบางคนมองว่า เยาวชนรุ่นหลังดูเฉยๆ กับเรื่องนี้เกินไปหรือเปล่า...ไม่ได้สนใจอะไรมาก เราเลยสะท้อนความคิดออกมาให้คนได้เห็นกัน และเยาวชนอย่างพวกเราก็รับทราบดีว่าบ้านเมืองตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง มันเป็นความคิดที่เราสะท้อนออกมาเป็นตัวแทนความคิดของคนปัจจุบัน
อุปสรรคที่ได้รับจากการทำงาน ทำหน้าที่ตรงนี้ คงต้องเป็น "เรื่องเวลา" ซึ่ง บุ๋นบุ๋น มีระยะเวลาไม่มากนัก ประมาณ 4 เดือนเพียงเท่านั้น เดิมแต่ก่อนทางเราจะคัดประธานเชียร์ช่วง สิงหาคม - กันยายน แต่ก็มีการเลื่อนออกมาและได้รับตำแหน่งนี้ตอนเดือนพฤศจิกายน ทำให้มีระยะเวลาที่น้อยต่อการเตรียมตัว ทำให้ทุกอย่างมันถาโถมเข้ามาหมด เรื่องเรียนและกิจกรรมจึงผสมปนกันทำให้ บางทีต้องสละการเรียนเพื่อมาทำกิจกรรมให้มันสมบูรณ์และต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ออกมาดีที่สุด
ความรู้สึกต่อบรรยากาศงานฟุตบอลประเพณีที่ผ่านมา คือ ต้องบอกก่อนเลยว่าทุกอย่างเป็นใจให้และดีมากๆ โดยปกติแล้วจะไม่ได้อยู่บนสแตนด์ทั้งวัน แบบวันจริง พอวันจริงที่ได้มาสัมผัสบรรยากาศของงานทำให้เราได้รับรู้ แล้วเข้าถึงเสน่ห์ของงานบอลว่า มันมีความขลัง ความสนุก และสีสัน ทั้งพาเหรดและการตอบโต้การแปรอักษร โดยทั่วไปปกติการแปรอักษรตามงานกีฬา เข้าใจมาตลอดว่า คนในสแตนด์อาจจะนั่งเบื่อ นั่งเซ็ง ไม่มีส่วนร่วม แต่พอทุกอย่างเป็นใจบรรยากาศที่ไม่ร้อนมาก เด็กบนสแตนด์มีส่วนร่วมอย่างมาก พอฝั่งธรรมศาสตร์ตอบโต้ หรือส่งคำอะไรมา พวกเราก็จะนั่งลุ้นกันว่าจะตอบโต้ยังไง ทุกคนมีความสนุกไปกับมันมีส่วนร่วมไปกับมัน ซึ่งเป็นได้ยากและคิดว่านี่แหละก็คือสีสันของงานฟุตบอลที่ใครๆ ก็อยากจะมาร่วมสนุกสนานกัน รวมไปถึงเสน่ห์ของฟุตบอล ที่เข้ามาและทางฝั่งจุฬาฯ เรากำลังตามตีเสมอและเสมอได้ คนในสแตนด์ลุกกระโดด และให้ความสำคัญ มันจึงเป็นความรู้สึกที่ดีมากเลยทีเดียว
ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ที่นำเหล่านิสิต ไปประชาสัมพันธ์ตาม สยาม, เอ็มควอเทียร์, เอ็มบีเค, เทอร์มินอล21 นั้น มีความคิดมาจากตอนแรกที่คิดว่า การประชาสัมพันธ์ของเราทางฝั่งจุฬาจะเงียบไปไหม จึงคิดว่าเราน่าจะมีอีเวนต์ที่จะไปบุกกรุงเทพฯ ในวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา เหมือนเป็นการเรียกกระแสเพื่อให้คนได้รู้ว่า "กำลังจะมีงานฟุตบอลแล้วนะ" ไปปลุกกระแส ไปสร้างกระแสให้มันตื่นตัวมากขึ้น เพราะคนจะทราบว่ามีงานบอล แต่ไม่รู้ว่าจะมีในวันที่เท่าไหร่ เลยเอาการประชาสัมพันธ์ตรงนี้มาปลุกกระแส และให้คนได้รับทราบกัน ให้ได้อารมณ์แบบว่า "กำลังจะมีงานฟุตบอลแล้วนะ ให้ทุกคนตื่นกันได้แล้ว" อารมณ์ประมาณนี้
ส่วนในเรื่องก่อนวันงานที่มีการประชาสัมพันธ์การแจก iPhone X แจกมือถือต่างๆ ที่คนต่างพากันตกใจว่า ต้องใช้งบขนาดนั้นเลยหรือเปล่า มีจุดประสงค์อย่างไร จริงๆ แล้วมันเป็นเหมือนการ นำจุดตรงนี้มาให้ทุกคน "ว้าว" มากกว่า เพราะว่า ในเรื่องของการแจกของมันมีแบบนี้ทุกปีแต่แค่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์มันออกมาให้ทุกคนทราบ ซึ่งในปีนี้ก็เป็นเหมือนการที่เราตอบโต้ธรรมศาสตร์ ในอารมณ์ที่ว่า "คุณมี BNK48 ฉันก็มี iPhone X อารมณ์ประมาณนี้มากกว่า ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษเพราะมีสปอนเซอร์ทุกปีอยู่แล้วก็มีแจกทุกปี แต่เป็นการตอบโต้ธรรมศาสตร์ให้มันดูมีสีสัน เรียกกระแสซะมากกว่า จิกกัดกันเล่นๆ แต่ธรรมศาสตร์ก็มีแจก iPhone X เหมือนกันนะ..." ส่วนเรื่องที่บอกว่า เอามาแจกเพราะกลัวจำนวนคนในสแตนด์ไม่เต็มอันนี้ไม่กังวลเลยเพราะ โดยสถิติคนในสแตนด์จะเต็มทุกปี แต่ก็ต้องมาลุ้นกันว่า เต็มก่อนหรือหลังธรรมศาสตร์แค่นั้นเอง ในส่วนที่กังวลและแอบคิดอยู่ก็คือปีนี้สแตนด์ฝั่งจุฬาฯ เรามันเป็นฝั่งร้อนและพี่ๆ ศิษย์เก่าก็บอกว่าคนจะเต็มช้ากว่าฝั่งร่ม แต่ปีนี้มันพลิกไปหมดและปีนี้ก็ "เต็มก่อนธรรมศาสตร์ด้วยนะ"
