รู้หรือไม่ “คิวปิด” กามเทพสื่อรัก ยังเคยตกหลุมรักเพราะศรของตัวเองมาแล้ว
ถ้าพูดถึงช่วงเวลาแห่งความรัก สัญลักษณ์ที่เรามักจะเห็นและใช้แทนเกี่ยวกับความรัก ก็คงไม่พ้น “Cupid” คิวปิด กามเทพสื่อรัก ที่คอยยิงศรทำให้คนรักกันนั่นแหละ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า กามเทพที่แผลงศรให้คนรักกัน ก็เคยพลาดท่าเสียทีให้ตัวเอง จนตกหลุมรักสาวมาแล้ว!
ถ้าจะให้เท้าความไปถึงครอบครัว ก็คงต้องร่ายยาวมาทั้งตระกูลเทพ แต่ที่จริงแล้วไม่มีอะไรซับซ้อน คิวปิดนั้นเป็นลูกของ Venus (วีนัส) เทพแห่งความรัก ความงาม เพศ ความเจริญรุ่งเรืองต่างๆ กับ Mars (มาร์ส) เทพแห่งสงคราม ที่จะเรียกว่าคิวปิดเป็นลูกชู้ก็ไม่ผิด เพราะที่จริง วีนัส มีสามีอย่างถูกต้องอยู่แล้วนั่นคือ Vulcan (วูลีแคน ในการอ่านแบบโรมัน หรือบางคนอาจเรียกว่าวัลแคน) เทพแห่งไฟ เทพแห่งการตีเหล็ก การทำอาวุธต่างๆ ซึ่งเป็นพี่ชายของมาร์สนั่นเอง
Venus and Cupid (1700) โดย Sebastiano Ricci
ลองสังเกตจากภาพ เราจะเห็นนกเขาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวีนัส (และมีดอกกุหลาบอีกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์) ส่วนคิวปิดนั้นขึ้นอยู่กับศิลปินว่าจะวาดให้เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ (แต่ที่คนทั่วไปจะนึกออกก็คือคิวปิดนั้นเป็นเด็ก) มีสัญลักษณ์เป็นธนู และจะมีปีก
วีนัสขึ้นชื่อว่าเป็นเทพแห่งความรักก็จริง แต่เรื่องราวค่อนข้างดาร์คเลยล่ะ เพราะมีเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องชู้สาวชู้ชายเต็มไปหมด(ฮา) แต่เอาล่ะ มาเข้าเรื่องคิวปิดกันต่อ
วีนัสแม่ของคิวปิดนั้นขึ้นชื่อเรื่องความงาม แถมยังเป็นเทพ ไม่มีใครสู้เรื่องนี้ได้เลย แต่อยู่ดีๆ ก็มีหญิงสาวลูกกษัตริย์คนธรรมดาคนนึงชื่อว่า “Psyche” (ไซคี) ที่เลื่องชื่อว่าสวยมากๆ สวยจนเทพีแห่งความงามอย่างวีนัสยังพ่ายแพ้ ทำให้นางรู้สึกอิจฉาขึ้นมาซะอย่างงั้น จึงสั่งให้คิวปิดลูกชายตัวเองไปทำให้ไซคีตกหลุมรักใครก็ได้ที่อัปลักษณ์และไม่คู่ควรมากที่สุด
Cupid and Psyche (1610) โดย Orazio Gentileschi
แต่สุดท้ายแล้วคิวปิดเนี่ยแหละที่ทำพลาด เผลอเอาศรไปจิ้มทั้งตัวเองและไซคี จนตกหลุมรักกันและกันเข้าซะเอง!
เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้น คิวปิดที่ถูกแม่ใช้งานมาก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะดันไปตกหลุมรักหญิงสาวที่แม่ของตัวเองเกลียดเข้าไส้ แต่ด้วยความรัก จึงแอบไปหาไซคีทุกคืนด้วยการไม่เปิดเผยตัวตน และขอไซคีไม่ให้พยายามมองว่าเขาเป็นใคร
แต่ด้วยความที่ไซคีก็อยากรู้ว่าคนที่ตัวเองรักเป็นใคร จึงแอบเอาตะเกียงส่องดูว่าใครที่มาหาทุกคืน คิวปิดเห็นแบบนั้นเลยโกรธและหนีไป
ไซคีเที่ยวตามหา ในที่สุดจึงไปตามหากับวีนัส ด้วยความที่วีนัสไม่ชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงได้หาทางแกล้งสารพัด ด้วยการให้แยกเมล็ดพืชบ้าง แต่ทุกอย่างที่โดนกลั่นแกล้งก็มีคิวปิดคอยช่วยอยู่ลับๆ และบททดสอบสุดท้ายนั่นก็คือ ให้นำผอบไปหา “พรอสเซอร์พินา” ภรรยาของ “พลูโต” เทพแห่งความตายที่ปกครองนรก และนำความสวยของพรอสเซอร์พินาเก็บกลับมาให้นาง แต่ระหว่างทางด้วยความอยากรู้ ไซคีจึงลองเปิดผอบออก ไอของนรกก็ออกมาด้วยทำให้นางสลบไปในที่สุด
Psyche Opening the Golden Box (1903) โดย John William Waterhouse
Cupid and Psyche (1639-40) โดย Anthony Van Dyck เป็นภาพที่คิวปิดมาเห็นว่าไซคีสลบไป จึงได้ช่วยให้ตื่นและสุดท้ายทั้งคู่ก็ได้รักกันอย่างที่ตั้งใจ
แต่ด้วยความที่ไซคีเป็นคนธรรมดาไม่ได้เป็นเทพแบบคนอื่นๆ คิวปิดจึงจัดพิธีแต่งงาน และทำให้ไซคีเป็นเทพเหมือนกันกับตัวเอง
The Council of Gods (1517-1518) โดย Raphael
ภาพนี้เป็นภาพที่คิวปิดพาไซคีขึ้นไปหาเหล่าทวยเทพทั้งหลายบนภูเขาโอลิมปัส เพื่อแต่งงานและเปลี่ยนไซคีให้เป็นเทพ จะเห็นว่าซ้ายสุดนั่นคือไซคีที่กำลังจะดื่มน้ำจากแก้ว เพื่อเปลี่ยนให้ตัวเองเป็นอมตะ และทั้งคู่ก็ได้ครองรักกันในที่สุด โดยมีเหล่าเทพเป็นพยาน
จากการหยิบยกเรื่องคิวปิด กามเทพสื่อรักที่ทุกคนรู้จักกันดีมาในอีกแง่มุมนึง ทำให้เห็นว่าความจริงแล้วเรื่องแบบนี้มันไม่เข้าใครออกใคร วีนัสที่ว่าเป็นเทพแห่งความรัก ความงามต่างๆ ยังมีเรื่องฉาวๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เหล่าทวยเทพเกิดเรื่องราววุ่นวายขึ้นมาได้
เกร็ดความรู้เล็กๆ ที่อาจจะรู้กันอยู่แล้ว แต่เราอยากบอก
ในบรรดาตำนานเทพต่างๆ หลายคนอาจจะงงว่า เอ๊ะ ชื่อนี้เคยเห็น แต่บางชื่อไม่เคยได้ยินเลย ในพื้นตำนานเดียวกันนี้แบ่งเป็นสองฉบับ นั่นคือการเรียกแบบ “กรีก” และ “โรมัน” ซึ่งเนื้อเรื่องจะคล้ายๆ กัน แต่แค่มีชื่อเรียกเทพแต่ละคนไม่เหมือนกัน
อย่าง “คิวปิด ไซคี วีนัส มาร์ส วูลีแคน พลูโต ฯลฯ” ชื่อเทพที่เรียกทั้งหมดในนี้เป็นการเรียกแบบ “โรมัน” ทั้งหมด
แล้วการเรียกชื่อแบบกรีกล่ะ
Cupid (คิวปิด) = Eros (อีรอส)
Psyche (ไซคี) = Psyche (ไซคี)
Venus (วีนัส) = Aphrodite (อะโฟรไดท์)
Mars (มาร์ส) = Ares (เอรีส)
Vulcan (วูลีแคน หรือ วัลแคน) = Hephaestus (ฮิฟีสตัส)
Pluto (พลูโต) = Hades (ฮาเดส)
และยังมีชื่อเทพอีกมากในตำนานที่ทุกคนก็มีชื่อและการเรียกสองแบบ อาจจะงงๆ หน่อยหรือบางคนก็เรียกผสมกันไปเลยระหว่างกรีกกับโรมัน