คิดว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ บุ๋นบุ๋น เป็นประธานเชียร์ "จริงๆ มันคือการก้าวข้ามทุกขีดจำกัด" ซึ่งเชื่อเลยว่าไม่ใช่แค่ตัวบุ๋นบุ๋นเอง แต่เชื่อว่าทุกคนได้ก้าวข้ามมาพร้อมกับบุ๋นหมดเลย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของโชว์ที่พวกเราซ้อมดึกทุกวันและตื่นตี 4 เพื่อมาเรียน คือเป็นช่วงเวลาที่มันสุดจริงๆ ได้ความรู้สึกการทำงานแบบเต็มพิกัดมากๆ แล้วก็เรื่องของการออกรายการ ก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ คือมันจะมีกล้อง เวลาพูด เวลาตอบคำถาม คือจะชอบมองคนถามมากกว่า แต่นี่คือเป็นการพูดกับกล้อง มันเลยต้องอาศัยความแปลกใหม่ และปรับตัวนิดหน่อย ก็เลยได้ประสบการณ์การตอบคำถามกับกล้องมาด้วย อันนี้ก็เป็นประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ
ผลตอบรับของงานคิดว่าปีนี้อย่างที่บอกไปเรามีความแปลกใหม่ มีการล้อการเมืองเช่นกันกับธรรมศาสตร์ สลัดความนุ่มนวลที่มีและตอบโต้กับธรรมศาสตร์ได้ดีมาก ผลบอลก็เสมออีก เป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ
นางสาว กุลณัฐา อินทสร (ลูกหยี) คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ประธานชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานฟุตบอลประเพณี 72
การได้มาเป็นประธานเชียร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาจากระบบการคัดเลือกประธานเชียร์ ของชุมนุมเชียร์เป็นการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทั้งในด้านแนวคิด ทัศนคติ บุคลิกภาพ อาจพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คือการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติของการเป็นนักบริหารเลยก็ว่าได้ การที่จะขึ้นมาเป็นประธานได้ จะต้องมีวิสัยทัศน์และมีการวางแผนอย่างมีลำดับขั้นและครบวงจร ดังนั้นหน้าที่ของประธานคือการมองที่ภาพรวมเพื่อให้เกิดงานฟุตบอลประเพณีขึ้น
ในด้านของอุปสรรคที่ได้เจอนั้น ต้องกล่าวเลยว่าอุปสรรคในแต่ละปีมีความแตกต่างกันไป ซึ่งในปีนี้เราก็เผชิญปัญหาในหลายๆ ด้าน "ถ้ามองในภาพกว้าง เราก็จะเจอทั้งสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งระยะเวลาในการจัดงาน แต่ถ้ามองในมุมภายใน เราต้องเจอปัญหาในการเลือกคนที่มาทำงาน เพราะปีก่อนหน้านี้เราไม่ได้จัดงาน เราจึงต้องพยายามทำให้คนที่ทำงานเข้าใจ สร้างภาพเพื่อที่จะให้ทีมทำงานทุกคนได้เห็นภาพงานบอลในแบบเดียวกัน ซึ่งความยากอยู่ตรงที่ว่าน้องๆ ที่มาทำกันยังไม่เคยสัมผัสงานบอลมาก่อน มันจึงกลายเป็นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น"
ถ้าให้พูดถึงบรรยากาศในวันงานบอลประเพณีที่ผ่านมา แล้วก็รู้สึกปลื้มปริ่มอยู่ในใจ มันดีใจแล้วก็ตื้นตันใจมากๆ ที่ได้เห็นสแตนด์แปรอักษรฝั่งธรรมศาสตร์เต็มเร็วในรอบสิบปี ไม่คิดว่าพลังความเป็นธรรมศาสตร์จะมากมายมหาศาลขนาดนี้ ถือว่ากระแสตอบรับดีมากๆ นี่ขนาดเปิดสแตนด์ทีหลังจุฬาฯยังเต็มพร้อมๆ กันเลยนะเนี่ย (หัวเราะ) ถ้าบอลชนะด้วยจะดีมากๆ เลยค่ะ
ส่วนในเรื่องของขบวนล้อการเมือง และแปรอักษร ที่เรียกว่าเป็นไฮไลต์ ต้องบอกเลยว่าได้เห็นขบวนล้อการเมืองในสนามครั้งแรกพร้อมกับทุกคนเหมือนกัน อย่างที่ทราบกันดีว่าโดนห้ามล้อในประเด็นต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคง ก็คาดหวังพอสมควรว่าปีนี้ขบวนจะออกมาในรูปแบบไหน พอได้เห็นแล้วก็รู้สึกทึ่งมากกับความคิดสร้างสรรค์ของขบวนล้อการเมืองที่นำเอาประเด็นการเมืองมาผูกกับวรรณคดี หนัง แล้วนำเสนอ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ทั้งของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อสะท้อนภาพสังคมให้ทุกคนได้เห็น
ในส่วนการแปรอักษรที่ชุมนุมเชียร์รับผิดชอบโดยตรงก็เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ โดยเฉพาะในส่วนของโค้ดการเมือง ทีมทำงานของเราได้รวบรวมประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่น่าสนใจมาตลอดทั้งปี และเลือกเอาเฉพาะคำที่เด็ด ที่โดนจริงๆ มานำเสนอออกสู่สายตาประชาชน เพื่อตั้งคำถามถึงสิ่งที่เป็นอยู่ ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จในเนื้อหาที่นำเสนอ
ซึ่งสิ่งที่ปรากฏออกสู่สังคมผ่านงานฟุตบอลประเพณีในปีนี้ ถือเป็นพลังของนิสิตนักศึกษาที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมตามคอนเซ็ปต์ “Our rise ปลุกสปิริตให้กับสังคม” พวกเราทุกคนทั้งสองสถาบันเลือกคอนเซ็ปต์นี้ขึ้นมา เพราะอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่มีการรับฟังและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี แต่ทั้งนี้จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย สิ่งที่พวกเราทั้งสองสถาบันนำเสนอเป็นแค่เพียงการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้สังคมได้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้น พวกเราเข้าใจถึงบริบททางการเมืองปัจจุบันดีว่าเป็นอย่างไร เพียงแต่พวกเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางความคิดที่ไม่ถูกจมปลักอยู่กับแนวคิดแบบเดิมๆ ของคนกลุ่มเดิมๆ ถึงแม้ว่าพลังของนิสิตนักศึกษาในตอนนี้อาจจะไม่ได้มีมากเท่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แต่พวกเราก็อยากสะท้อนภาพสังคมเสรีประชาธิปไตยที่เคยมี โดยไม่ควรถูกจำกัดจากกลุ่มอำนาจใด
ในส่วนบทเรียนที่ได้จากงานฟุตบอลประเพณีนี้มันมองได้หลายมุม ถ้ามองในมุมของประธาน มันคือทักษะของความเป็นผู้นำและทักษะการประสานงาน การวางแผน และการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานข้างหน้าได้
แต่ถ้ามองในมุมคนทำงานคนหนึ่ง รวมถึงทุกคนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม สิ่งที่ได้เจอในการทำงานมันคือความหนัก ความเหนื่อย และสิ่งที่อยากจะพูดออกมาจากใจเลยคือ “การได้มาทำงานตรงนี้ สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความคุ้มค่า ความภาคภูมิใจ ความรักที่ทุกคนมีให้กัน มิตรภาพ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และหยาดน้ำตา มันเป็นความรู้สึกที่หาไม่ได้จากที่ไหนอีกแล้ว และก็อยากจะขอบคุณที่ทุกคนอยู่ทำงานร่วมกันจนจบงานบอล มันเป็นบทเรียนหน้าหนึ่งของชีวิตที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนอีกแล้ว”
เรียกได้ว่ากว่าจะมาเป็นงานฟุตบอลประเพณีที่ทุกคนจับจ้อง จับตากันนั้น ต้องผ่านทั้งอุปสรรคมากมาย รวมทั้งเสียงเล็กๆ ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงออกทางความคิด และมีความสร้างสรรค์ในการทำผลงานที่เรียกได้ว่าจะติดเป็นผลงานประจำตัวไปทั้งชีวิต เป็นอีกหนึ่งงานดีๆ สำหรับเยาวชน นิสิต นักศึกษา ที่มีทั้งคุณภาพ แง่คิด และความสามัคคีของเด็กไทยยุคใหม่ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง